posttoday

ผู้กอบกู้ดีเอสไอ

29 มิถุนายน 2557

หลายฝ่ายจับจ้องการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษยุคใหม่หลังยุคธาริต เพ็งดิษฐ์

โดย...เอกชัย จั่นทอง/กันติพิชญ์ ใจบุญ

หลายฝ่ายจับจ้องการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษยุคใหม่หลังยุคธาริต เพ็งดิษฐ์ ถูกวิจารณ์หนักว่ารับใช้การเมือง ไม่มีความเป็นธรรมหลงเหลือ

เมื่อเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจ ส่ง “บิ๊กเปี๊ยก” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จากคำสั่งแต่งตั้งสดๆ ร้อนๆ เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา หวังกู้ภาพลักษณ์องค์กรให้กลับมาผงาดอีกครั้ง

“บิ๊กเปี๊ยก” เป็นนายตำรวจสอบสวนมือดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เส้นทางในอดีตเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 30 เติบโตในสายงานของพนักงานสอบสวนมาโดยตลอด รับราชการครั้งแรกเป็นพนักงานสอบสวน สน.พญาไท บางเขน บุปผาราม และบางยี่ขัน ก่อนไต่เต้าขึ้นชั้นนายพล ผ่านตำแหน่งสำคัญมากมาย อย่างรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและสอบสวน ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา ล่าสุดนั่งตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โพสต์ทูเดย์มีนัดจับเข่าคุยภายในห้องทำงานชั้น 11 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ของ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ล้วงลึกความคิดทิศทางการทำงานภายใต้ “ความท้าทาย-แรงกดดัน” จากสังคมที่มองว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นองค์กรรับใช้การเมือง ซึ่ง ที่สุดแล้วดีเอสไอจะเดินไปอย่างไรในยุคนายตำรวจมือดีคนนี้??? เมื่อวันนี้ครบ 1 เดือนเต็มกับการปฏิบัติหน้าที่อธิบดีดีเอสไอ แน่นอนเมื่อเข้ามานั่งตึกนี้ต้องทราบดีว่าที่ผ่านมาดีเอสไอเกิดข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนใดที่ทำให้หน่วยงานนี้มีภาพลักษณ์ตกต่ำสุดๆ

ยุคก่อนทำคดีเล็ก

ไม่เป็นกลาง การเมืองยุ่ง

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ เปิดวงสนทนาย้อนปัญหาในห้วงเวลาการทำงานของดีเอสไอที่ผ่านมาว่า ถ้ายึดหลักตามกฎหมายก็มีความชัดเจน กฎหมายของดีเอสไอเป็นการให้ดุลยพินิจกับตัวอธิบดี แต่ในการอนุมัติให้เป็นคดีพิเศษหรือว่าการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการคดีพิเศษตัวอธิบดีมีบทบาทมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผ่านมา คนมองว่าดีเอสไอนำคดีเข้ามาในความรับผิดชอบเป็นคดีพิเศษ บางเรื่องมันไม่ใช่คดีพิเศษหรือมันน่าจะเป็นเรื่องของตำรวจท้องที่ทำคดีมากกว่า พอดีเอสไอไปเกี่ยวข้องกับการเมือง คือเหมือนกับว่าไปทำให้กลุ่มหนึ่งเพื่อจะไปทำลายอีกกลุ่มหนึ่ง จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเกี่ยวข้อง เหมือนเกิดความไม่เป็นกลาง ซึ่งความจริงการทำงานของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นกลาง แล้วก็ทำด้วยความเป็นธรรม แต่ที่ผ่านมาถูกมองเป็นอย่างนั้น

“ก็คงไม่ต้องวิจารณ์ว่าเป็นยังไง สิ่งที่ประชาชนได้เห็นได้ดูก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น เพราะว่าตัวเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจไปทางอย่างนั้น ผลก็เลยออกมาเป็นภาพของดีเอสไอว่าไม่น่าจะไปทำคดีเล็กๆ หรือว่าไปเกี่ยวข้องกับทางการเมือง”

ทำไมที่ผ่านมาดีเอสไอถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง? อธิบดีดีเอสไอตอบว่า มันมีเรื่องการกระทำความผิดบางเรื่องที่มีคนที่อยู่ฝั่งทางการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง อาจจะเป็นผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา หรือถูกกล่าวหาก็ตาม ซึ่งความผิดที่เขาทำมันไม่เข้าข่าย แต่ว่ามันสามารถโยงได้ เช่น ถ้าบอกว่าที่ทำนี้ไม่ได้ทำคนเดียว แต่เป็นกระบวนการ มีคนที่เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง มีการแบ่งหน้าที่กัน มันอาจจะคิดได้ว่านี่คือกระบวนการ เช่นเดียวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ยกตัวอย่าง พูดถึงคำว่ากบฏ หรือคำว่าหมิ่นมันก็จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างนี้ก็มองว่าเป็นเรื่องที่สอบสวนได้ แต่อีกส่วนก็ไปมองว่าเรื่องพวกนี้เข้าไม่ได้ แต่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพัน อะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ได้หมด แล้วเอาเรื่องเหล่านี้มาขอความเห็นคณะกรรมการคดีพิเศษ คณะกรรมการก็มีมติ 2 ใน 3 สามารถเอามาสอบสวนเป็นคดีพิเศษได้

“การที่ท่านทำมา ท่านจะเอาเรื่องนี้มาทำได้ ท่านจะต้องพยายามอธิบายให้มันเข้าหลักเกณฑ์ ให้คณะกรรมการเห็นชอบ ก็ถือว่าเป็นคดีพิเศษ แต่ถ้าเป็นคดีที่ไม่ผ่านบอร์ด ไม่ผ่านคณะกรรมการ มันก็เป็นเรื่องที่อธิบดีต้องรับผิดชอบ”

“บิ๊กเปี๊ยก” ขยายความว่า มีอันหนึ่งที่ทำให้เบี่ยงเบนได้ ก็คือคำว่า คดีพิเศษ 5 ข้อ ซึ่งเป็นเหมือนเรื่องนามธรรม เพราะไม่มีเรื่องจำนวนตัวเลข จะมาบอกว่าเข้าข่ายอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายนี้ตอนออกมาใหม่ต้องให้มีกรอบกฎเกณฑ์ไว้ เช่น คดีทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า เขาจะบอกจำนวนของกลาง มูลค่าความเสียหาย เมื่อก่อนเคยมี แต่ตอนหลังอธิบดียกเลิกไม่ต้องดูเรื่องพวกนั้น มาดูหลัก 5 ข้อคดีพิเศษแทน

“ในสายตาสังคม เขาคัดค้านว่าไม่น่าจะใช่ ถ้าจะบอกว่าท่านไม่ถูก เพราะมันอยู่ในดุลยพินิจของท่าน ถ้าในแง่กฎหมายไม่มีปัญหา แต่ในความรู้สึก บางเรื่องมันไม่ควร บางเรื่องมีผลกระทบกับคนกลุ่มหนึ่ง ดูไม่เป็นกลาง ตรงนี้ทำให้มองว่าการทำงานของ ดีเอสไอมันน่าจะไม่ใช่ในความรู้สึกที่เห็น องค์กรไม่เกี่ยว ตัวบทกฎหมายก็ไม่เกี่ยว อยู่ที่ตัวคน จากตัวคนจึงนำมาคิดว่าจะเป็นยังไง ตัวอธิบดีมีโอกาสใช้ดุลยพินิจ คนเป็นอธิบดีของที่นี่ต้องชัดเจน ต้องอธิบายได้ว่าเป็นคดีพิเศษจริง”

คดีไหนที่มีความสำคัญในตอนนี้? พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า การเข้ารับหน้าที่ครั้งนี้ไม่มีเป้าหมายที่จะรื้อฟื้นคดีเดิม แต่คดีไหน ที่สอบสวนไม่เสร็จก็ต้องสอบสวนให้เสร็จ ต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด ใครผิดว่าไปตามผิด ใครถูกว่าไปตามถูก คดีเก่าที่สรุปส่งอัยการไป แต่เรื่องยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องไปทำ เรามีฐานข้อมูลมีต้นเรื่อง สอบสวนเพิ่มเติม ตรงนี้ก็ต้องทำ

“คดีที่ทำตอนนี้ ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เสร็จหมดแล้ว มีแต่คดีที่เกี่ยวเนื่อง เช่น คดีเรื่องขัดขวางการเลือกตั้งที่ได้โอนมา ส่วนคดีที่ผมพยายามถามสำนัก เช่น คดีแชร์ลูกโซ่ มันก็จะมีเรื่องการหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชน ต้องทำเพราะกระทบกับประชาชนวงกว้าง คดีภาษี เรื่องรถหรู อันนี้เดินอยู่ไม่ได้หยุด หรือคดีเจ้าหน้าที่รัฐฮั้วประมูลทุจริต

ส่วนคดีความมั่นคง บางเรื่องก็ทำ บางเรื่องมีหลักฐานเพิ่มเติมมา อย่างเรื่องคดีการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 คดีพวกนี้มันโยงกัน ผมพยายามให้เจ้าหน้าที่อธิบาย เอาสำนวนมาดู มันสมบูรณ์เสร็จเรียบร้อยดีไหม ถ้าดูแล้วไม่ครบถ้วน เราก็จะให้มีการสืบสวน ดำเนินคดีเพิ่มเติม”

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ระบุว่า คดีที่ดีเอสไอทำมาทั้งหมด ในส่วนที่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ใช้ปืนยิงชาวบ้าน ผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ปืนยิง แต่เป็นการยิงมาจากอีกฝ่าย จึงมีการตอบโต้ ก็ต้องดูว่าสำนวนสมบูรณ์จริงหรือไม่ แต่ถ้ามีคนมาบอกมีหลักฐานมาเชื่อมโยง หรือคดีระเบิดที่ไม่ครบถ้วน มันมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่การสอบสวนยังไม่ครบถ้วน คือเราไม่รื้อคดี

ผู้นำต้องไม่เป๋

ใครเกี่ยวพันผลประโยชน์ เอาตายแน่

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบางคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมาก เพราะคดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบ เป็นอาชญากรรมรุนแรง อย่างเรื่องเศรษฐกิจ มีมูลค่าความ เสียหายเป็นตัวเงินมาก ดังนั้นต้องทำให้คนในองค์กรไม่วอกแวก ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ ซึ่งปัจจุบันค่าตอบแทนของคนในองค์กรนี้ที่สูง ไม่เหมือนกับตำรวจชั้นประทวนที่ได้แค่ 3,000 บาท แต่ที่นี่เริ่มเป็นหมื่นกว่าบาท นี่ยังไม่รวมเงินเดือน ฉะนั้นต้องทำให้เขาพึงระลึกว่าค่าตอบแทนที่มีอยู่สูงแล้ว ดังนั้นต้องมีเกียรติ

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ เล่าว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ทำงานเต็มที่ เวลาเปิดคดีสามารถเบิกเงินได้ และต้องตอบโจทย์ได้ แล้วถ้าทุกคนมั่นคงในหน้าที่ สร้างจุดนี้ขึ้นมาได้ ก็จะไม่สนใจเรื่องผลประโยชน์

“ผมเหนื่อยกับเรื่องตรงนี้ นับหนึ่งคือคนที่มาจากความหลากหลาย และความซื่อสัตย์ ตัวผมชัดเจน ไม่ข้องเกี่ยว เพราะถ้าผมทำ ข้างล่างก็รู้ ผมต้องทำตัวเองให้ชัด ตัวคนที่ทำงานวันนี้ ถ้าใครฝืน ทำความเสียหาย ผมเอาตาย เพราะถือว่าเราพูดคุยกันแล้ว

...วันนี้ผมมาปฏิบัติหน้าที่ คนที่มาตรงนี้ ต้องไม่ทำให้สังคมมองว่าคุณเข้าอีหรอบเดิม อันนี้ต้องทำให้เห็น แล้วยิ่งตอนนี้มาโดนสถานการณ์พิเศษ เมื่อ คสช.เลือกผมมา ผมก็แสดงบทบาทนี้ให้เห็นว่าผมจะไม่พยายามไปแสดงบทบาทอะไรกับใคร ไปมองฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ หรือเอาคดีเก่ามารื้อ ผมไม่ทำ ผมทำตามหน้าที่ คดีที่ค้างทำต่อ คดีใหม่ก็ทำต่อ เราคงไม่อยากดูหรือรื้อฟื้นเรื่องเก่า ไม่อยากถูกมองอย่างนั้น ประเด็นสำคัญคือเราต้องลดความขัดแย้ง สร้างความสามัคคี ปรองดอง ไม่แบ่งฝักฝ่าย กฎหมายโปร่งใส

...ผมคิดว่าวันนี้อนาคตดีเอสไอต้องเป็นแบบนี้ ไม่งั้นองค์กร อยู่ไม่ได้ เพราะการบริหารลูกน้องก็อยู่ที่ตัวผู้นำ ถ้าชัดเจน ลูกน้องเดินตามอย่างนั้น ถ้าผู้นำเป๋ ลูกน้องเป๋ตาม” บิ๊กเปี๊ยก ย้ำชัดกู้ภาพลักษณ์ดีเอสไอ

กระนั้นเจ้าตัวยังยืนยันความแน่วแน่ด้านการทำงานว่า ผู้นำองค์กรต้องพยายามนำไปสู่เป้าหมาย ถ้าผู้นำไม่แสดงชัด ข้างล่างก็เริ่มส่าย ถ้าผู้นำไม่เชี่ยวชาญ ไม่คำนึงถึงเกียรติขององค์กร ลูกน้องก็ไม่ต้องพูดถึง สิ่งที่ตามมาคือองค์กรอยู่ไม่ได้ เพราะคนในองค์กร อันนี้คือสิ่งที่ดีเอสไอต้องคิดถึง

“เรื่องงานผมไม่ห่วง เพราะเป็นงานถนัดเลยสอบสวนสืบสวน ผมเป็นตำรวจนักกฎหมายนี่นา แต่ที่ห่วงในดีเอสไอคือเรื่องคนเท่านั้น เพราะต่างคนต่างที่มา อีโก้ก็ต้องสูง ใครมาก็ต้องหวังความก้าวหน้า ผมก็ต้องเข้ามาปรับเปลี่ยนใหม่ อย่างกติกาการรับพนักงานเข้ามาทำงานในดีเอสไอ ผมไม่ใช้วิธีจิ้มเอาเหมือนที่ผ่านมา แต่เปิดรับสมัครสอบตามความสมัครใจ ใครเจ๋งจริงเก่งจริงได้เข้ามาทำงาน