เบื้องหลังประวัติสตรีสุจริต
ครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง บันทึกของราชสำนักจีน
ครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง บันทึกของราชสำนักจีนระบุถึงการส่งราชทูตสยามมาเข้าเฝ้าฮ่องเต้องค์แรกของราชวงศ์หมิงไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง แต่มีอยู่ 2 ครั้งที่ราชทูตมิได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งโดยตรงจากกษัตริย์สยาม หรือ เซียนหลัว หากแต่เป็นทูตที่ส่งมาโดย (พลการ) โดยพระพี่นางของพระเจ้าอู่ทอง พระนามไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย แต่ปรากฏในบันทึกฝ่ายจีนว่า “ฌันเลียะซือหนิง” หรือ “เซียนเลียะซือลี่” ในสำเนียงฮกเกี้ยน อันเป็นกลางที่พ่อค้าในอโยธยาใช้ติดต่อสื่อสารกัน นอกเหนือจากภาษามลายู
บันทึกหมิงสือลู่ หรือลำดับเหตุการณ์สมัยราชวงศ์หมิง ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เดือน 10 รัชศกหงอู่ปีที่ 6 แห่งฮ่องเต้หมิงไท่จู่ (จูหยวนจาง) “คณะทูตของ ฌันเลียะซือหนิง พระเชษฐภคินีแห่งกษัตริย์สยาม ถวายพระสุพรรณสาส์นกับสิ่งของพื้นเมืองอื่นๆ แก่ฮองเฮา แต่พระนางไม่รับ”
แต่พระเชษฐภคินีพระนางนี้ยังไม่สิ้นความพยายาม เมื่อวันที่ 16 เดือน 11 รัชศกหงอู่ปีที่ 6 นายเหวินลี่หลัว รับโองการเป็นราชทูตฌันเลียะซือหนิง พระเชษฐภคินีแห่งกษัตริย์สยามอีกครั้ง เพื่อถวายบรรณาการเป็นสิ่งของพื้นเมืองแก่ฮองเฮา แต่ หนิวเหลียง เจ้ากรมพิธีการทราบเรื่องนี้ สั่งการไม่ให้รับรองราชทูต แต่มอบผ้าแพรชั้นดีกับเครื่องแต่งกายต่างๆ มอบแก่ทูตแล้วส่งกลับประเทศ”
สาเหตุที่เจ้ากรมพิธีการต้อง “เชิญทูต” กลับประเทศอย่างกะทันหันนั้น คาดว่าเป็นเพราะผิดจารีตประเพณีที่สตรี “ผู้ต้อยต่ำทั้งเพศและศักดิ์” เป็นฝ่ายส่งทูตมาถึงพระมเหสีแห่งโอรสสวรรค์
มาถึงจุดนี้ มีคำถามใหญ่อยู่ 2 ข้อ คือ “ฌันเลียะซือหนิง” คือใคร? เหตุใดพระนางจึงหาญกล้าส่งราชทูตไปเฝ้าโอรสสวรรค์ผู้ยิ่งใหญ่ได้?
“ฌันเลียะ” หรือ “เซียนเลียะ” มักถอดเป็นคำว่า “สมเด็จ” แต่คำว่า “ซือหนิง” อาจถอดได้ว่า เป็น “ศรี” แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจไม่ใช่อย่างที่คาด เพื่อความสะดวกเราอาจเรียกพระนางไปพลางๆ ก่อนว่า “สมเด็จซือหนิง”
สำหรับสาเหตุอัน “ดำมืด” ที่ทำให้สมเด็จซือหนิงกล้าส่งราชทูตไปแผ่นดินต้าหมิง ต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ
ในปีที่พระนางสมเด็จซือหนิงส่งราชทูตไปนั้น ตรงกับปี พ.ศ. 1916 ซึ่งจากพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่า “เสด็จไปเมืองชากังราว และพระยาใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่านๆ ได้ฆ่าพระยาใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา”
แสดงว่าในช่วงเวลานั้น พระเจ้าอู่ทองมิได้ทรงประทับอยู่ในพระนคร แถมยังเสด็จไปไกลถึง “เมืองเหนือ” ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เชื้อพระวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งรักษาพระนครแทน หรือไม่ก็มีเชื้อพระวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งฉวยโอกาสนี้ กระทำเหตุใดเหตุหนึ่งโดยพลการ
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบธรรม หรือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ ผู้ที่ไม่พอใจที่สุดกลับเป็นราชสำนักต้าหมิง (อย่างน้อยก็จากหลักฐานที่พอเหลืออยู่)
การส่งทูตเข้าถึงฮองเฮาของต้าหมิงมีนัยอันลึกซึ้งยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ฮ่องเต้หมิงไท่จู่ ทรงโปรดปรานฮองเฮาพระองค์นี้มาก นัยว่า ถ้าเข้าถึงคนโปรดก็อาจง่ายในการเข้าถึงอำนาจทางการค้ากับตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนี่อาจไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่สตรีอโยธยาพยายามกุมอำนาจทางการค้า
ก่อนหน้าที่สมเด็จซือหนิงจะก่อเรื่องระคายเคือง ราชสำนักหมิงเพิ่งผ่านการสถาปนาอย่างเป็นทางการมาได้เพียง 6 ปี ก่อนหน้านี้จีนปกครองโดยชาวมองโกลในนามราชวงศ์หยวน ในยุคนั้นอิทธิพลสตรีชั้นสูงมีอย่างล้นเหลือ ถึงขนาดตั้งและถอดฮ่องเต้หรือข่านได้ แต่การกระทำเช่นนั้นนำมาซึ่งการล่มสลายของราชวงศ์
เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบของบ้านเมือง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิงจึงควบคุมพฤติกรรมสตรีอย่างเข้มงวดตามคำสอนของลัทธิขงจื๊อ สถานภาพของสตรีในจีนจึงไม่ต่างอะไรกับนักโทษในบ้านของตัวเอง โดยมีคำว่า “กุลสตรี” เป็นโซ่ตรวนอันทรงเกียรติ
ความไม่สบอารมณ์ของราชสำนักหมิงต่อสมเด็จซือหนิง อาจถูกเสริมต่อด้วยเรื่องราวความอิสรเสรีเกินขอบเขตของสตรีชาวสยาม ที่ไม่ต่างอะไรกับสตรีชาวมองโกลแห่งราชวงศ์หยวน ความหงุดหงิดนี้ถูกเก็บงำต่อมาจนกระทั่งถึงรัชศกหย่งเล่อปีที่ 2 แห่งฮ่องเต้หมิงเฉิงจู่ ผู้ส่งกองเรือเจิ้งเหออกตระเวน 7 คาบสมุทร พระองค์ได้พระราชทานพระราชลัญจกรแก่ “อ๋อง” แห่งสยาม คือครั้งสมเด็จพระอินทราชา รวมถึงตำรากฎหมาย และเครื่องตวงวัดชั่งน้ำหนักตามที่ราชทูตสยามร้องขอ
อีกสิ่งที่พระราชทานให้โดยมิได้ร้องขอคือ หนังสือประวัติสตรีสุจริต หรือ “กู่จินเลี่ยหนี่จ้วน” จำนวนถึง 100 เล่ม ด้วยจุดประสงค์ที่คลุมเครือยิ่งนัก
แต่เดิมนั้น ตำราเลี่ยหนี่จ้วน ว่าด้วยประวัติของสตรีผู้มีจรรยาในอดีต ถือเป็นแบบอย่างให้สตรีทั้งหลายได้ปฏิบัติตาม รจนาขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อราว 18 ปีก่อนคริสตกาล แต่ในรัชสมัยหย่งเล่อได้มีการปรับปรุงใหม่อีกฉบับต่างหาก เรียกว่า “กู่จินเลี่ยหนี่จ้วน” หรือ “ประวัติสตรีสุจริตแต่อดีตจวบปัจจุบัน” ซึ่งรวบรวมเอาพระราชเสาวนีย์ของพระราชมารดา คือฮองเฮาของฮ่องเต้หมิงไท่จู่ เพื่อสอนสั่งกุลสตรีทั้งหลายให้อยู่ในกรอบ ในธรรมเนียม หรืออยู่ภายใต้การนำของบุรุษโดยดุษฎีนั่นเอง
การส่ง “กู่จินเลี่ยหนี่จ้วน” ให้ราชสำนักสยามถึง 100 เล่ม ย่อมมีนัยสำคัญพาดพิงถึงกรณีสมเด็จซือหนิงอยู่ไม่มากก็น้อย เพื่อตักเตือนอโยธยาในฐานะรัฐบรรณาการ ให้คอยสอดส่องพฤติกรรมสตรี อย่าให้ก้าวล้ำอำนาจบุรุษจนเกินงาม และให้ศึกษาแบบอย่างอันดีงามจากพระราชกรณียกิจของพระราชมารดาองค์ฮ่องเต้
น่าเสียดายที่ความพยายามของราชสำนักหมิงไม่เป็นผล เพราะสตรีสยามทั้งน้อยใหญ่ยังกระทำตามอำเภอใจตัวเองเรื่อยมา มิหนำซ้ำยังแสดง “อำนาจบาตรใหญ่” อย่างที่สตรีต้าหมิงทำได้แต่ในฝัน
แม้แต่ในหนังสือ “หวางเฉาเหวินเซียนทงเข่า” ที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงในอีก 300 ปีต่อมา ยังพรรณนาความเป็นอิสระของสตรีสยามไว้อย่างรวบรัด แต่ลึกซึ้งยิ่งว่า “การใช้จ่ายเงินทองสุดแล้วแต่ผู้หญิงด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา...”
“... ผู้ชายที่เป็นสามีก็ต้องเชื่อฟัง”