แพนด้ากับการสูญพันธุ์
ที่นี่เป็นพื้นที่ป่าบนทุบเขาถูกเนรมิตเป็นศูนย์อนุรักษ์แพนด้าแห่งเมืองเสฉวน โดยถูกจัดการและแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อย่างเป็นระบบ
ที่นี่เป็นพื้นที่ป่าบนทุบเขาถูกเนรมิตเป็นศูนย์อนุรักษ์แพนด้าแห่งเมืองเสฉวน โดยถูกจัดการและแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อย่างเป็นระบบ พื้นที่ส่วนหนึ่งถูกกันไว้ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่อยากเห็นแพนด้าอย่างใกล้ชิด ในบรรยากาศที่เป็นถิ่นกำเนิดและถิ่นอาศัยดั้งเดิมของเจ้าสัตว์ที่มีขนขาวดำ ท่าทางอุ้ยอ้าย เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนเป็นที่น่าจดจำ และถือเป็นขวัญใจเด็กๆ และเหล่าผู้รักสัตว์ทั่วโลก
อีกส่วนหนึ่งถูกจัดไว้เป็นศูนย์การวิจัยสัตว์และพืช ที่มีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากหลากประเทศทั่วโลกเข้ามาร่วมสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านงานวิจัย และส่วนสุดท้ายที่เป็นเสมือนหัวใจของที่นี่ก็คือ พื้นที่ป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์จริงๆ
ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวนของจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 9,245 ตร.กม. กินอาณาบริเวณ 7 เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ และ 9 อุทยานภูมิทัศน์ เป็นสถานที่ที่ได้รวบรวมพืชพันธุ์นานาชนิดกว่า 6,000 สปีชีส์ กระจายไปตามจุดต่างๆ ของพื้นที่ให้มีความใกล้เคียงกับป่ายุคเทอร์เชียรี (Tertiary) หรือป่าที่เคยมีอยู่ในยุคเริ่มแรกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อประมาณ 651.8 ล้านปีก่อน จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2549 ในฐานะที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย รวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลก
แพนด้ากว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดที่เหลืออยู่ทั่วโลกในขณะนี้ รวมถึงสัตว์ใกล้สูญพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ เช่น แพนด้าแดง เสือลายเมฆ เสือดาวหิมะ อาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งพำนักสุดท้าย
แม้ความพยายาม ทุ่มเท ในการอนุรักษ์แพนด้าหรือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์สายพันธุ์อื่นๆ จะเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเพียงไร แต่กรณีดังกล่าวยังเป็นสิ่งที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ระบุว่า หากไม่สามารถพื้นคืนปัจจัยในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ความพยายามในการอนุรักษ์ ก็ทำได้แค่เพียงชะลอไม่ให้สูญพันธุ์เท่านั้น
อาจารย์ชีวะจุฬาฯ ขยายความว่า เผ่าพันธุ์ของแพนด้านั้นอยู่ในสถานการณ์ขั้นวิกฤต ที่อาจสูญพันธุ์ในอีกเพียง 23 ชั่วรุ่นคน เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและกระชั้นชิด จนมันไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ปัญหาใหญ่ที่กำลังคุกคามการดำรงอยู่ของสายพันธุ์แพนด้า คือ เรื่องแหล่งที่อยู่อาศัย ที่ถูกแยกออกจากกันเป็นเขตที่เล็กลง สภาพดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อหมีแพนด้าในการออกหาคู่อย่างเสรีในเขตที่ห่างไกลจากถิ่นของตน ซึ่งยังเป็นอันตรายต่อพันธุกรรมแพนด้า เนื่องจากเมื่อมันไม่สามารถหาคู่จากแหล่งที่อยู่อาศัยอื่นๆ ได้นั้นกลายเป็นความเสี่ยงในการผสมพันธุ์สัตว์ที่มาจากพ่อแม่ที่มาจากสายเลือดเดียวกัน หรือ “เลือดชิด” เนื่องจากการที่ยิ่งถูกจำกัดให้ต้องผสมพันธุ์กับคู่ในถิ่นเดียวกันหรือใกล้เคียง ซึ่งมักเจอคู่ที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด และการผสมพันธุ์ระหว่างเลือดชิดมักได้ลูกแพนด้าที่อ่อนแอในการต้านทานเชื้อโรค และรุ่นลูกที่ด้อยสมรรถภาพในการสืบพันธุ์
“กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดเฉพาะกับแพนด้าเท่านั้น ตัวอย่างจากสัตว์อื่นๆ เช่น เสือชีตาห์ในแอฟริกา ก็กำลังประสบปัญหานี้ แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีการดูแลรักษาไม่ให้มีการล่า แต่เพราะป่าที่ถูกตัดขาดจากกัน ส่งผลให้พวกมันมีสายพันธุ์ที่แย่ลง โดยการแก้ปัญหาประชากรชีตาห์ที่มีสังคมเล็กลง จนผสมพันธุ์กันในกลุ่มเลือดชิด นักวิจัยในสวนสัตว์ต้องใช้วิธีแลกเสือข้ามสวนสัตว์เพื่อเป็นตัวช่วยเรื่องนี้”
นอกจากกรณีที่กล่าวมา ผศ.ดร.เจษฎา เล่าอีกว่า แนวคิดในการฟื้นฟูป่าหรือสร้างป่าขึ้นใหม่เพื่อลดโอกาสในการสูญพันธุ์ลง ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย การปลูกต้นไม้ทดแทน ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้ระบบนิเวศเดิมกลับคืนมาด้วย
“เช่น ถ้าเป็นกรณีแพนด้า ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องของต้นไผ่อย่างเดียว แต่รวมไปถึงพืชอื่นๆ สัตว์อื่นๆ ที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบลูกโซ่ จึงเป็นเรื่องที่ฟื้นได้ไม่ง่ายนัก เพราะต้องมีระบบนิเวศที่เป็นไปอย่างสมดุลประกอบเข้าด้วยกัน เช่น หากมีสัตว์กินพืชมากไปโดยไม่มีสัตว์ผู้ล่าเลย ก็กลายเป็นปัญหาเรื่องประชากรที่มากเกินไป และกลายเป็นปัญหาคุกคามธรรมชาติได้เช่นกัน” ผศ.ดร.เจษฎา กล่าว
ในบรรดาเรื่องการสูญพันธุ์ และการเข้าไปแทรกแซงวงจรชีวิตสัตว์อื่น จนเกิดโศกนาฏกรรมต่อธรรมชาติขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่านั้นและยากจะลืม นั่นคือ เรื่องราวของ ไทลาซีน (Thylacine) หรือที่รู้จักกันทั่วไปใน ชื่อ “เสือแทสเมเนีย” (Tasmanian Tiger) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในออสเตรเลีย รัฐแทสเมเนีย และนิวกินี โดยมันได้สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 77 ปีก่อน
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่มีลายทางที่หลังคล้ายเสือ จึงเชื่อกันว่ามันเป็นนักล่าที่คุกคามไร่ปศุสัตว์และเป็นอันตรายต่อคน จึงถูกล่าอย่างหนัก รัฐบาลออสเตรเลียในสมัยนั้นถึงกับมีการตั้งค่าหัวให้มัน
เรื่องที่น่าเศร้า คือ ในเวลาต่อมามีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่สแกนกะโหลกของมันและทดสอบในคอมพิวเตอร์ และรายงานผลไว้ในวรสาร Zoology ยืนยันว่าขากรรไกรของเสือแทสเมเนียอ่อนแอเกินกว่าจะขย้ำแกะให้ตายได้ ปากของมันเหมาะกับการเฉือนมากกว่าบดขยี้ อาหารของมันเป็นเพียงสัตว์เล็กๆ เท่านั้น หรือไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า มันเป็นเพียงสุนัขชนิดหนึ่งที่มีกระเป๋าหน้าท้อง ถูกล่าจนสูญพันธุ์เพราะความเข้าใจผิด และนี่ถือเป็นรอยด่างที่น่าอับอายที่จะอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ตลอดไป