posttoday

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (2)

01 มิถุนายน 2557

นอกจากนั้นยังปรากฏข้อความเกี่ยวกับโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำ

นอกจากนั้นยังปรากฏข้อความเกี่ยวกับโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี พร้อมด้วยพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีก มีข้อความดังต่อไปนี้

“ณ เดือนหก ปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาสแห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้นประดับพระองค์ทรงพระมหามงกุฎ สมมุติวงศ์อย่างเทพอัปสร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาส กรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นพระอิศวร ทรงพระมหากฐินทรงประดับ (หรือทรงประพาส) เครื่องต้นเป็นพระอิศวรประสาทพร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรขึ้นไปส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักขิณาวัฏแล้วประสาทพระพร เจ้าบุตรแก้วรับพระกรลงจากยานุมาศขึ้นเกยพระมหาปราสาท”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุดังกล่าวไว้ว่า


“โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้ คลาดปีกันอยู่กับในพงศาวดารปีหนึ่ง รายการที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเลื่อนลอยมาก ดูเหมือนแลดูตัวอย่างใหม่ๆ กล่าวประจบให้เป็นเก่า ที่จนอั้นก็อั้นทีเดียว เช่นทำเขาไกรลาศที่ไหนไม่รู้ ชี้แผนที่วังไม่ถูก ว่าไปทรงเสลี่ยงทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างในไปที่สระอโนดาต ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ในพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่า ใครจูงทีเดียว ในพงศาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ว่า ทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย เห็นจะเห็นกรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อครั้งโกนจุกลูกหญิงศรีวิไลย แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริงตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ เพราะมีตัวอย่างเมืองเครื่องต้นทพแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรงเมื่อแห่ผนวชเป็นคราวแรก เพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตรกรมขุนเสนานุรักษ์ และกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ว่างามนักทั้ง 2 พระองค์ เห็นจะโปรดให้ทอดพระเนตร ยังมีตัวอย่างต่อมาอีก ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเมื่อแห่ผนวชรัชกาลที่ 3 นี้ ถ้าไม่มีตัวอย่างท่านคงไม่ทรงริขึ้น ในชั้นต้นที่จะสอบสวนเรื่องโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (2)

 

ได้ดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ซึ่งกรมหลวงชำระไว้อื่นๆ ก็ได้ความชัดเจน แต่ข้อที่เขาไกรลาสตั้งแห่งใดไม่ปรากฏ กับมีข้อความที่จะแปลว่ากระไรไม่ได้คือ “ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ เพลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน” อีกข้อซึ่งกล่าวว่า “เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน” ข้อความที่คัดลงในจดหมายเหตุนี้ ปรากฏว่าได้คัดในร่างหมายซึ่งยังมีอยู่โดยมาก เว้นไว้แต่ความ 2 ข้อที่กล่าวมานี้ ผู้อ่านหมายไม่เข้าใจหรือเอาปากไวเอาการใหม่ปนการเก่าก็จะเป็นได้ ในร่างหมายนี้เองมีตัวแก้ไขจากลายมือเดิมหลายแห่ง กลัวจะต้องตำรากระทรวงวัง ถ้าจะมีการอะไร เอาร่างหมายเก่าออกมาตกแทรงวงกา แล้วให้เสมียนคัดขึ้นเป็นหมายใหม่ จึงเลอะเทอะไปก็มี การที่จะอ่านต้องเข้าใจ ในที่นี้จะเก็บข้อความจากหมายเก่าเอาแต่สิ่งที่สำคัญควรสังเกต

หมายฉบับนี้ “เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รับสั่งให้โปรดเกล้าฯ กำหนดงานสวดมนต์ ณ วันเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย 2 โมง 6 บาท พระสงฆ์ 50 รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ พระฤกษ์จรดพระกรรบิดกรรไกร ณ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ 4 ค่ำ 5 ค่ำ สมโภชเวียนเทียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 3 วัน”

เขาไกรลาศพิเคราะห์ดู ได้ความจากวางริ้ว เวลาถึงพระมหาปราสาทและเวลากลับจากพระมหาปราสาท ว่าตั้งที่เก๋งกรงนก คือ ใกล้ไปข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระบวนแห่ก็ตามอัตรา คือ คู่แห่เด็ก 80-84 ทั้งต้นเชือกปลายเชือก แตรใน 9 เครื่อง 21 พระแสง 5 บัณเฑาะว์ 2 อินทร์พรหม 16 หามพระราชยาน 10 เครื่องหลัง 8 พระแสง 2 รวมกระบวนใน 175 กระบวนนอกคู่แห่ผู้ใหญ่ 80 แตร 42 กลองชนะ 40 ในหมายมีแต่กระบวนข้างหน้า กำหนดแตรตามระยะทาง เช่นโสกันต์ชั้นหลังๆการที่วางกระบวนเมื่อถึงเกยก็อย่างชั้นหลังๆ แต่นางเชิญเครื่องเชิญพระแสงหลัง ให้เลี้ยวขึ้นอัฒจันทร์ปราสาท นางสระเข้าประตูพรหม

มีกำหนดผู้ตรวจตรา ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเข้ามาจัดกระบวนในพระราชวัง ให้เจ้าพระยายมราชจัดกระบวนที่ประตูราชสำราญ เจ้าพระยามหาเสนาจัดที่ประตูวิเศษชัยศรีข้างใน เจ้าพระยาธรรมาจัดที่เกยพระมหาปราสาท เมื่อกระบวนเดินพ้นมาแล้ว จึงให้เจ้าพระยาทั้งสามเดินตามกระบวนมา

วันสรงที่เขาไกรลาศ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชจัดการที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าพระยามหาเสนา ตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าพระยาธรรมา ตะวันตกเฉียงใต้ เจ้าพระยายมราช ตะวันตกเฉียงเหนือ พอโสกันต์เสร็จแล้ว ถวายผ้าสบงแล้วกลับเข้าไปที่ท้ายพระมหาปราสาท ทรงตักบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาท ตักบาตรนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่พระเข้าไปรับ ตักข้าวลงในบาตรสำหรับเลี้ยงพระ ซึ่งกำลังสวดถวายพรพระอยู่ ครั้นทรงบาตรเสร็จแล้วเสด็จกลับออกมาทางที่เสด็จเข้าไปนั้น จึงลงมาทรงพระเสลี่ยงน้อยไปสรงที่สระอโนดาต

มีแปลกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าไม่ได้แต่งพระองค์ในมณฑป จะลงมาแต่งที่รักแร้ข้างหนึ่ง ที่เรียกว่ามุมตะวันตกข้างเหนือ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อข้อนี้ เห็นจะแดดร้อนนัก และตัวหนังสือที่เขียนลงไว้เป็นตัวเล็กๆ ใครจะเขียนเพิ่มเติมลงไปก็ไม่ทราบ นอกจากนั้นก็ไม่มีแปลกประหลาดอะไรจากโสกันต์ครั้งหลังๆ

เจ้าบุตรแก้วที่สำหรับรับพระกรนี้ ได้เห็นชื่อในบัญชีเป็นผู้เลี้ยงพระฉันจุรูป 1 ในจำนวนมากด้วยกันนั้น พระที่ฉันสำรับเจ้าบุตรแก้วเป็นพระสมุห์วัดบางลำพู ฉันไก่ต้ม 3 ตัว ไก่จาน 1 นมโค 1 โถ ที่จะเป็นลูกสาวเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตที่มีชื่อในพระราชสาส์นเวียงจันทน์เมื่อแผ่นดินกรุงธนรับพระกรในที่นี้ คือ เวลาไปทรงฟังสวด ไม่ใช่รับที่เขาไกรลาศ”

จบพระราชวิจารณ์ในจดหมายเหตุความทรงจำฯ แต่เพียงนี้

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีโสกันต์ได้ปีเดียว สมเด็จพระชนกนาถก็เสด็จสวรรคต