เปิดแผนขอนแก่นโมเดลต้านทหาร
ขอนแก่นโมเดลอาจไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้าม หลังกำลังทหารกรมทหารราบที่ 8
ขอนแก่นโมเดลอาจไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้าม หลังกำลังทหารกรมทหารราบที่ 8 (ร.8) ค่ายสีหราชเดโชไชย จ.ขอนแก่น บุกจับกุมกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตย หรือ อพปช. 21 คน พร้อมของกลางวัตถุระเบิดและเครื่องกระสุนกลางเมืองขอนแก่น เมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 พ.ค. กำลังทหารในพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงก็เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ที่ จ.นครราชสีมา มีการเพิ่มจุดตรวจจาก 11 จุด เป็น 14 จุด จ.ขอนแก่น นอกจากพบว่าทหารออกลาดตระเวนถี่ขึ้นแล้ว ยังมีการวางกำลังเพิ่มเพื่อดูแลระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ กำลังทหารประจำอยู่ที่บริเวณประตูช้างเผือก เช่นเดียวกับที่ จ.อุบลราชธานี ทหารวางกำลังบริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย เพื่อป้องกันมิให้มีมวลชนรวมตัวจัดกิจกรรมต้านรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มมาตรการควบคุมการผ่านแดนไทยกัมพูชา ซึ่งฝ่ายทหารพบข้อมูลว่ามีการลักลอบขนอาวุธ นอกจากการปิดด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ และด่านช่องตะกู จ.บุรีรัมย์ ไปตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.แล้ว ล่าสุด วันที่ 24 พ.ค. ยังมีการตั้งด่านตรวจเข้มเส้นทางที่ไปยังด่านพรมแดนทุกจุด
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ติดตามเรื่องอาวุธสงครามที่ยังพบอยู่จำนวนมาก การจับกุมอาวุธสงครามได้ที่ จ.นครนายก ด้านหลังเวทีการชุมนุม นปช. ถนนอักษะ จ.ลพบุรี สมุทรสาคร และล่าสุดที่ขอนแก่น ซึ่งทุกคดีมีความเชื่อมโยงกัน
“ที่ จ.ขอนแก่น เป็นการจับกุมอาวุธสงครามที่จะก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่มี มีชัย ม่วงมนตรี แกนนำกองทัพปราบกบฏ และประทิน จันทร์เกตุ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้รับคำสั่งจากแกนนำ นปช.ให้ก่อเหตุในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นขอนแก่นโมเดล”
ด้าน พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งควบคุมปฏิบัติการจับกุมครั้งนี้ก็กล่าวว่า กลุ่ม อพปช.ทั้ง 21 คน มีการนัดประชุมวางแผนเตรียมก่อเหตุร้ายในเขต จ.ขอนแก่น และหลายจังหวัดของภาคอีสาน โดยเช่าห้องพักชลพฤกษ์ อพาร์ตเมนต์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น จำนวน 3 ห้อง
“การสอบปากคำทั้งหมดได้ให้ความร่วมมือและซัดทอดจนได้ข้อมูลที่แน่ชัดในการปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้การทำงานของทหารจะต้องเข้มข้นและรัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลด้านการข่าวของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เพราะการชุมนุมดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินงานไปในรูปแบบขอนแก่นโมเดล ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 2 ยังคงเฝ้าจับตาพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวใน 4 จังหวัดของภาคอีสาน ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และกาฬสินธุ์”
ด้านแหล่งข่าวความมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการขอนแก่นโมเดล ซึ่งกลุ่มที่ถูกจับกุมเตรียมก่อเหตุคือ การลอบปาระเบิด หรือวางเพลิงสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อทำให้เห็นว่าทหารไม่สามารถคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้ จากนั้นก็จะระดมมวลชนออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร
สำหรับพื้นที่ซึ่งจับตาเป็นพิเศษในขณะนี้คือ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีมวลชนหลายกลุ่ม รวมทั้งทหารนอกแถวบางกลุ่มที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมาย อาทิ พนันฟุตบอล จ.นครราชสีมา ซึ่งมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มอดีตเจ้าหน้าที่บางหน่วยงาน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่ม นปช.ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และ จ.อุดรธานี ซึ่งพบความเคลื่อนไหวมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมฝึกกับกลุ่ม อพปช.
“มีชัยแกนนำของกลุ่มที่ถูกจับกุมได้เป็นนักการเมืองท้องถิ่นใน จ.ร้อยเอ็ด และเป็นประธาน นปช.ร้อยเอ็ด เชื่อว่ายังมีเครือข่ายอีกมากกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งทำให้ฝ่ายความมั่นคงในทุกจังหวัดที่มวลชนยังเคลื่อนไหวอยู่ ต้องเร่งตามตัวแกนนำมาพบและควบคุมตัวไว้สักระยะ เพื่อให้สถานการณ์อยู่ในภาวะที่นิ่งพอที่จะมั่นใจได้ เพราะขณะนี้ยังมีแกนนำอีกหลายคนที่ยังไม่เข้ารายงานตัว รวมทั้งบางส่วนที่ข้ามแดนไปหลบซ่อนอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน” แหล่งข่าว เปิดเผย
ด้าน พล.ต.ประวิทย์ หูแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า สุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประธาน อพปช. ได้เข้ารายงานตัวแล้ว พร้อมกับ อนุวัฒน์ ทินราช รองนายก อบจ.นครราชสีมา ในฐานะประธาน นปช.อีสาน เสนอ นันทน์ธนกุล ประธาน อพปช.นครราชสีมา ได้เข้ารายงานตัว และทหารจะควบคุมตัวไว้ระยะหนึ่ง
ขณะที่ จ.อุบลราชธานี เกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กานต์ กัลป์ตินันท์ ชูวิทย์ (กุ่ย) พิทักษ์พรพัลลภ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย พิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือดีเจต้อย แกนนำกลุ่ม นปช.อุบลราชธานี จ.ส.อ.สมจิตร สุทธิพันธ์ ศักดิ์สิทธิ์ กิ่งมาลา แกนนำแดงฮาร์ดคอร์ ได้เข้ารายงานตัวกับ พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผบ.ร.6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี แล้วเช่นกัน