posttoday

ดาวบริวารของดาวเนปจูน

21 กรกฎาคม 2556

นักดาราศาสตร์ประกาศการค้นพบดวงจันทร์บริวารดวงใหม่ของดาวเนปจูน ซึ่งนับเป็นดาวบริวารดวงที่ 14 ของดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดดวงนี้

นักดาราศาสตร์ประกาศการค้นพบดวงจันทร์บริวารดวงใหม่ของดาวเนปจูน ซึ่งนับเป็นดาวบริวารดวงที่ 14 ของดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดดวงนี้

หลังจากดาวพลูโตเปลี่ยนสถานภาพเป็นดาวเคราะห์แคระไปตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันเหลือดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอยู่ 8 ดวง และดาวเนปจูนก็กลายเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด ดาวเนปจูนมีความสว่างน้อย ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สังเกตได้ด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ เมื่อทราบตำแหน่งที่แน่นอนและสังเกตจากสถานที่ที่ท้องฟ้ามืดสนิท

การค้นพบดาวเนปจูนมีขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 1846 (พ.ศ. 2389) โดย โยฮันน์ กัลเลอ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่หอดูดาวเบอร์ลิน โดยเริ่มต้นจากผลการสังเกตการเคลื่อนที่ของดาวยูเรนัสซึ่งผิดไปจากที่ควรจะเป็นเล็กน้อย ทำให้คาดว่าต้องมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งส่งแรงโน้มถ่วงรบกวนมาถึง นักดาราศาสตร์หลายคนจึงพยายามวิเคราะห์และพยากรณ์ตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงนี้

อูแบง เลอเวรีเย ชาวฝรั่งเศส และ จอห์น เคาช์ แอดัมส์ ชาวอังกฤษ เป็นนักดาราศาสตร์สองคน ที่เผยแพร่ผลการคำนวณเพื่อพยากรณ์ตำแหน่งของดาวเคราะห์ดวงที่ 8 อันนำไปสู่การค้นหาบนท้องฟ้าในบริเวณที่คาดหมายและนำไปสู่การค้นพบในที่สุด ทั้งกัลเลอ เลอเวรีเย และแอดัมส์ จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการค้นพบดาวเนปจูน

หลังการค้นพบดาวเนปจูนเพียง 17 วัน วิลเลียม แลสเซลล์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ก็ค้นพบไทรทัน (Triton) ดาวบริวารดวงใหญ่ที่สุดของดาวเนปจูน มีขนาด 2,706 กิโลเมตร ไทรทันโคจรรอบดาวเนปจูนด้วยคาบ 5.9 วัน โดยมีทิศสวนทางกับการหมุนรอบตัวเองของดาวเนปจูน จึงเชื่อว่าไม่ได้กำเนิดมาพร้อมกับดาวเนปจูน แต่เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนเข้าใกล้ดาวเนปจูน แล้วถูกแรงโน้มถ่วงของดาวเนปจูนจับไว้เป็นดาวบริวาร

นีรีด (Nereid) เป็นดาวบริวารที่ค้นพบเป็นดวงที่ 2 ค้นพบโดย เจอราร์ด ไคเปอร์ เมื่อ ปี 1949 มีขนาด 340 กิโลเมตร วงโคจรของเนรีดมีความรีสูง คาดว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกจับไว้เช่นเดียวกับไทรทัน ใช้เวลาถึง 360 วัน จึงโคจรรอบดาวเนปจูนครบหนึ่งรอบ

ยานวอยเอเจอร์ 2 เป็นยานอวกาศเพียงลำเดียวที่เคยเฉียดใกล้ดาวเนปจูน โดยออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2520 ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในเดือน ก.ค. 2522 ดาวเสาร์ในเดือน ส.ค. 2524 ดาวยูเรนัสในเดือน ม.ค. 2529 และดาวเนปจูนในปลายเดือน ส.ค. 2532

การผ่านใกล้ดาวเนปจูนเมื่อ 24 ปีที่แล้ว สามารถถ่ายภาพวงแหวนบางๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยมีผลการสังเกตจากพื้นโลก แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นวงแหวน และนำไปสู่การค้นพบดาวบริวารอีก 6 ดวง ได้แก่ ไนแอด (Naiad) ทาลัสซา (Thalassa) เดสพินา (Despina) กาละเทีย (Galatea) ลาริสซา (Larissa) และโพรเทียส (Proteus)

ปี 2545-2546 นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกค้นพบดาวบริวารขนาดเล็กอีก 5 ดวง อยู่ไกลนอกวงโคจรของนีรีดออกมาอีก โดยมีคาบการโคจรระหว่าง 1,879–9,471 วัน

ล่าสุด นักดาราศาสตร์ได้ประกาศการค้นพบดาวบริวารของดาวเนปจูนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวง โดยเป็นการสังเกตพบในภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่มีใครสังเกตเห็นมาก่อน จนกระทั่ง มาร์ก โชวัลเตอร์ นักดารา ศาสตร์ที่สถาบันเซติ ค้นพบขณะศึกษาวงแหวนของดาวเนปจูน

ดาวบริวารดวงที่ 14 ปรากฏในภาพที่ถ่ายไว้ในช่วงปี 2547-2552 ได้ชื่อชั่วคราวว่า เอส/2004 เอ็น 1 (S/2004 N 1) ซึ่งหมายถึงดาวบริวาร (S = satellite) ของดาวเนปจูน (N = Neptune) ดวงที่ 1 ที่ค้นพบในภาพที่ถ่ายไว้อย่างเร็วที่สุดเมื่อปี 2004 ดาวบริวารดวงนี้มีขนาดไม่เกิน 18 กิโลเมตร ซึ่งเล็กที่สุดในบรรดาดาวบริวารของเนปจูนและมีคาบการโคจร 22 ชั่วโมง 28.1 นาที อยู่ระหว่างวงโคจรของลาริสซากับโพรเทียส

นอกจากการประกาศการค้นพบดาวบริวารดวงใหม่ของดาวเนปจูน ช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับการตั้งชื่อดาวบริวารดวงที่ 4 และ 5 ของดาวพลูโต ซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2554 และ 2555 ขณะนั้นได้ชื่อชั่วคราวว่า S/2011 (134340) 1 และ S/2012 (134340) 1 หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า P4 และ P5 (134340 คือหมายเลขของดาวพลูโตในบัญชีรายชื่อดาวเคราะห์น้อย)

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้แถลงถึงผลการพิจารณาตั้งชื่อดาวบริวารทั้งสอง โดยให้ชื่อว่า เคอร์เบอรอส (Kerberos) และสติกซ์ (Styx) ซึ่งเป็นชื่อของหมาสามหัวที่เฝ้าประตู และชื่อของแม่น้ำสายหนึ่งที่คั่นระหว่างโลกมนุษย์กับยมโลก ตามลำดับ อีก 2 ปีข้างหน้า ในราวกลางเดือน ก.ค. 2558 ยานนิวเฮอไรซอนส์ (New Horizons) จะเฉียดใกล้ดาวพลูโต คาดว่าอาจมีการค้นพบดาวบริวารเพิ่มขึ้นอีก

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (21–28 ก.ค.)

เวลาหัวค่ำมีดาวศุกร์และดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์สว่างสองดวง ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวสิงโต หากท้องฟ้าเปิดจะเห็นอยู่ทางทิศตะวันตกสูงจากขอบฟ้าไม่มากนัก ค่ำวันที่ 22 ก.ค. ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนี้ ห่างกัน 1.1 องศา สังเกตดาวศุกร์ได้จนถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง หลังจากนั้นจะอยู่ต่ำจนสังเกตได้ยาก ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว ช่วงหัวค่ำจะอยู่สูงทางทิศใต้ ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ

เวลาเช้ามืดมีดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กันในกลุ่มดาวคนคู่ ขึ้นเหนือขอบฟ้าราวตี 4 ครึ่ง และอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนักในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง ดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 22 ก.ค. ห่างกัน 0.8 องศา หรือประมาณขนาดความกว้างของปลายนิ้วก้อยเมื่อเหยียดแขนของเราออกไปให้สุด หลังจากผ่านใกล้กัน ดาวพฤหัสบดีจะเริ่มอยู่สูงกว่าดาวอังคาร เนื่องจากมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าดาวอังคาร

ต้นสัปดาห์เป็นปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำ จันทร์เพ็ญในคืนวันที่ 22 ก.ค. โดยจะทำมุม 180 องศากับดวงอาทิตย์ ในเวลาราวตี 1 ของวันที่ 23 ก.ค. หลังจากนั้นเข้าสู่ข้างแรม ดวงจันทร์มีส่วนสว่างลดลงทุกวัน สว่างครึ่งดวงในต้นสัปดาห์ถัดไป