บวชพระ
ในปี พ.ศ. 2530 ผมมีอายุ 48 ปี ได้ตัดสินใจบวชพระให้เป็นกุศลแก่เตี่ยและแม่ ในขณะที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิต
ในปี พ.ศ. 2530 ผมมีอายุ 48 ปี ได้ตัดสินใจบวชพระให้เป็นกุศลแก่เตี่ยและแม่ ในขณะที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิต
ผมมีพี่น้องผู้ชายเพียงสองคน น้องชายก็ยังไม่เคยบวชมาก่อนเหมือนกัน สำหรับผมนั้นด้วยเหตุที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศ และเมื่อกลับมาแล้วก็ทำงานทันที ไม่มีเวลาบวชเรียนเมื่อตอนอายุยังน้อย ผมคิดว่าเตี่ยและแม่คงดีใจไม่น้อยที่มีลูกชายบวชให้ ถึงแม้ท่านทั้งสองจะไม่ใช่คนธรรมะ ธัมโม ขนาดไปวัดเป็นประจำ แต่ท่านก็ประพฤติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีงามมาตลอด
มีเรื่องชวนให้ขำขันคือว่า เมื่อบวชเรียบร้อยแล้ว มีข่าวกรองจากพรรคพวกที่บริษัทมาถึงว่า พนักงานที่บริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทยคิดว่าผมบวชแก้บน เพราะเผอิญเป็นปีแรกที่บริษัทมีกำไร หลังจากขาดทุนล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี
โถ...ลูกน้องเหลือขอพวกนี้ไม่ให้เครดิตฝีมือเราบ้างเลย ผมบวชที่วัดเขาบางทราย จ.ชลบุรี เป็นวัดธรรมยุตและเป็นอารามหลวง ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ (สมณศักดิ์ขณะนั้น) เจ้าอาวาสเป็นผู้จัดการอุปสมบทให้
ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์เป็นพี่ชายคุณสมิต หรรษา เพื่อนรุ่นน้องที่เคยทำงานที่เอสโซ่ด้วยกัน ทราบว่าประวัติท่านก่อนบวชไม่สึกนั้นเป็นนักเลงการพนันไม่เบา เมื่อกลับตัวจึงได้ตัดสินใจเอาดีทางธรรมะและบวชเรียนจนได้เป็นพระผู้ใหญ่ ท่านต้องเป็นคนหัวดีและความจำดีเพราะสามารถสวดปาฏิโมกข์ได้อย่างแม่นยำ มีพระน้อยองค์ที่จะสามารถสวดปาฏิโมกข์ได้จบ
เพราะหน้าที่การงานบังคับจึงบวชได้เพียงเดือนเดียว ไม่สามารถบวชได้ทั้งพรรษา ผมคิดว่า บวชเรียนนานเท่าไรไม่สำคัญ ถ้าเราต้องการศึกษาธรรมะอย่างจริงจังถึงไม่บวชก็เรียนรู้ได้ การบวชเป็นเพียงการแสดงออกทางกายว่าเราตั้งใจจะศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการปฏิบัติพร้อมๆ กับภาคทฤษฎี
เมื่อบวชแล้วและปฏิบัติภารกิจของสงฆ์อยู่ที่วัดได้ระยะหนึ่ง พอครองจีวรได้รัดกุม ก็ขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสไปเยี่ยมคารวะพระอาจารย์พระป่าวิปัสสนาสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทางภาคอีสาน
ผมโชคดีที่มีกัลยาณมิตร คือ ม.ร.ว.ทองศิริ ทองแถม ลูกศิษย์ท่านหลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาดเป็นผู้นำทาง
ได้เข้ากราบคารวะท่านหลวงตามหาบัวด้วยตนเองที่วัดของท่าน ได้ฟังธรรมเทศนาจากท่านพร้อมๆ กับญาติมิตรที่ไปร่วมทำบุญในวันนั้น ต่อจากนั้นได้ไปกราบอัฐิของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ไปนอนค้างที่วัดหินหมากเป้งของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เยี่ยมชมวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) ของอาจารย์จวน กุลโชฏโฐ ที่มรณภาพเพราะเครื่องบินตกขณะเดินทางมากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2523 ได้พักชมหน้าผาที่ท่านพระอาจารย์จวนชอบนั่งสมาธิ เป็นบริเวณที่อยู่ริมผา ถ้านั่งหลับก็มีสิทธิตกจากหน้าผาได้ แวะเยี่ยมวัดอื่นๆ อีกหลายวัดที่จำได้ไม่หมด มีอาจารย์ดังๆ หลายท่านที่ระยะนั้นเพิ่งเริ่มมีชื่อเสียง
วัดป่าสมัยนั้นหลายแห่งยังเป็นป่าจริงๆ อยู่ไกลจากตัวเมือง ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เวลากลางคืนไม่มีทีวีหรือสิ่งยั่วยวนจิตใจให้ฟุ้งซ่านมารบกวน การปฏิบัติธรรมและทำสมาธิก็ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย
คืนหนึ่งที่พวกเรานั่งรถโดยตั้งใจจะไปค้างแรมที่วัดแห่งหนึ่งนอกเมือง แต่คืนนั้นฝนตกหนักรถติดหล่มไปต่อไม่ได้และมืดค่ำแล้ว ไม่มีใครผ่านไปมาต้องรอจนรุ่งเช้าจึงมีคนมาช่วย แต่ความที่เป็นพระห่มผ้าเหลืองนอนค้างกลางป่าก็ไม่น่ากลัวอะไรเพราะไม่มีสมบัติอะไรที่ใครอยากได้ นอนฟังเสียงกบเขียดขานรับสลับกับเสียงตุ๊กแกตามต้นไม้เป็นธรรมชาติดี
หนึ่งเดือนของการบวชเรียนและการมีโอกาสได้ไปฟังธรรมะและสนทนาธรรมกับท่านเกจิอาจารย์ต่างๆ ทำให้ผมสนใจแก่นและสาระของพุทธศาสนามากขึ้น ถึงขณะนี้หนังสือธรรมะที่สะสมไว้ในช่วงนั้นยังอยู่ครบถ้วน
จากการอ่านประวัติและกิจวัตรของพระป่าวิปัสสนาหลายท่าน ทำให้ผมเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะท่านเหล่านี้มิใช่ปฏิบัติเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากโลกนี้เท่านั้น แต่ยังได้เทศนาสั่งสอนธรรมะให้แก่ลูกศิษย์และชาวบ้านให้ได้รับอานิสงส์และผลบุญด้วย
โดยเฉพาะประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่บวชเรียนอยู่กว่า 50 ปี บำเพ็ญกุศลโดยธุดงค์ไปทั่วสารทิศ จนบรรลุเป็นอรหันต์กลับมาบ้านเกิดที่ภาคอีสาน เทศนาสั่งสอนธรรมะให้ลูกศิษย์ลูกหามากมาย จนประเทศไทยมีพระอาจารย์ภาคปฏิบัติให้เป็นที่พึ่งของประชาชนไปหลายองค์ ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ของพระป่าวิปัสสนาสายอีสานยุคปัจจุบัน
อ่านต่อฉบับหน้า