รอยร้าว"อาชีวะ-แกนนำม็อบ"ไม่ไว้ใจ-หักหน้า-คุมไม่ได้
เบื้องลึกของกลุ่มนักเรียนอาชีวะคือเดิมทีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อเวลาทอดออกไปเริ่มเกิดความเห็นต่างในแนวทางการเคลื่อนไหว
โดย...ทีมข่าวในประเทศ
ภาพนักเรียนอาชีวะถือธงวิ่งไล่ฟาดเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณแยกสนามม้านางเลิ้ง เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลโดยตรงกับภาพลักษณ์การชุมนุมอย่างสงบ สันติ อหิงสา ของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)
แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยเพียง 2 ราย และทั้งคู่ไม่ได้ติดใจเอาความ แต่ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ยืนยันในวันที่ 18 พ.ย.ว่า เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อการ ในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความมั่นคง
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนจะระบุได้ว่าจะดำเนินคดีกับใครบ้าง” รองผบช.น.ระบุ
สอดคล้องกับท่าทีของแกนนำ คปท. ที่ประกาศจุดยืนอย่างไม่ไว้หน้ากลุ่มอาชีวะแต่อย่างใด โดย อุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานกลุ่มคปท. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากนี้หากมีผู้ชุมนุมในเครือข่ายของ คปท.ไปร่วมก่อเหตุอีก จะแจ้งความดำเนินคดีและให้ตำรวจจับกุมทันที เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ คปท.
“สำหรับกลุ่มอาชีวะที่ร่วมชุมนุมในขณะนี้ มีประมาณ 40-50 คน โดยจะให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง หากมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกจะให้ออกไปจากพื้นที่การชุมนุมทันที” อุทัย กล่าวอย่างแข็งกร้าว
วิศรุต ปิติดา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มอาชีวะ 14 สถาบัน (ก่อนจะขยายวงเป็น 46 สถาบันในปัจจุบัน) ให้สัมภาษณ์ก่อนที่แกนนำ คปท. จะประกาศจุดยืนดังกล่าว
“อาชีวะไมได้อยู่ภายใต้คำสั่งของแกนนำ ทั้งหมดเคลื่อนไหวภายใต้มติของ 14 สถาบัน” วิศรุต พูดชัด “นักเรียนอาชีวะไม่ใช่เด็ก ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องมารับคำสั่งใคร”
วิศรุต ยอมรับว่า ไม่พอใจแกนนำการชุมนุมและหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย (การ์ด) ที่พาเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามารื้อค้นอาวุธในเต้นท์ที่พำนักถึง 2 ครั้ง 2 ครา
“มัน 2 ครั้งแล้วพี่ ทำไมถึงทำกับเราถึง 2 ครั้ง ผมไม่พอใจ น้องๆ ก็ไม่พอใจ อย่างน้อยก็ควรบอกผมสักคำว่าจะพาตำรวจเข้ามาค้น แกนนำทุกคนก็มีเบอร์ของผมทั้งหมด หัวหน้าการ์ดก็มีเบอร์ของผม ทำไมถึงไม่โทรมา” วิศรุต เล่าว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามารื้อค้นเต้นท์และไม่พบอาวุธใดๆ ในวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงประสานเพื่อเคลียร์ใจกับแกนนำ
“ผมถามเขาตรงๆ พูดกับเขาตรงๆ เลยว่า พี่เห็นพวกผมเป็นอะไร ทำแบบนี้มันเท่ากับไม่เห็นหัวผม” เขาถามเช่นนั้น และได้รับคำอธิบายจากแกนนำคปท.ว่า มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ทว่าวิศรุต ไม่ได้เปิดเผยว่า “ความเข้าใจผิด” ดังกล่าวคืออะไร
วิศรุต กล่าวตรงไปตรงมาว่า หากเปรียบเทียบทั้ง 3 เวที คือเวทีประชาชนต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เวทีกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และเวทีคปท. ถือว่าเวที คปท. ให้การดูแลใส่ใจกลุ่มอาชีวะน้อยที่สุด ที่สำคัญพื้นที่ คปท. ยังถือว่ามีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากอยู่ประชิดแนวกั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“พูดกันตรงๆ เลยพี่ ถ้าเกิดการปะทะจริงๆ ก็พวกผมนี่แหละด่านหน้า เด็กอาชีวะนี่แหละลุยก่อน ตอนตำรวจเข้ามาค้นเต้นท์พูดจริงๆ ว่าพวกเราถอดใจกันมาก มีการคุยกันว่าจะเก็บของเก็บเต้นท์ย้ายออกไปรวมกันที่เวทีผ่านฟ้า (กปท.) พวกอาชีวะที่นั่นก็มาชวนให้ไปอยู่รวมกัน ... แต่มันไปไม่ได้พี่ หลังเกิดเหตุก็มีคุณป้าคุณน้าแวะเวียนมาให้กำลังใจเรา เขามาบอกให้เราสู้ บางคนถึงขั้นร้องไห้ พวกเราเห็นก็พูดไม่ออก มันรู้สึกว่าจะทิ้งกันไปก็ไม่ได้”
ทันทีที่สิ้นคำกล่าวของวิศรุต มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเดินเข้ามาสอบถามสารทุกข์สุขดิบเป็นกลุ่มที่ 3 บ้างนำอาหารข้างกล่อง บ้างนำผ้าห่ม บ้างนำเงินมาบริจาคช่วยเหลือ แต่กลุ่มนักเรียนอาชีวะไม่มีนโยบายจะรับเงิน
“เราไม่รับเงินเลย ไม่มีตั้งกล่องรับบริจาคด้วย เดี๋ยวมันจะเกิดปัญหากัน จะมีคนมาดูถูกกันได้ว่าไอ้พวกอาชีวะมันมาหากินกับการชุมนุม” วิศรุต กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับตำแหน่ง มีเฉพาะรุ่นพี่กับรุ่นน้อง เด็กอาชีวะทั้ง 46 สถาบันสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่จะไม่มีการตั้งตำแหน่งว่าใครคือแกนนำ เพราะตำแหน่งจะนำมาซึ่งปัญหาในท้ายที่สุด
“เราสื่อสารกันแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ไม่เกี่ยวว่าจะมาจากสถาบันใด ทุกคนกลมเกลียวกันหมด เรามีกฎเด็ดขาดอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือห้ามมีอาวุธในสถานที่ชุมนุมเด็ดขาด อีกหนึ่งคือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เขามาในที่ชุมนุม คือเราประชุมคุยกันชัดว่ามาที่นี่เพราะอะไร เรามาเพื่อปกป้องมวลชน ไม่ใช่มางานแสดงสังสรรค์ ถ้าอยากเมาอยากสนุกให้ไปที่อื่น”
วิศรุต บอกว่า ในทุกๆ วันจะมีเด็กอาชีวะหมุนเวียนร่วมการชุมนุม 2 เวที คือ กปท. และคปท. ทั้งสิ้น 200 คน อยู่กันตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากวันไหนที่มีการเคลื่อนขบวนใหญ่และสุ่มเสี่ยงก็มีการเรียกระดมคนได้มากที่สุดถึง 3,000 คน
“มีรายชื่อ มีการลงทะเบียน หาตัวได้กันหมด ทุกคนจะได้รับปลอกแขนสีฟ้า ซึ่งก็มีวิธีคัดกรองไม่ได้แจกกันมั่วๆ ส่วนการเคลื่อนไหวก็มีการประเมินสถานการณ์กันโดยตลอดว่าสุ่มเสี่ยงหรือไม่ การจัดขบวนเราก็จะรู้กันว่าน้องคนไหนความอดทนต่ำ ก็ให้อยู่แถว 2-3 ต้องฟังเวทีเป็นหลัก ต้องฟังคำสั่งจากรุ่นพี่ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ให้เดินมาคุยกัน”
“ต้องชี้แจงกันตลอดว่าสิ่งที่เราจะเผชิญมันไม่เหมือนกับการวิ่งตีกันของเด็กช่าง นี่ถ้าพลาดมวลชนจะเจ็บ เราก็ถึงขั้นติดคุก ต้องเอาคลิปมาเปิดให้น้องดูว่าแก๊สน้ำตามันเป็นอย่างไร มันสงคราม มันรุนแรง มันไม่ใช่วิ่งใส่กันเฉยๆ” วิศรุต กล่าว
เขา ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “สาเหตุที่เราต้องดูแลกันเอง เพราะเราไม่ไว้ใจคำพูดของใครทั้งสิ้น และเราก็ไม่ได้หวังว่าใครจะมาช่วยเรา”
อย่างไรก็ดี เบื้องลึกของกลุ่มนักเรียนอาชีวะคือเดิมทีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อเวลาทอดออกไปเริ่มเกิดความเห็นต่างในแนวทางการเคลื่อนไหว โดยกลุ่มหนึ่งยังเชื่อฟังแกนนำ อีกกลุ่มหนึ่งพยายามแยกตัวออกเป็นอิสระ
ทันทีที่มีการตั้งเวทีปราศรัย 3 เวที บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ยาวไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มอาชีวะได้แตกออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน โดยกลุ่มใหญ่อยู่ที่เวที กปท. บริเวณผ่านฟ้า อีกกลุ่มหนึ่งที่แตกออกไปแยกออกไปตั้งเต้นท์ใน 2 เวที คือ คปท. และราชดำเนิน
เบื้องต้น แกนนำ กปท. ได้ตัดขาดกับกลุ่มอาชีวะ 2 กลุ่มที่แตกออกไปแล้ว และได้ประสานไปยัง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำเวทีราชดำเนิน เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่การแถลงข่าวด้วยท่าทีที่รุนแรงล่าสุดของแกนนำ คปท. มีความเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นเพราะไม่สามารถควบคุมกลุ่มอาชีวะได้