การต่อสู้แบบอารยชนมันทำยาก
ถือเป็นคลื่นลูกใหม่สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้จากต่างประเทศ ก่อนมาลงเล่นในสนามการเมืองไทย
ถือเป็นคลื่นลูกใหม่สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้จากต่างประเทศ ก่อนมาลงเล่นในสนามการเมืองไทย เอกนัฏ มองสภาพปัญหาความขัดแย้งในบ้านตัวเองเวลานี้ว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับระบอบเผด็จการในคราบประชาธิปไตยที่ถูกครอบงำโดยบุคคลเดียวที่ใช้อำนาจผ่านรัฐบาลและรัฐสภาหุ่นเชิด พูดง่ายๆ ว่า ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้นอ้างความเป็นระบอบประชาธิปไตยบังหน้า แต่ชนะมาเพราะซื้อเสียงและโกงการเลือกตั้ง และนำอำนาจที่ได้มานั้นไปทำการฉ้อฉล หาผลประโยชน์ โดยไม่ยึดหลักกฎหมาย
“วันนี้ประชาชนหลายคนออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาระบอบแบบนี้อีกต่อไปแล้ว เขาต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ ในอนาคตไม่ต้องการนักการเมืองแบบนี้ในประเทศอีก เพราะฉะนั้นวันนี้ถือเป็นการต่อสู้ของขบวนการประชาชน ซึ่งมีประชาชนเป็นล้านๆ คนจากหลากหลายอาชีพทั่วประเทศมาร่วมกันต่อสู้กับอำนาจทักษิณที่เผด็จการ ซึ่งวันนี้อำนาจนี้ยังสามารถครอบงำพรรคการเมือง สส. และ สว.ส่วนหนึ่ง รวมถึงข้าราชการบางส่วนที่ยังยอมศิโรราบให้กับขบวนการนี้ด้วยความกลัว ด้วยผลประโยชน์ทางการเงิน และด้วยอิทธิพลที่เขามี”
เอาอะไรมาวัดว่าคนที่ออกมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ?
เอกนัฏ อธิบายกลับมาว่า อันดับแรกคือ ต้องไม่ดูถูกความเห็นหรือความต้องการของประชาชนที่ออกมา มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนจะออกมามากเป็นล้านคน ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนนับสิบล้าน เยอะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่มาร่วมแสดงจุดยืนเจตจำนงอย่างชัดเจน โดยยึดหลักสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ เขาเหล่านั้นไม่ได้ออกมาปิกนิกหรือออกมาเที่ยวเตร่ 10 นาที 20 นาที หรือออกมาเพื่อที่จะหย่อนบัตรลงกล่องเลือกตั้งเท่านั้น แต่เขาออกมาตากแดด ตากฝน เดินเป็นสิบๆ กิโลเมตร ค้างคืนแล้วก็ออกมาอีก เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนเเปลง
ส่วนที่บอกว่านี่เป็นประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ ถามว่าที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลที่ชอบมาแอบอ้างว่าตัวเองได้รับฉันทานุมัติจากเสียงส่วนใหญ่และใช้เสียงนั้นกดขี่ข่มเหงประชาชนตลอดเวลา เอาเสียงส่วนมากผ่านกฎหมายล้างผิด แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มันชัดเจนที่สุดว่าเวลานี้อย่ามาอ้างเสียงส่วนใหญ่ แต่คุณต้องฟังประชาชนอีกเป็นล้านคนบ้าง
แม้กระทั่งคนเสื้อแดงก็ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายล้างผิด เขายอมบาดเจ็บล้มตายเพื่อให้คุณเข้ามาสู่อำนาจ ก็ถูกรัฐสภาและรัฐบาลหุ่นเชิดชุดนี้หักหลังเขา นี่เป็นความรู้สึกของประชาชนและเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาที่เขานัดมวลชนคนเสื้อแดงออกมา 34 ครั้งที่ผ่านมา เขาไม่ประสบความสำเร็จเลย จำนวนคนที่มาเทียบไม่ได้เลยกับคนเสื้อแดงที่ออกมาในปี 2552 และปี 2553 และพลังของคนที่ออกมาก็ไม่เหมือนเดิม
แนวทาง กปปส.ชัดเจนว่าไม่ยุติที่การยุบสภา ทำไมการเลือกตั้งถึงแก้ปัญหาในประเทศไทยไม่ได้
“ต้องเข้าใจก่อนว่าระบอบประชาธิปไตยมันต้องมีขั้นตอน มีพัฒนาการของมัน เราจะเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาใช้ครอบคลุมในทุกสถานการณ์ไม่ได้ บางประเทศเขาสู้รบกันมาเป็นนับร้อยๆ ปีกว่าจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่วันนี้ประเทศไทยของเราเกิดปัญหาขึ้น คือ นักการเมือง นายทุน ใช้การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการ เเต่ไม่ได้มองว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ใช้เป็นวิธีการในการเข้าไปสู่อำนาจ ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ประกอบกับประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและทางฐานะค่อนข้างสูง นักการเมืองหลายคนใช้โอกาสทางนี้ใช้นโยบายประชานิยมไปหลอกล่อเพื่อที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงทางการเมือง
ดังนั้น เราไม่ได้บอกว่าไม่เอาระบบเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณกลับไปสู่การเลือกตั้งวันนี้ก็จะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ต่อ โดยไม่แก้กฎ กติกา คุณจะได้นักการเมืองที่ซื้อเสียงเข้ามาเหมือนเดิม ได้รัฐบาล รัฐสภาหุ่นเชิด แล้วคนเหล่านี้ก็จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมปฏิรูปประเทศ ถามว่าคุณจะสามารถไว้ใจนักการเมืองที่โกงการเลือกตั้งมาปฏิรูปประเทศไหม ไม่ได้ คุณไว้ใจนักการเมืองที่โกงประเทศชาติให้มาปฏิรูปเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นไหม ไม่ได้ คุณไว้ใจนักการเมืองที่รวบอำนาจไว้ที่ตัวเองโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มาทำเรื่องกระจายอำนาจได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้มันเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศ
วันนี้เป็นโอกาสที่ดี เราขอแค่ว่าน่าจะเข้าไปสู่การดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้เกิดการปฏิรูปเสียก่อน เพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด พอคุณแก้กฎระเบียบการเลือกตั้ง ทำให้กฎหมายการเลือกตั้งมันเข้มแข็งขึ้น ทำให้องค์กรที่ดูแลการทุจริตเข้มแข็งขึ้น ก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ออกกติกาให้เข้มแข็งขึ้นได้ พอคุณปฏิรูป เปลี่ยนแปลงให้ปราศจากการครอบงำ แก้ปัญหาได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเวลาชั่วคราวเท่านั้น คุณค่อยกลับไปสู่การเลือกตั้งเสียใหม่”
นอกจากการปฏิรูปประเทศไทยแล้ว ขณะเดียวกันการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นโจทย์ที่ถูกตั้งคำถามไม่แพ้กันในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา
ในฐานะอดีตสมาชิกพรรคพระแม่ธรณี เอกนัฏ มองกลับไปยังบ้านตัวเองที่เพิ่งก้าวเท้าออกมาว่า “ผมเองลาออกจากการเป็น สส.ของ ปชป.แล้ว และผมก็ยังรักพรรคนี้อยู่ ผมยังเชื่อมั่นในพรรค ปชป.ตั้งแต่แรก สาเหตุที่ผมเข้ามา เพราะพรรค ปชป.เป็นสถาบันการเมืองที่มั่นคงและปฏิบัติตัวเป็นที่ยึดและเป็นที่พึ่งของประชาชนกว่า 6070 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องการบริหารจัดการ แน่นอนว่ามันต้องปรับไปตามสถานการณ์ ซึ่งมันก็มีความพยายามปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพรรค ซึ่งถ้าพรรคทำได้ สามารถทำให้การบริหารจัดการมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น มันก็เป็นประโยชน์ต่อพรรคเอง
...พรรค ปชป.ก็ยังเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ แต่มันก็เหมือนกับม็อบ บางครั้งคนเราอาจจะมองว่ามันไม่สะใจ ไม่ถูกใจ ไม่ทันใจบ้าง ทำไมใช้เวลาเยอะจัง แต่มันเป็นธรรมดาครับ การต่อสู้แบบคนดีแบบอารยชนมันทำยาก เอาปืนมาจ่อหัวกันมันทำง่าย สู้แบบเลวๆ ชกใต้เข็มขัดแป๊บเดียวก็ชนะ แต่การชนะด้วยความดีมันทำยาก ต้องใช้เวลา ความอดทน
แต่กระบวนการในส่วนของพรรค ผมคิดว่ามันก็ได้พิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่ามันต่างจากพรรคที่มีโครงสร้างที่หละหลวมอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ใช้อำนาจหลักยึดไปที่ตัวบุคคล ให้คนคนเดียวมีอำนาจบงการทำทุกอย่าง บางครั้งมันรวดเร็วจริง แต่ความรวดเร็วตรงนั้นมันก็นำไปสู่ความหายนะ ทำให้ประเทศชาติล่มจม เกิดความเสียหาย แทนที่พรรคการเมืองจะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เเต่กลับไปทำเพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง อันนี้มันเป็นปัญหา ไม่ถูกต้อง
...ขณะเดียวกันถ้าพรรค ปชป.สามารถปรับตัวได้ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง และปรับการบริหารจัดการให้ตอบสนองต่อความต้องการของคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เร็วด้วย ดีด้วย ก็จะเป็นพรรคที่สมบูรณ์แบบ”