แพทย์ชี้ 'ทำเด็กหลอดแก้ว' ไม่ได้มีผลให้ 'เนื้องอก' โต
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ รพ.เมดพาร์คเผยมีเคสที่ป่วยเป็น 'เนื้องอก' มาทำ 'IVF' หรือเด็กหลอดแก้วอยู่เรื่อยๆ ชี้งานวิจัยส่วนใหญ่ไม่พบว่าก้อนเนื้องอกโตขึ้นหลังจากการกระตุ้นไข่ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
แพทย์หญิงพิมพกา ชวนะเวสน์ สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เมดพาร์ค ไอวีเอฟ (MedPark IVF) รพ.เมดพาร์ค ไขความกระจ่างกับ โพสต์ทูเดย์ กรณีการทำเด็กหลอดแก้ว ว่ามีผลต่อการเติบโตของ 'เนื้องอก' หรือไม่?
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า โดยทั่วไปผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไปเป็นเนื้องอกค่อนข้างมากราว 50% สำหรับสาเหตุของการเป็นเนื้องอกมดลูกนั้นยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน หากฮอร์โมนสูงอาจจะกระตุ้นในเรื่องของเนื้องอกมดลูกได้ แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่ชัดเจน
ในส่วนของการทำเด็กหลอดแก้ว ( IVF ) พบว่า ที่ผ่านมามีผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกมารับการกระตุ้นไข่อยู่เรื่อยๆ และมักจะพบว่าเนื้องอกไม่ได้โตขึ้นหลังจากที่เรากระตุ้นเท่าไหร่ นอกจากนี้งานวิจัยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พบว่าก้อนเนื้องอกจะมีการโตขึ้นหลังจากการกระตุ้นไข่ ( งานวิจัยอ้างอิง คลิก )
เนื้องอกมดลูกมีผลต่อการมีบุตรยาก?
ในประเด็นของเนื้องอกมดลูกกับการมีบุตรนั้น แพทย์จะมีความกังวลว่าเนื้องอกมดลูกจะมีผลต่อการมีบุตรหรือไม่มากกว่า หากพบว่ามีเนื้องอกมดลูกและอยากมีบุตร ก็จะต้องดูหลายปัจจัย เช่น ขนาดของก้อนและตำแหน่งของก้อนเนื้องอกเป็นหลัก
หากก้อนเนื้องอกไม่ได้เบียดเข้ามาในโพรงมดลูก และไม่ได้ใหญ่เกินกว่า 4 เซนติเมตร ก็ไม่ได้มีผลต่อการตั้งครรภ์ใดๆ
ต้องอัลตราซาวนด์ให้ละเอียด ดูขนาดและตำแหน่ง มีชนิดที่เบียดเข้ามาในโพรงมดลูก หรือเบียดออกนอกโพรงมดลูกซึ่งแบบนี้จะไม่มีผล หรือเบียดเข้ามาตรงกลางซึ่งจะตัดสินกันที่ขนาดของเนื้องอกอีกที และดูว่าเบียดเข้ามาในโพรงมดลูกมากน้อยแค่ไหน
สำหรับเคสที่มีเนื้องอกมดลูกและอาจจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ ก็จะเข้าสู่การรักษาผู้มีบุตรยาก อย่างบางเคสที่ต้องทำเด็กหลอดแก้วและมีเนื้องอกร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำให้มากระตุ้นไข่ก่อนเพื่อเก็บตัวอ่อนแช่แข็งเอาไว้ หลังจากนั้นจึงไปผ่าตัดเนื้องงอกมดลูกออก และต้องเว้นจากการมีบุตรราว 6-12 เดือน เพราะกลัวว่าแผลที่มดลูกจะขยายตัวจากการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุผู้หญิงก็มีผลต่อการตั้งครรภ์ บางครั้งการรอนานมากขึ้น อาจทำให้ไข่มีคุณภาพแย่ลงระหว่างนี้ได้ จึงแนะนำว่าควรกระตุ้นไข่ก่อน เก็บตัวอ่อนไว้ และค่อยไปผ่าตัด แล้วจึงมาวางแผนใส่ตัวอ่อนอีกที ซึ่งมีคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในเคสดังกล่าวนี้อยู่เรื่อยๆ ส่วนกรณีที่ไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ อาจไม่ต้องทำอะไรเลย คือปล่อยให้มีบุตรก่อน ถ้ามีบุตรยากก็ค่อยมาดูปัจจัยอื่น
เนื้องอกกลายเป็นมะเร็งร้าย ต้องทำอย่างไร?
แพทย์หญิงพิมพกา ชวนะเวสน์ ตอบในประเด็นนี้ว่า กรณีที่เนื้องอกกลายเป็นมะเร็งจะพบได้น้อยกว่า 1ใน 1,000 เรียกว่า มัยโอซาโครมา จะพบในผู้หญิง 40 ปีขึ้นไป และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้องผิดปกติ มีเลือดออก ซึ่งลุกลามค่อนข้างเร็ว กรณีนี้ ต้องปรึกษาแพทย์ด้านมะเร็งนรีเวช เป็นผู้รักษา โดยเท่าไปจะรักษาด้วยการผ่าตัดมดลูกก่อน อาจไม่ต้องตัดรังไข่ กรณีที่อยากมีบุตร แพทย์ด้านมะเร็ง ต้องคุยกับแพทย์ด้านมีบุตร เป็นกรณีๆ ไปส่วนอาการมะเร็งที่อาจต้องให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ส่งผลต่อรังไข่หยุดทำงาน และเข้าสู่วัยทองไวได้ แพทย์จะแนะนำให้กระตุ้นไข่และเก็บไข่ไว้ก่อน เมื่อรักษามะเร็งแล้วจะสามารถกลับมาใส่ตัวอ่อนและตั้งครรภ์ได้ ซึ่งความยากง่ายของการมีบุตรขึ้นอยู่กับโรคแต่ละชนิด แต่ก็จะมีโอกาสที่ผู้หญิงซึ่งรักษามะเร็งหายสามารถกลับมามีบุตรได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
" จริงๆ ไม่ว่าเราจะไปรักษาอะไร ทั้งเนื้องอกและมะเร็ง ควรบอกคุณหมอว่าเรามีแพลนที่จะมีบุตรในอนาคต คุณหมอจะได้พิจารณาว่าควรส่งไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรก่อน อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาโรคอีกที แต่โรคที่แน่นอนว่าต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรก่อนการรักษาเลยก็คือ โรคที่ต้องใช้ยาแรงๆ ซึ่งมีผลต่อไข่และสเปิร์มในฝั่งผู้ชายด้วย ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งที่ได้เคมีบำบัด การฉายแสง และโรคภูมิต้านทานบางชนิดที่ยามีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้ "
แพทย์หญิงพิมพกา แนะนำว่า การวางแผนก่อนเป็นสิ่งสำคัญ โดยอายุที่เหมาะสมต่อการเก็บไข่ไม่ควรเกิน 35 ปี เพราะอายุที่มีผลกับการมีลูกคือมีผลกับเรื่องคุณภาพไข่และปริมาณ แต่อายุไม่ค่อยมีผลในเรื่องของมดลูกมากเท่าไหร่นัก และควรเก็บอย่างน้อย 15-20 ใบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าในอนาคตจะมีบุตรได้ 1 คน ความสำเร็จจะอยู่ที่ 90% อย่างไรก็ตามตามงานวิจัยระบุว่าการเก็บไข่ใช้ในอนาคต ไม่ได้การันตีการตั้งครรภ์ เพราะยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยและคุณภาพไข่ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน.