โพลไม่เชื่อPTTGCจะชดเชยน้ำมันรั่วทั้งหมด
นิด้าโพล สำรวจความเชื่อมั่นกรณีน้ำมันรั่วพบ ประชาชนไม่เชื่อ1สัปดาห์ขจัดคราบหมด แต่เพียงผู้บริหารขอโทษ ไม่ถึงกับต้องลาออก
นิด้าโพล สำรวจความเชื่อมั่นกรณีน้ำมันรั่วพบ ประชาชนไม่เชื่อ1สัปดาห์ขจัดคราบหมด แต่เพียงผู้บริหารขอโทษ ไม่ถึงกับต้องลาออก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,257 ตัวอย่าง เรื่อง "ความเชื่อมั่นต่อความรับผิดชอบของกลุ่มบริษัทน้ำมัน ปตท. กรณีท่อส่งน้ำมันรั่วในอ่าวไทย" พบว่า ส่วนใหญ่ 37.87% ไม่เชื่อว่า บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จะขจัดคราบน้ำมันได้หมดใน 1 สัปดาห์ และอีก 27.29% ไม่เชื่อมั่นเลย สะท้อนว่า ประชาชนมองว่าการขจัดคราบน้ำมันบริเวณเกาะเสม็ดนั้นจะยืดเยื้อยาวนานกว่า 1 สัปดาห์แน่นอน
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 39.94% ไม่เชื่อว่า PTTGC จะรับผิดชอบในเรื่องของการจ่ายค่าชดเชย ค่าปรับ รวมไปถึงการฟื้นฟูบริเวณชายฝั่ง แต่ผู้ตอบใกล้เคียงกัน 34.37% ค่อนข้างจะเชื่อมั่นว่า PTTGC น่าจะรับผิดชอบค่าชดเชยที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม ในแง่ความรับผิดชอบ ประชาชนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถาม 47.18% เห็นว่า เพียงแค่ PTTGC ออกมาขอโทษต่อสาธารณชน และชี้แจงเหตุการณ์ พร้อมกับรับผิดชอบทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ก็พอแล้ว ไม่ถึงกับต้องให้ผู้บริหารลาออก แต่ยังมีอีก 24.27% ที่เห็นว่า นอกจากจะขอโทษแล้วผู้บริหารควรจะรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือย้ายตำแหน่ง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นต่อการรับผิดชอบของบริษัทแม่ ปตท. ที่ประชาชนส่วนใหญ่ 59.27% อยากเห็นการขอโทษศและรับผิดชอบทุกอย่าง
สำหรับกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเลเป็นบทพิสูจน์ในเรื่องใดมากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 46.54% เห็นว่า เป็นการพิสูจน์ว่า การมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและการใส่ใจสิ่งแวดล้อมของ ปตท. เป็นจริงหรือไม่ ส่วนอีก 23.31% กำลังจับตาว่ารัฐบาลจะเอาผิด PTTGC หรือไม่ ส่วนที่เหลือเป็นมุมมองถึงท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมหรือผลประโยชน์ของชุมชนที่มีปัญหามากน้อยเพียงใด
ภัคพงศ์ พจนารถ อาจารณ์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายสำหรับบริษัทในภาคอุตสาหกรรม ควรมีการฝึกซ้อมแผนกู้ภัยเพื่อเตรียมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง คือ เมื่อเกิดขึ้นก็หาทางป้องกันแก้ไขเพียงชั่วคราว ไม่ต่อเนื่อง กลายเป็น "วัวหายล้อมคอก" และหากเป็นไปได้ควรมีศูนย์จัดการเหตุการณ์วิกฤต "Critical Center" ไว้คอยแจ้งข่าวสารและรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด