ปปช.วางยุทธศาสตร์ทำงาน5ปีขจัดทุจริต
ปปช.จัดสัมนาวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีกำจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ด้าน “ภักดี” แนะกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมดึงศาสนาเข้ามาเป็นตัวช่วยเสริม
ปปช.จัดสัมนาวางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีกำจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ด้าน “ภักดี” แนะกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมดึงศาสนาเข้ามาเป็นตัวช่วยเสริม
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำนักงานป.ป.ช. 5 ปี (พ.ศ.2556-2560) ณ ห้องเมจิก 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถ.วิภาวดี-รังสิต ที่มี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป.ป.ช. เป็นประธานการประชุม
นายปานเทพ กล่าวเปิดว่า ป.ป.ช.ได้ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติสำนักงานป.ป.ช. ฉบับที่ 1 ตั้งแต่ปี 2551-2555 เพื่อเป็นแผนแม่บทชี้นำการดำเนินงานของป.ป.ช. ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ ซึ่งร่วมกับเครือข่ายพัมนธมิตรทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำนักงานป.ป.ช. 5 ปี ฉบับที่ 1 พบว่าเกิดปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อน เช่น ความจริงใจจากฝ่ายการเมืองในการสนับสนุนงบประมาณ และการนำมาตรการต่างๆที่ป.ป.ช.เสนอไปสู่การปฏิบัติยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร ปัญหาเรื่องบุคลากรไม่เพียงพอสอดรับกับภารกิจเพิ่มมากขึ้น และขาดการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. กล่าวบรรยายโดยมีใจความสรุปว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะต้องเน้นการบริหารและการประสานงานทั้งภายในและภายนอกเพื่อป้องกันปัญหา และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้ง ต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น เด็ก เยาวชน นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และใช้กลไกทางศาสนา เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี
อย่างไรก็ดี ต้องเน้นการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และป.ป.ช.ในฐานะเป็นองค์กรหลักจะต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้ การบริหารจัดการคดีต้องทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น ไม่ให้มีเรื่องค้างคา และที่สำคัญต้องมีการประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เพื่อแบ่งงานให้หน่วยงานอื่นๆร่วมผิดชอบ เพราะป.ป.ช.ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการกลั่นกรองคดีความ
นอกจากนี้ สิ่งที่ป.ป.ช. จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ คือ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปรับปรุงจุดอ่อนให้ดีขึ้นและให้งานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังใช้เป็นการประะเมินผลการดำเนินงานตามแผนว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน