posttoday

นปช.-กปปส.แลกหมัดเสี่ยงทหารล้มกระดาน

08 เมษายน 2557

เข้าสู่ยกสุดท้ายต่างฝ่ายต่างเปิดหน้าออกมาแลกหมัดแบบไม่มีใครยอมใคร ทั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เข้าสู่ยกสุดท้ายต่างฝ่ายต่างเปิดหน้าออกมาแลกหมัดแบบไม่มีใครยอมใคร ทั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เงื่อนไขสำคัญเวลานี้จับจ้องไปที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะฟันธงให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นสภาพหรือไม่ เพราะในกรณีหากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญชี้ชัดให้พ้นสภาพ นั่นย่อมส่งผลสะเทือนทำให้ ครม.ทั้งยวงต้องพ้นตำแหน่งไปด้วย และทำให้การเมืองเข้าสู่สภาวะสุญญากาศ

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเมินแนวโน้มแล้วเป็นไปได้สูงว่า เส้นทางเดินของนายกฯ ยิ่งลักษณ์นับจากนี้กำลังมุ่งหน้าไปสู่ทางตัน และยากจะคาดเดาได้ว่าการ “เปลี่ยนผ่าน” ที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางใด แต่แน่นอนว่าทั้งสองฝั่งต่างต้องทุ่มกันหมดหน้าตักเพื่อชิงความได้เปรียบในสมรภูมิที่ต่างคนต่างแพ้ไม่ได้

สัญญาณรุนแรงตั้งเค้าทันทีที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ประกาศท้าดวลชุมนุมครั้งใหญ่หลังสงกรานต์วันเดียวกับที่ทางฝั่ง กปปส.นัดชุมนุม เพื่อวัดพลังมวลชนของแต่ละฝั่ง และที่สำคัญ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ออกมารับคำท้าทายนี้ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์นับจากนี้ดุเดือด ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

การเริ่มขยับของ นปช. ตั้งแต่เปลี่ยนตัวจตุพรมานั่งเก้าอี้ประธาน และเริ่มต้นวอร์มมวลชนมาเป็นระยะทั้งการจัดงาน “ลั่นกลองรบ” มาจนถึง “ซ้อมใหญ่” ระดมพลคนเสื้อแดง ณ ถนนอุทยาน (อักษะ) แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมาย 5 แสนคนที่ตั้งไว้ แต่เชื่อว่าจำนวนคนเสื้อแดงจะเพิ่มมากขึ้นในการนัดชุมนุมรอบต่อไป

แน่นอนว่ารอบนี้ นปช.ประเมินสถานการณ์แล้ว หากไม่รีบออกมาเคลื่อนไหวคงจะต้องใช้เวลานานกว่าจะจุดกระแสมวลชนติด ยิ่งในวันที่คดีชี้ชะตาเก้าอี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์งวดเข้ามาทุกที หากยังไม่รีบปลุกกระแสเสื้อแดง อาจไล่ตามฝั่ง กปปส.ที่ออกตัวมานานกว่า 6 เดือนแล้วได้ทัน

ที่สำคัญหากเป็นเช่นนั้น ย่อมทำให้ กปปส.สามารถอาศัยช่วง “สุญญากาศ” เร่งดำเนินการปิดเกมนำไปสู่การตั้งนายกฯ คนกลาง ตั้งสภาประชาชน เดินหน้าลุยปฏิรูปตามแผนที่วางเอาไว้ นั่นทำให้ นปช.ต้องรีบระดมคนเสื้อแดงออกมาสกัดความเคลื่อนไหวนี้ ดังจะเห็นจากที่จตุพรเร่งโหมกระแสพร้อมเปิดหน้าชนกับ กปปส.

“คนเสื้อแดงขอนัดรวมพลใหญ่วันเดียวกับสุเทพ เพราะ กปปส.ต้องการท้าดวลกับคนเสื้อแดง มีมาเท่าไหร่ขนมาให้หมด เรามีเท่าไหร่จะขนมาเช่นกัน แต่เราไม่ต้องการปะทะ แต่เกมนี้เป็นเกมวัดใจคนดีที่ต้องการสันติวิธี ออกมาพร้อมกันเลย ระหว่าง กปปส.และ นปช.จะนัดระดมพลพร้อมกันเลย ใครที่ไม่เห็นด้วย ใครที่เกลียดสุเทพ ขอให้ออกมาวันที่คนเสื้อแดงนัดหมาย เราจะเลือกเดินคนละเส้นถนน หากสุเทพออกมาที่ถนนไหน เราก็จะไปอีกฝั่งตรงข้าม ให้โลกเห็นว่าใครมีคนมากกว่ากัน ใครแพ้ยกแผ่นดินให้กันไปเลย ใครชนะเอาแผ่นดินไป เดิมพันกันแบบนี้กับพวกอำมาตย์”

นอกจากนี้ การระดมพลคนเสื้อแดงยังถือเป็นการส่งสัญญาณไปถึง “กองทัพ” หรือฝ่ายต่างๆ ให้ต้องคิดหนักขึ้นหากจะอาศัยช่วงสุญญากาศเดินหน้าปฏิบัติการใดๆ ที่ไม่เป็นวิถีประชาธิปไตย ดังจะเห็นจากที่ทาง นปช.ประกาศชัดเจนจะเคลื่อนไหวต่อต้านทันทีหากมีการรัฐประหาร รวมไปถึงส่งสัญญาณไปถึงองค์กรอิสระที่กำลังจะมีคำวินิจฉัยในคดีชี้ชะตาอนาคตนายกฯ ยิ่งลักษณ์

แต่แน่นอนว่าฝั่ง กปปส.ในฐานะที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องมายาวนาน และมีจำนวนมวลชนคนห้อยนกหวีดออกมาร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลแซงหน้าเสื้อแดงไปก่อนหน้านี้ ย่อมไม่อาจปล่อยให้โอกาสที่เฝ้ารอถึงวันที่เกิดสุญญากาศนี้ต้องหลุดลอยไป นำมาสู่การรับคำท้าเตรียมวัดกำลังมวลชนชนกับ นปช.

“ตอนนี้ของเรานัดแล้ว เตรียมตัวกันแล้วและมาแน่ มาจริงไม่มีการมาซ้อม แล้วก็บอกเลยว่าเอาแพ้เอาชนะกันเลยเพราะมาอยู่หลายวัน เพราะพวกเราไม่ต้องอาศัยบัตรเติมเงิน เมื่อต่อสู้กันไปก็จะเห็นความต่างระหว่างคนที่สู้ด้วยใจรักแผ่นดินกับสู้เพื่อนายทุน สู้อย่างไรก็ไม่ชนะเรา”

การเคลื่อนไหวตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาของ กปปส.เดินหน้ามาจนถึงปลายทาง รอลุ้นแค่จะสามารถปิดเกม อาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ผลักดันนายกฯ คนกลางได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจได้หรือไม่

เมื่อเวลานี้ ทั้งประเด็นเรื่องอำนาจ ตลอดจนถึงข้อกฎหมายรองรับยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ยิ่ง นปช.เตรียมระดมมวลชนมากดดันพร้อมเคลื่อนไหวคัดค้านย่อมทำให้เส้นทางเดินของ กปปส.มีอุปสรรคขวากหนามมากยิ่งขึ้น

เพราะนอกจากมวลชนคนเสื้อแดงภายใต้การนำของ นปช.แล้ว อีกปีกหนึ่ง กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) ภายใต้การดูแลของ แรมโบ้อีสาน สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่ตั้งเป้าสร้างกองกำลังการ์ดอาสานักรบประชาธิปไตยนับแสนคนทั่วประเทศ ย่อมเป็นชนวนเพิ่มความเปราะบางให้กับสถานการณ์การเมืองที่กำลังตึงเครียดอยู่ในเวลานี้

สัญญาณอันตรายเหล่านี้ย่อมเพิ่มโอกาสการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนสองฝั่งที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ท่ามกลางบรรยากาศที่ถูกปลุกเร้ามาอย่างต่อเนื่อง สุ่มเสี่ยงจะบานปลายไปสู่ความรุนแรง อาจจะกลายเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้ “กองทัพ” ออกมาปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อสกัดกั้นความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ “ล้มกระดาน” หรือจะเป็นคนกลางนำไปสู่การเจรจาหาทางออกร่วมกันของแต่ละฝ่าย

การขับเคี่ยวในช่วงนั้นจึงถือเป็นศึกที่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำย่อมมีผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคต และนั่นทำให้แต่ละฝ่ายต้องเปิดหน้าแลกหมัดกันในเดิมพันที่ต่างคนต่างแพ้ไม่ได้