สะท้อนมุมมองวัฎจักรดอกเบี้ยสหรัฐฯ ผลกระทบต่อกลุ่มธนาคาร และนอนแบงก์
เปิดมุมมองวัฎจักรดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจลดช้ากว่าคาด หลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรแกร่ง บอนด์ยีลด์พุ่ง ช่วยลดแรงกดดันต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นเซนติดมนต์ลบต่อกลุ่มนอนแบงก์
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ภายหลังตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐฯ วันศุกร์ที่ผ่านมา ออกมาแข็งแกร่ง ทำให้ BOND YIELD สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปิดวันศุกร์สูงขึ้นราว 7 BPS จากวันก่อนหน้ามาที่ 4.76% ท่ามกลางมุมมองต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่อาจช้ากว่าที่ตลาดเคยคาดหมาย
ประเด็นดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารพาณิชย์ใหญ่ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ NIM อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย อย่าง KTB, BBL และ KBANK (ราคาเป้าหมาย 163 บาท) ในทางตรงข้ามกระแส BOND YIELD ในสหรัฐฯ ดูเป็น SENTIMENT ลบต่อกลุ่ม NON–BANK จากต้นทุนทางการเงิน (COST OF FUND) ที่อาจไม่ได้ลงเร็วนัก
สำหรับกลุ่มธนาคาร เข้าสู่การประกาศงบการเงินกลุ่มฯ เริ่มต้นด้วย TISCO ในช่วงเช้าวันที่ 14 ม.ค.2568 ซึ่งฝ่ายวิจัยคาดกำไรงวดไตรมาส 4/2567 ไว้ 1.7 พันล้านบาท ทรงตัวไตรมาสก่อน แต่ลดลง 4.5% จากไตรมาสเดียวกัน เพราะ ECL ขึ้น ตามนโยบายการตั้งสำรอง ทยอยกลับสู่ระดับปกติ หลังตั้งในระดับต่ำช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ช่วงวันที่ 20-21 ม.ค.2568 (KBANK และ SCB วันที่ 21 ม.ค.) โดยรวมประเมินกำไรกลุ่มฯ (8 ธนาคาร) งวดไตรมาส 4/2567 ราว 5.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 9% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล หากเทียบกำไรเชิงไตรมาสเดียวกันปีก่อน มองว่า KKP และ KTB มีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มฯ เพราะระดับการตั้ง ECL ต่ำลง
ด้านกำไรกลุ่มฯ งวดปี 2567 คาดปิดปี 2567 ที่ 2.4 แสนล้านบาท (9 เดือนแรก ที่ 1.9 แสนล้านบาท) เติบโต 7% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และแนวโน้มกำไรปี 2568 ขยายตัว 3% จากปี 2567 สอดคล้องกับการขยายตัวของ GDP ไทย (ธปท. คาด GDP ปี 2568 เพิ่ม 2.9% จากปี 2567) จากทิศทาง CREDIT COST ลดลง เพราะแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์เบาลง ทั้งจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อใหม่เข้มงวดในช่วงที่ผ่านมาและมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ “คุณสู้ เราช่วย”
ในกลุ่มธนาคาร เลือก KTB (ราคาเป้าหมาย 23.4 บาท) จากการคุมคุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างดีและรับประโยชน์จากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ตามด้วย BBL (ราคาเป้าหมาย 180 บาท) ราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นช้ากว่ากลุ่มฯ, COVERAGE RATIO สูงสุดในกลุ่มฯ และพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศ (สัดส่วนราว 25% ของสินเชื่อธนาคาร) มีแนวโน้มผ่อนคลายขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวสูง ส่วนกลุ่มปันผลสูง เลือก TISCO (ราคาเป้าหมาย 102 บาท) นอกจาก DIV. YIELD ในเชิงแนวโน้ม ROE ยืนสูงสุดในกลุ่มฯ ต่อไป
ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนกลุ่ม NON-BANK แม้ VALUATION อย่าง PER ลงมาซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้ง MTC, SAWAD และ TIDLOR และคาดกำไรไตรมาส 4/2567 เติบโตจากไตรมาสก่อน เพราะสินเชื่อเติบโตตามฤดูกาล แต่ภาพใหญ่อย่างวัฎจักรดอกเบี้ยดูไม่เอื้ออำนวย ทำให้ช่วงไตรมาส 1/2568 กลุ่มธนาคารที่มีลมหนุนจากการเข้าสู่ฤดูปันผลน่าสนใจกว่า NON-BANK ในระยะนี้