posttoday

นายกรัฐมนตรีที่ 'กล้า แกร่ง เก่ง'

13 เมษายน 2557

สืบเนื่องในเรื่องนายกฯ ของมวลมหาประชาชน เมื่อสัปดาห์ก่อนได้อธิบายถึง “ผู้นำ”

สืบเนื่องในเรื่องนายกฯ ของมวลมหาประชาชน

เมื่อสัปดาห์ก่อนได้อธิบายถึง “ผู้นำ” ในแนวคิดของคนไทย ซึ่งต้องเป็น “ผู้มากด้วยบารมี” โดยบารมีที่ดีจะต้องเกิดจากการยกย่องของบุคคลอื่นและดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ตรงข้ามกับบารมีที่ชั่วร้ายอันเกิดจาก “การสร้างภาพ” หรือ “สร้างสถานการณ์”

ผู้เขียนเป็นกรรมการในหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยของสถาบันพระปกเกล้า มาตั้งแต่ปี 2547 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้จบการศึกษาในหลักสูตรนี้ไปแล้วเกือบ 1,200 คน (คือมีการรับเข้ามาปีละ 120 คน แต่มีที่ไม่จบบ้าง ปีละ 3-4 คน) เนื้อหาหลักๆ ของหลักสูตรนี้คือ “การสร้างผู้นำ” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปตาม “อัตภาพ” หมายถึงใครเรียนแล้วเอาไปพัฒนาก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้ามาเรียนเพื่อหาเครือข่ายก็จะได้แค่นั้น

นักศึกษาในหลักสูตรนี้ต้องทำโครงงาน รุ่นแรกๆ จะเน้นไปทางการค้นหา “คุณลักษณะของผู้นำที่พึงปรารถนา” แต่ใน 4 รุ่นที่ผ่านมานี้ได้เน้นไปในเรื่องการ “พัฒนาภาวะผู้นำ” ด้วยการทำโครงการจิตอาสาแบบที่เรียกว่า Social Enterprise หรือ “การสร้างสรรค์สังคม”

ผู้เขียนต้องเข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดหลักสูตรในหลายๆ กิจกรรม ทั้งการบรรยาย การสัมมนา และลงพื้นที่กับนักศึกษา โดยเฉพาะการควบคุมโครงงานของนักศึกษา ซึ่งผู้เขียนก็มีโครงงานหรือ “โปรเจกต์ส่วนตัว” ด้วย นั่นก็คือการหาคำตอบว่า “คนไทยต้องการผู้นำอย่างไร”

กระบวนการวิจัยที่ใช้ก็คือ ร่วมสนทนาพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ แล้วหยอดคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของประเทศ เช่น ถ้านักศึกษาคนนั้นเป็นข้าราชการก็จะถามว่า “ถ้าคุณเป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวง...” หรือถ้าเป็นเอกชนและอาชีพอื่นๆ ก็จะถามว่า “ถ้าท่านเป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี...” เขาจะแก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ อย่างไร รวมทั้งการสังเกตบุคลิกภาพของนักศึกษาแต่ละคน เพื่อทำนายทายทัก(ในใจ)ว่าอนาคตจะเป็นผู้นำที่ดีได้หรือไม่ “เพราะอะไร”

คำตอบก็เป็นไปตามที่จั่วหัวไว้นี้ คือ “กล้า แกร่ง เก่ง”

เฉพาะ “ความกล้า” เป็นองค์ประกอบของผู้นำที่นักศึกษาจำนวนมากเห็นว่า “มีความสำคัญที่สุด” ในรายงานทางวิชาการของนักศึกษาบางคนค้นคว้าพบว่า ความกล้าหาญคือคุณลักษณะของ “ผู้นำแบบคลาสสิก” คือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำคนเด่นๆ ในยุคโบราณตราบกระทั่งปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการปกครองและแผ่ขยายอำนาจ รวมทั้งการสร้างความแข็งแกร่งและรักษาอาณาจักรไว้ให้มั่นคง ตลอดจนบำรุงขวัญให้ราษฎรมี ความมั่นใจ

บางคนค้นคว้าผู้นำตะวันออก คือ อินเดีย จีน และญี่ปุ่น พบว่าอินเดียขานชื่อผู้นำว่า “กษัตริย์” เพราะผู้นำคนนั้นต้องเป็นนักรบ (กษัตริย์มาจากคำว่าขัตติยะ ซึ่งแปลว่านักรบ) เทวดาซึ่งมีชีวิต “อมตะ” เพราะได้รับน้ำอำมฤต และเป็นผู้กล้าที่เรียกว่า “สุระ” ในขณะที่พวกยักษ์จะไม่ได้รับน้ำอำมฤตและอยู่ในสภาพที่ “ไม่กล้า” หรือ “อสุระ” ที่กร่อนมาเป็นคำว่า “อสูร”

ในเรื่อง “ไคเภ็ก” ซึ่งเป็นเหมือนตำนานกำเนิดชนชาติจีนก็มีเรื่องราวของบรมกษัตริย์ที่ต้องฝ่าฟันทุกข์ยาก “ด้วยความกล้าหาญ” เพื่อสร้างแผ่นดินจีนให้รุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น โดยเฉพาะการฝ่าฟันกับภัยธรรมชาตินานา และการต่อสู้กับศัตรูที่ชั่วร้ายต่างๆ ส่วนในตำนานเรื่องการเกิดชาติญี่ปุ่น กล่าวถึงปฐมกษัตริย์พระนามว่า “จิมมุ” ผู้เสด็จปราบรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ แล้วสร้างชาติญี่ปุ่นขึ้นเมื่อ 2,600 ปีนั้น คำว่า “จิมมุ” ก็แปลว่า“สุรเทพ” คือ “เทพยดาที่แกล้วกล้า”

ในส่วนผู้นำของไทย เริ่มต้นจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ของไทยผู้ทรงสร้างกรุงสุโขทัย ก็สยบศัตรูซึ่งก็คือขอมที่เป็นใหญ่อยู่บนดินแดนแห่งนี้ด้วยการแสดงความกล้าหาญในการนำพันธมิตรแว่นแคว้นเพื่อนบ้านต่อต้านอำนาจขอม เช่นเดียวกันกับปฐมกษัตริย์ของอยุธยาที่เข้ามาครอบครองสุโขทัยต่อมา ก็อาศัยความกล้าหาญสร้างกำลังกองทัพให้น่าเกรงขามเหนือกว่า จนสุโขทัยต้องยอมสยบ ทั้งยังได้ใช้ความกล้าหาญนี้ต่อสู้กับพม่ามาอีกจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ว่ากันว่า ถ้ารัชกาลที่ 4 และ 5 ไม่มี “ความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง” เราก็คงตกเป็นเมืองขึ้นหรือไม่ก็ถูกอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นแยกประเทศไทยออกเป็นส่วนๆ ไปแล้ว เช่นเดียวกันกับคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ถ้าไม่ตัดสินใจด้วย “ความกล้าหาญ” ก็คงจะกระทำการในวันนั้นไม่สำเร็จ ผู้นำบางคนแม้จะเป็นเผด็จการ แต่ด้วยความกล้าหาญที่ใช้แก้ปัญหาของประเทศ อย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ยังถูกจดจำเป็นประวัติศาสตร์ หรือผู้นำในภาวะวุ่นวายอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชที่กล้าแหกกฎของฝ่ายอนุรักษ์ไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนแดง ก็ปรากฏเป็นชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ส่วนความ “แกร่งและเก่ง” เป็นแค่“องค์ประกอบรอง” ซึ่งคงไม่มีเนื้อที่พอจะอธิบายให้ละเอียดได้ทั้งหมด แต่จะขอสรุปว่า “ความแกร่ง” นี้ผู้นำทุกคนจำเป็นต้องมี เพราะมีความหมายรวมถึงความเข้มแข็ง ความอดทน และความพยายาม ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นนักต่อสู้ รวมทั้ง “ความเก่ง” ก็จะรวมหมายถึงสติปัญญา ความฉลาด และไหวพริบ ซึ่งก็คือความสามารถในการปรับตัวและการแก้ไขสถานการณ์ อันเป็นเครื่องมือสร้างความสำเร็จให้แก่ผู้นำ

ในงานของนักศึกษาที่ศึกษาถึงชีวิตและผลงานของผู้นำแต่ละคน ในตอนท้ายจะมีการตั้งข้อสังเกตของนักศึกษาถึง “จุดเด่นจุดด้อย” ของผู้นำที่ได้นำเสนอมา ซึ่งผู้เขียนสกัดความได้ว่า แม้ผู้นำจะต้องมีความกล้าเป็นคุณลักษณะในอันดับแรก แต่ก็ต้องเป็นความกล้าที่ตั้งอยู่บนหลัก “เหตุผลเชิงอุดมการณ์” คือต้องมี “จุดมุ่ง” และ“เป้าหมาย” อันเป็นที่ยอมรับของกระแสสังคม

ผู้นำหลายคนมีลักษณะ “กล้าบ้าบิ่น” คือไม่ได้ตั้งอยู่บน“ทำนองคลองธรรม” คิดเอาแต่ผลประโยชน์ด้วยการกระทำทุกวิถีทางด้วยความซ่อนเร้น หรือมีเจตนาทุจริต ซึ่งนักศึกษาหลายคนก็ยกตัวอย่างถึง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ว่า ถ้าแกไม่คิด“มักใหญ่” จนเกินตัว กระทั่งเป็นความกล้าที่น่ากลัว เพราะด้วยความฉลาดที่แกมีร่วมกับ “บารมี” อันเป็นที่ยอมรับ อาจทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่านี้ และอาจถึงขั้นทำให้แกเป็น “วีรบุรุษ” อีกคนหนึ่งของประเทศไทย

ประเทศไทยเรามีคนเก่งพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลายคน แต่ก็ปฏิเสธที่จะมาอยู่ในตำแหน่งที่ทรงอำนาจนี้ เพราะเขายังขาด “ความกล้า” ที่จะนำมาซึ่ง “ความแกร่ง” เพื่อที่จะรักษา ตัวรอดด้วยความอดทนอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเป้าแก่งแย่งซึ่งผลประโยชน์ต่างๆ แต่ถ้าเขาเหล่านี้ใช้ “ทำนองคลองธรรม” นำความคิดจนเกิดเป็น “อุดมการณ์” ก็อาจจะเกิดความกล้าขึ้นได้

ขอเพียงท่านกล้า มวลมหาประชาชนก็จะยอมรับ