posttoday

เค-วอเตอร์ลุยโครงการน้ำ ปัด 'ทักษิณ' เอื้อชนะประมูล

30 สิงหาคม 2556

บริษัท เควอเตอร์ ซึ่งชนะการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ได้นำคณะสื่อมวลชนไทยเข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่และดูผลงาน

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

บริษัท เควอเตอร์ ซึ่งชนะการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ได้นำคณะสื่อมวลชนไทยเข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่และดูผลงานของบริษัทที่ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 2731 ส.ค. พร้อมทั้งยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ไม่ได้มีส่วนช่วยบี้ให้บริษัทชนะการประมูล แม้จะเดินทางมาเยี่ยมชมกิจการบริษัทก่อนหน้านี้

ยุน บยอง ฮุน รองประธานฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ บริษัท เควอเตอร์ ยอมรับว่า เมื่อปี 2554 ภายหลังเกิดมหาอุทกภัยในประเทศไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางมาเยือนสำนักงานใหญ่ บริษัท เควอเตอร์ เพื่อดูแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศเกาหลีจริง ขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าบริษัท เควอเตอร์ มีความพร้อมในการจัดการน้ำมาก

นอกจากนี้เห็นตรงกันว่าประเทศไทยยังมีปัญหาการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและต้องการการจัดการแบบซิงเกิล คอมมานด์ และก็ไม่ได้ชักชวนให้บริษัท เควอเตอร์ เข้ามาร่วมโครงการประมูลน้ำ 3.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนการมาเยือนเกาหลีใต้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทางบริษัทสนใจจะเข้ามาช่วยไทยการจัดการทรัพยากรน้ำอยู่แล้ว เนื่องจากไทยมีเครื่องมือที่ดี อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัท เควอเตอร์ และรัฐบาลไทยได้เตรียมลงเอ็มโอยูเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำร่วมกันมาแล้ว แต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ขึ้นก่อน

ยุน บยอง ฮุน ระบุว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเสนอให้บริษัท เควอเตอร์ คอยช่วยแนะนำให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลไทย แต่กระบวนการทำแผนโครงร่างการดำเนินการในแต่ละโมดูลเป็นไปตามขั้นตอนปกติตามที่รัฐบาลไทยกำหนด

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เลย” ผู้บริหารเควอเตอร์ ยืนยัน

บริหารรายนี้ ย้ำอีกว่า ขณะนี้บริษัท เควอเตอร์ ดูแลโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 16 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 8 แห่ง โดยการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชน และมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันน้ำท่วม

ยุน บยอง ฮุน อธิบายการดำเนินโครงการในประเทศไทยว่า ก่อนการเสนอแผนแม่แบบให้แก่รัฐบาลไทย ทางบริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจสภาพพื้นที่ล่วงหน้า 1 ปี โดยใช้ข้อมูลของบริษัทวางแผนดำเนินงานและจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยเต็มที่ มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้การทำงานกับรัฐบาลไทยจะลงตัว

“เควอร์เตอร์ไม่คิดล้มเลิกหรือถอดใจจากโครงการ เพราะเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่ระดับรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกันไว้แล้ว ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็เป็นเรื่องรัฐบาลไทยจะต้องแก้ปัญหา แต่ยืนยันว่าบริษัทจะไม่ถอดใจ 100%” ผู้บริหารบริษัท ระบุ

ฮัน โก ลี ผู้อำนวยการด้านทรัพยากรลุ่มน้ำและธุรกิจต่างประเทศ บริษัท เควอเตอร์ กล่าวว่า บริษัท เควอเตอร์ มีประสบการณ์ในการก่อสร้างฟลัดเวย์ในเกาหลีใต้ ได้แก่ ทางผันน้ำคยองอิน อารา ซึ่งระบายน้ำจากแม่น้ำฮัน ไปออกยังทะเลตะวันตกมาแล้ว ส่วนโครงการแม่น้ำ 4 สาย ก็เป็นต้นแบบของโครงการแก้มลิง ที่บริษัทได้รับการคัดเลือกให้บริหารจัดการจากรัฐบาลไทยในโมดูล เอ 3 ซึ่งเน้นในเรื่องการจัดทำแก้มลิง

ขณะที่ มณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เควอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงต้องรอท่าทีจากรัฐบาลไทยและคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุด ก่อนจะเข้าสำรวจพื้นที่และเริ่มโครงการตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า พร้อมดำเนินการทันทีหากได้รับความชัดเจนจากรัฐบาลไทย