posttoday

พล.ต.ต.โกสินทร์ปฏิรูปองค์กรตำรวจ

22 กุมภาพันธ์ 2557

นักวิชาการแนะล้มโครงสร้างปิรามิดรัฐบาลคุมตร.ตั้งคณะกก.โยงภาคประชาชน พล.ต.ต.โกสินทร์หนุนตั้งองค์กรอิสระวอนปชช.ถอดอคติ

นักวิชาการแนะล้มโครงสร้างปิรามิดรัฐบาลคุมตร.ตั้งคณะกก.โยงภาคประชาชน พล.ต.ต.โกสินทร์หนุนตั้งองค์กรอิสระวอนปชช.ถอดอคติ

เมื่อวันที่ 22 ก.พ.เวลา 12.30 น.ที่ศูนย์การเรียนรู้ อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันอิศราและคณะผู้อบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่นที่ 4 ร่วมจัดเสวนาเวทีสาธารณะเรื่อง “ภาพลักษณ์ตำรวจไทย แบบไหนที่คุณอยากเห็น ?” มี พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ สื่อมวลชนอาวุโส และนางปนัดดา ชำนาญสุข นักวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมการเสวนา

พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลถือเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจ การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกยุค ทุกสมัย ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะสั่งตำรวจเป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ดำรงตำแหน่งอดีตรองนายกรัฐมนตรีก็สั่งการตำรวจไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทุกสมัย ตำรวจกลับกลายเป็นแพะรับบาปทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ตำรวจไม่สามารถขัดคำสั่งรัฐบาลในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ เพราะหากขัดคำสั่งถือเป็นความผิดร้ายแรงถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน

ดังนั้น อยากขอร้องไปยังประชาชนว่าอย่ามองตำรวจแบบมีอคติทางการเมือง เพราะตำรวจไม่ได้เป็นขี้ข้าใคร ไม่ได้อยากออกมากินนอนกลางถนน และเสี่ยงต่อการถูกยิงจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แต่ตำรวจต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ทำตามคำบังคับบัญชาจากทุกรัฐบาลที่เข้ามา                                                        

พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวต่อว่า หากจะแก้ไขปัญหาต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตำรวจให้หลุดพ้นจากการเมือง โดยสมัยก่อนอัยการขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย แต่ตอนนี้โครงสร้างของอัยการเป็นอิสระจากกระทรวงแล้ว แต่องค์กรตำรวจยังไม่อิสระ ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (กตช.) และคณะกรรมการตำรวจ (กตร.) ล้วนยึดโยงกับนายกรัฐมนตรีแทบทั้งสิ้น เมื่อโครงสร้างเป็นเช่นนี้ ตำรวจย่อมต้องรับใช้ผู้ที่แต่งตั้งเข้ามา คือ ผู้มีอำนาจ แต่หากเปลี่ยนโครงสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมองค์กรตำรวจ ตำรวจจะเป็นผู้รับใช้ประชาชน ไม่ใช่รับใช้แต่ฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจโยกย้าย                                        

                    
“ในเมื่อโครงสร้างยึดโยงรัฐบาล แล้วจะให้ตำรวจหลุดพ้นจากผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจได้อย่างไร ดังนั้นถ้าตำรวจไม่ดี คุณต้องด่ารัฐบาล เพราะเราไม่ได้เป็นองค์กรอิสระ เราก็อยากออกเป็นอิสระ เหมือนอัยการ ศาล ซึ่งต้องไปแก้กฎหมาย ถามว่ากฎหมายมาจากไหน กฎหมายมาจากสภา สภาก็มาจากพรรคการเมือง ซึ่งรัฐบาลทุกสมัยที่ผ่านมากลับจับตำรวจไว้เป็นเครื่องมือในสมัยรัฐบาลคมช.มีอำนาจล้นแต่ก็ไม่แก้ รวมถึงกลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกออกมาประท้วงตอนนี้ แล้วถามว่าตอนนั้นที่เป็นรัฐบาล ทำไมคุณไม่แก้ไข ทำไมคุณไม่ปฏิรูปกลไก กตร.และ กตช.” พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าว   

พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวด้วยว่า การจะแก้ปัญหาได้ ต้องปฏิรูประบบการเมืองทั้งหมด  เพราะการเมืองส่งอิทธิพลไปทุกหย่อมหญ้า แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากหากจะปฏิรูปการเมืองทั้งหมด ดังนั้นมองว่าสามารถทำเรื่องที่ง่ายก่อนได้โดยให้ตำรวจเป็นอิสระ ดูแลกันเอง ปฏิรูปกันเอง แล้วค่อยเสนอให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ เพราะเชื่อว่าไม่มีตำรวจคนใดไม่อยากรับใช้ประชาชน เพราะเงินเดือนของตำรวจล้วนเป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามตอนนี้รัฐบาลทำหน้าที่รักษาการ แต่เลือกตั้งครั้งต่อไปอยากให้นักการเมืองกล้าประกาศว่าหากเป็นนายกฯ จะไม่เข้ามาคุมตำรวจอีก   

นายบรรเจิด กล่าวว่า ปัญหาตำรวจกับการเมืองเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง ประเทศมีตำรวจทั้งสิ้นกว่าสองแสนนาย แต่กลับมีการวางโครงสร้างแบบปีระมิด โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่บนสุด เท่ากับเมื่อฝ่ายการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั้นเดียว ก็เท่ากับคุมตำรวจได้ทั้งสองแสนนาย อีกทั้งโครงสร้างยังไปเกี่ยวโยงกับกระบวนการยุติธรรมด้วย นอกจากนี้ในส่วนการบริหารงานบุคคล เมื่อถึงฤดูกาลโยกย้าย มีระบบโควตาการเมือง และการซื้อตำแหน่ง ภาระจึงถูกผลักไปสู่ประชาชนผ่านการเก็บส่วย เพราะมีต้นทุนจากการซื้อตำแหน่งสูง จึงต้องถอนทุนคืน เหล่านี้ล้วนเป็นระบบที่มีปัญหา การบริหารเชิงโครงสร้างและส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ตำรวจในที่สุด

“ระบบตำรวจที่ไปเชื่อมโยงกับกระบวนการยุติธรรม ยิ่งไปเกี่ยวโยงกับปัญหาเชิง โครงสร้าง ซึ่งในระบบยุติธรรมสากล หลายประเทศจะแยกตำรวจที่รับผิดชอบในทางคดีกับตำรวจในการดูแลความสงบ ซึ่งต้องเป็นคนละแบบกัน ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและการเติบโตสายอาชีพ รวมถึงทักษะในการปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นในต่างประเทศ การที่ตำรวจจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ตำรวจจะส่งให้อัยการเป็นผู้ตัดสินใจด้วย”  นายบรรเจิดกล่าว 

นายบรรเจิด กล่าวต่อว่า โมเดลของประเทศญี่ปุ่นน่าสนใจสำหรับประเทศไทยหากจะมีการปฏิรูปตำรวจ เพราะประเทศญี่ปุ่นมีการตั้งคณะกรรมการเรื่องความปลอดภัยสาธารณะกำกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกชั้น ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างการเมืองและตำรวจ ประกอบกับประเทศญี่ปุ่นใช้ระบบจังหวัดปกครองตัวเอง มีการตั้งคณะกรรรมการดังกล่าวควบคุมตำรวจระดับ จังหวัดด้วย โดยคณะกรรมการจะมีตัวแทนจากประชาชนเข้ามา ดังนั้นการโยกย้ายในแต่ละครั้งจะมีคณะกรรมการที่มีภาคส่วนประชาชนในพื้นที่ช่วยประเมิน เหมือนเป็นการประเมินจากประชาชน เรื่องการวิ่งเต้น หรือการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองจะไม่เข้ามา    

นายดนัย กล่าวว่า คนไทยมีนิสัยชอบคาดหวัง จึงหวังว่าผู้ที่อยู่ในวิชาชีพตำรวจจะต้องเป็นคนดีทั้งหมดและดีทุกเรื่อง แต่ปัจจุบันโครงสร้างด้านการบริหารงานบุคคลของตำรวจก็ยังมีปัญหา เราใช้งานตำรวจหนักก็ต้องดูแลเขาด้วย เพราะปัจจุบันมีแต่คนโยนเรื่องราวต่างๆ ให้ตำรวจทำ แต่ไม่เคยดูแลพวกเขาเลย

“ส่วนตัวมองว่าตำรวจมีปัญหาเดียวกับสังคม อัตลักษณ์ของสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ เพราะมีคนจ่ายตำรวจถึงรับ ขณะเดียวกันก็เป็นสังคมอำนาจนิยมด้วย นิยมใช้อำนาจแก้ปัญหาและแสวงหาอำนาจ และยังเป็นสังคมดัดจริตชอบสร้างดราม่า จากอดีตถึงปัจจุบันมีคำถามภาพลักษณ์ตำรวจ จึงอยากตั้งคำถามกลับไปว่าแล้วสังคมยังเป็นรูปแบบเดิมอยู่หรือไม่ หากสังคมยังเป็นแบบเดิมไม่ควรคาดหวังกับภาพลักษณ์สังคมตำรวจ” นายดนัยกล่าว

นายดนัย กล่าวต่อว่า การแก้ภาพลักษณ์ของตำรวจนั้น ควรย้อนกลับมาแก้ที่สังคมเป็นจุดเริ่มต้น เพราะหากแก้ไขปัญหาในสังคมไม่ได้ก็เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยต้องเริ่มจากปัญหาด้านวัฒนธรรมและโครงสร้าง ซึ่งมีความยากเนื่องจากผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนดโครงสร้าง ทั้งยังมีเรื่องของการเมืองเข้ามาแทรกแซง ส่วนปัญหาเรื่องการอุปถัมภ์นั้น ส่วนตัวมองว่าไม่มีทางแก้ไขให้หายไปได้ แต่อาจกลายเป็นการอุปถัมภ์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก่อนจะแก้ปัญหาตำรวจ ทุกคนควรถามตนเองก่อนว่าเลิกใช้เงินเพื่อแก้ปัญหา หรือเลิกฝากฝังลูกหลานเข้าโรงเรียนหรือยัง

สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวด้วยว่า ในการปฏิรูปภาพลักษณ์ตำรวจนั้น ส่วนตัวมองว่าควรเริ่มต้นจากตัวเองเสียก่อน หากคนไทยเลิกเรียกร้องให้ผู้อื่นคอยช่วยเหลือและเริ่มจัดการกับวิถีของตนเองได้แล้ว จึงค่อยเลือกว่าจะปล่อยให้เกิดการปฏิรูปโดยนักการเมือง ปฏิรูปโดยประชาชนซึ่งมีการครอบงำโดยทหาร หรือปฏิรูปบนซากปรักหักพัง

ด้านนางปนัดดา กล่าวว่า ภาพลักษณ์ตำรวจถือเป็นปัญหาด้านวัฒนธรรมและระบบโครงสร้าง แต่ปัจจุบันควรมองที่ระดับปัจเจกไม่ควรเหมารวมทั้งหมดเนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกสะสมและเป็นปัญหามานาน ทั้งยังไม่มีการชี้แจง แสดงผล หรือปรับปรุง ทำให้แต่ละคนนำเสนอจากแง่มุมที่ตนเองรับรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพลักษณ์ด้านลบ

“ปัจจุบันทุกคนมองว่าอะไรที่เป็นภัยเป็นปัญหาของสังคมนั่นคือปัญหาของตำรวจ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจก็ตาม ประชาชนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าหน้าที่ไหนเป็นของใคร เรื่องดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจถูกมองอย่างผิดเพี้ยน อย่างไรก็ตาม องค์กรตำรวจยังเกี่ยวโยงกับสถาบันอื่นในสังคมด้วยทั้งด้านการเมือง การศึกษา จึงควรมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้และเข้าใจ ทั้งในกรณีที่เกิดมีประเด็น มีความเข้าใจผิด หรือสถานการณ์ปกติ” นางปนัดดากล่าว 

นางปนัดดา กล่าวอีกว่า ในเชิงจริยธรรมงานตำรวจมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจและผลประโยชน์ ประกอบกับสังคมไทยมีลักษณะนิยมอำนาจ ดังนั้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จึงควรมีคุณสมบัติที่ดี การวางตัวให้เหมาะสม ยังต้องมีเรื่องวินัยและจิตใจที่เข้มแข็งไม่ยึดติดกับอำนาจและผลประโยชน์ เพื่อทำให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้สังคมมีความคาดหวังกับตำรวจค่อนข้างสูง

“ภาพลักษณ์ที่ทำให้ตำรวจเสื่อมเสีย แต่เกิดจากวัฒนธรรมของคนไทยก็คือการรับส่วย ส่วนตัวมองว่าระบบที่เป็นปัญหาคือระบบสั่งแห้ง ซึ่งลูกน้องต้องรับคำสั่งจากเจ้านายที่สั่งมาโดยไม่มีการสนับสนุนอื่นๆ ทั้งงบประมาณและการดูแลสวัสดิการ ทำให้ตำรวจต้องหาทรัพยากรจากด้านอื่นมาเพิ่มเติมและเกิดเป็นภาพลักษณ์เชิงลบในสายตาประชาชน อย่างไรก็ตามยังมองว่า ตำรวจถือเป็นภาพสะท้อนสังคมไทย” นางปนัดดากล่าว

นางปนัดดา กล่าวด้วยว่า สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย คนส่วนใหญ่คิดว่าต้องได้รับความคุ้มครองจากคนอื่น ฝากความหวังให้ตำรวจเป็นคุ้มครองความปลอดภัย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเราควรดูแลตนเองก่อน เพราะกำลังตำรวจมีไม่เพียงพอที่จะดูแลให้ความปลอดภัยเกิดในสังคมทั้งหมด ประกอบกับสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากอาชญากรรมเกิดขึ้นเยอะ จึงอยากให้คนไทยหันกลับมามองความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ควรมีการส่งเสริมอำนาจและสนับสนุนตำรวจ เพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีและทำให้ตำรวจไทยเกิดขวัญกำลังใจ.