บ๊ายบายปีงู : รู้จักก่อนจาก
ก่อนจะจากปีงูไปเข้าสู่ปีม้า เรามีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ “งู” มานำเสนอให้คุณได้รู้จักและเข้าใจงูมากขึ้น
โดย...รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ก่อนจะจากปีงูไปเข้าสู่ปีม้า เรามีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ “งู” มานำเสนอให้คุณได้รู้จักและเข้าใจงูมากขึ้น
ว่าด้วยเรื่องของพิษ ความรุนแรงของพิษงูจะพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ 1) ความเข้มข้นของพิษ ซึ่งดูจากค่า Lethal Dose 50 (LD50) โดยค่า LD50 น้อย หมายถึง “พิษแรง” และ 2) ปริมาณของพิษที่งูปล่อยออกมา งูพิษแต่ละชนิดมีปริมาณพิษมากน้อยไม่เท่ากัน แถมในการกัดแต่ละครั้งมันก็ไม่ได้ปล่อยพิษออกมาท่วมท้นเสียทุกครั้ง เพราะการสร้างพิษใหม่ต้องใช้เวลา หากปล่อยพร่ำเพรื่อจะทำให้พลาดโอกาสในการล่าเหยื่อ หรือเสียท่าให้ศัตรูได้
ดังนั้น ถ้าเราดันโดนงูกัดเข้า นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับพิษเสมอไป บนความโชคร้ายนี้อาจจะมีความโชคดีอยู่บ้าง หากงูตัวนั้นบังเอิญเพิ่งใช้พิษหมดไปกับการล่าเหยื่อ
ที่จริงแล้วระดับความน่ากลัวของงูพิษยังต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาด้วย แต่ทั้ง ปริมาณพิษ โอกาสในการเจอ และนิสัยของงูนั้น สุดจะคาดเดา ในการจัดอันดับ “เจ้าแห่งอสรพิษ” จึงนิยมใช้ค่า LD50 มาวัดกัน
งูพิษสองชนิดที่มีพิษแรงครองสถิติโลกอยู่ในปัจจุบัน คือ งูอินแลนด์ไทปัน (Inland taipan; Oxyuranus microlepidotus) แห่งออสเตรเลีย ครองอันดับที่ 1 บนบก ด้วยค่า LD50 : 0.02 mg/kg มันมีนิสัยรักสงบ จะแสดงอิทธิฤทธิ์ก็ต่อเมื่อจนตรอก ในการกัดครั้งหนึ่งปล่อยพิษออกมาได้มากถึง 110 มิลลิกรัม แต่จริงๆ แล้วแค่พิษเบาๆ เพียงไม่กี่มิลลิกรัมของอินแลนด์ไทปัน ก็สามารถปลิดชีพคนได้ถึง 100 คน และทำให้ตายได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง แม้พิษสงจะร้ายกาจขนาดนี้ แต่ก็ยังห่างชั้นจากตัวที่เป็นที่สุดแห่งพิษอยู่มาก
พิษอันดับที่ 1 ของโลก คือ งูแสมรังเกล็ดเบลเชอร์ (Faintbanded sea snake; Hydrophis belcheri) มีค่า LD50 : 0.0001 mg/kg พบได้ในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงบริเวณอ่าวไทยของเราด้วย พิษของมันร้ายกาจรุนแรงกว่าพิษของอินแลนด์ไทปันถึง 100 เท่า พิษเพียงน้อยนิดสามารถฆ่าคนได้มากกว่า 1,000 คน แต่โอกาสที่จะโดนกัดนั้นน้อยมาก เพราะตามธรรมชาติแล้วมันมีนิสัยขี้อาย แถมยังหาตัวยาก ผู้โชคร้ายที่โดนกัดมักเป็นชาวประมง
ในประเทศไทย งูเห่าไทย (Naja kaouthia) แม้จะขึ้นชื่อเรื่องพิษ แต่ก็ไม่ใช่งูที่มีพิษแรงที่สุด มันยังเป็นรองงูแมวเซาและงูทับสมิงคลา (ข้อมูลจากห้องทดลองของสถานเสาวภาค่า LD50 ของงูทับสมิงคลาอยู่ที่ 0.16 mg/kg และงูเห่าไทย 0.280.34 mg/kg) ด้วยความที่งูเห่าไทยกระจายพันธุ์อยู่ทั่วประเทศ มีโอกาสพบปะกับคนบ่อยกว่างูอื่นๆ จึงไม่แปลกที่มันจะเป็น งูพิษอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทย
สำหรับงูจงอาง (Ophiophagus hannah) แม้พิษจะไม่แรงเท่างูเห่า แต่เน้นที่ปริมาณบวกกับขนาดตัวที่ใหญ่กว่างูพิษอื่นๆ คือ มีความยาวราวๆ 4 เมตร จึงทำให้งูจงอางเชิดหน้าชูคอรับตำแหน่ง “งูพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” ไว้ประดับบารมี และคงเป็นหนึ่งในสุดยอดอสรพิษที่น่าเกรงขามอย่างไร้ข้อกังขา
เรื่องของขนาดนั้น งูที่ไม่มีพิษแต่ตัวใหญ่โตมหึมาอย่าง งูเหลือม และ อนาคอนดา เป็นที่ถกเถียงว่าชนิดไหนกันแน่ที่จะครองตำแหน่งงูที่ใหญ่ที่สุดในโลก?
ถ้าเอาเฉพาะความยาว งูเหลือม (Reticulated python; Python reticulatus) เป็นงูที่มีลำตัวยาวมากที่สุดในโลก โดยตัวที่ถูกบันทึกว่ายาวที่สุดนั้นพบที่อินโดนีเซีย ในปี 1912 มีความยาวถึง 10 เมตร ในขณะที่งูเหลือมทั่วไป ทั้งที่พบในธรรมชาติและที่ถูกเลี้ยง จะมีความยาวตั้งแต่ 39 เมตร ตัวที่ยาวกว่า 6 เมตร จะหนักประมาณ 110 กิโลกรัม
แต่ถ้านิยามของคำว่า “ใหญ่” คือ ตัวยาวและหนักด้วย “อนาคอนดาเขียว” (Green anaconda; Eunectes murinus) แห่งลุ่มน้ำอเมริกาใต้ คืองูที่ “ใหญ่” ที่สุด พวกมันมีความยาวเฉลี่ย 69 เมตร และหนักได้ถึง 227 กิโลกรัม โดยถ้าเทียบกับงูเหลือมที่ตัวยาวเท่าๆ กัน อนาคอนดาเขียวกินขาดเรื่องน้ำหนัก มันอาจหนักกว่างูเหลือมถึงสองเท่า
ในทางตรงกันข้าม ถ้านิยามคำว่า “เล็ก” ด้วย ความสั้น และ เรียว งูเส้นด้ายบาร์เบโดส (Babardos threadsnake; Leptotyphlops carlae) งูหายากซึ่งพบเฉพาะในประเทศบาร์เบโดส ได้ครองตำแหน่งนี้ไปเลย มันมีความยาวแค่ 10 เซนติเมตร ตัวที่ยาวที่สุดในบันทึก คือ 10.4 เซนติเมตร งูเส้นด้ายบาร์เบโดสกินปลวกเป็นอาหารหลัก และวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง แตกต่างจากงูอื่นที่ออกไข่ทีละหลายฟอง
ทั้งหมดนี้ แม้จะเป็นเพียงบางแง่มุม แต่หวังว่าจะทำให้รู้จักชีวิตงูมากขึ้น และก่อนจากกัน ขอฝากคำขวัญส่งท้ายปีงูไว้ว่า “คนรุ่นใหม่ ไม่ขันชะเนาะ” เมื่อใดที่โดนงูกัด สภากาชาดแนะนำให้ดามและพันผ้าเหมือนเข้าเฝือก อย่าขยับเกินความจำเป็น และรีบพาไปหาหมอโดยเร็วที่สุด n
*ขอขอบคุณ ดร.ประทีป ด้วงแค และ ดร.ยอดชาย ช่วยเงิน สำหรับข้อมูลและช่วยตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ