ทำวัตรพระการขอขมา เพื่อความปรองดองของสงฆ์
วันเข้าพรรษา ปีนี้ตรงกับวันที่ 12 ก.ค. 2557 พระสงฆ์แต่ละวัดจะต้องอธิษฐานพรรษา
วันเข้าพรรษา ปีนี้ตรงกับวันที่ 12 ก.ค. 2557 พระสงฆ์แต่ละวัดจะต้องอธิษฐานพรรษาว่าจะจำพรรษาในวัดหรืออารามแห่งนี้เป็นเวลา 3 เดือน โดยจะไม่ไปค้างคืนนอกอารามที่ตนอธิษฐาน พระสงฆ์เถรวาทนิยมปฏิบัติต่อเนื่องตามพระวินัยมานานนับได้ 2,600 ปี นับแต่วันเข้าพรรษาแรกแห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี หลังจากทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า แล้วเกิดสังฆรัตนะ
พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางรัตตัญญู เพราะเป็นพระเถระที่มีอายุสูงมากแล้ว เมื่ออุปสมบทคาดว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 70 ปี โดยประเมินจากการได้รับเชิญในฐานะพราหมณ์คนหนึ่งในจำนวน 80 ท่าน ที่มีคุณสมบัติสูงให้เข้ามาทำนายมหาปุริสลักษณะของพระโพธิสัตว์เมื่อแรกประสูติ ตอนนั้นน่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 35 ปี และเมื่อพระสิทธัตถะโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ 35 พรรษา ดังนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะจึงมีอายุประมาณ 70 ปี หลังจากอุปสมบทเป็นพระสงฆ์รูปแรกและมีอายุมาก บทบาทของท่านหลังจากนั้นไม่มีอะไรเด่นเป็นที่จดจำ และได้ปลีกตัวไปหาความวิเวกในเชิงป่าหิมพานต์ และนิพพานเมื่ออายุได้ประมาณ 80 ปี
ย้อนกลับมาดูชุมชนไทยที่รับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นแนวทางชีวิต ต่อเนื่องตั้งแต่ที่เรียกดินแดนแถบนี้ว่าสุวรรณภูมิ หรือหลังพุทธกาล 300 ปี ถึงปัจจุบัน มีประเพณีการบวชและการสึกเป็นประจำในวันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา
ประเพณีที่น่าจะกล่าวถึงในวันเข้าพรรษาสำหรับพระสงฆ์ไทย ทั้งมหานิกายและธรรมยุตต้องปฏิบัติเหมือนกัน คือ การทำวัตรพระเถระหรือพระผู้ปกครอง (เจ้าอาวาส) พระสงฆ์ในวัดนั้นๆ จะนำธูปเทียนแพและกรวยดอกไม้ไปทำวัตรเจ้าอาวาสแต่ละวัด หลังจากอธิษฐานพรรษาแล้ว
หลังจากเข้าพรรษา 12 วัน พระผู้ใหญ่แต่ละวัดจะเดินทางไปทำวัตรพระเถระหรือพระสังฆาธิการที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรือเป็นผู้ปกครองที่อยู่วัดอื่นต่อไป
โดยใช้เครื่องสักการะแบบเดียวกับที่พระผู้น้อยในแต่ละวัดได้ปฏิบัติก่อนหน้านั้น ที่มีเพิ่มคือเครื่องสักการะอื่นที่อาจติดไปด้วย เพื่อสร้างความสนิทสนมมากขึ้น
การทำวัตรพระคือการขอขมา ดังนั้นขณะที่นำธูปเทียนแพและกรวยดอกไม้ถวายนั้น จะต้องกล่าวคำขอขมาเป็นภาษาบาลี โดยพระผู้น้อยหรือผู้ขอขมาจะกล่าวว่า “เถเร ปมาเทน ทวารตฺตเยน กตํ สพฺพํ อปราธํ ขมตุ โน ภนฺเต” แปลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเถระจงอดโทษซึ่งความผิดทั้งปวงที่พวกข้าพเจ้าได้กระทำล่วงเกินด้วยความประมาทในพระเถระ โดยไตรทวาร”
พระเถระซึ่งเป็นผู้รับจะกล่าวตอบว่า “อหํ ขมามิ ตุมฺเหหิปิ เม ขมิตพฺพํ” แปลว่า “ข้าพเจ้ายกโทษให้ และขอให้พวกท่านพึงยกโทษให้แก่ข้าพเจ้าด้วย” สุดท้ายผู้น้อยจะกล่าวตอบว่า “ขมาม ภนฺเต”
การเข้าขอขมาหรือทำวัตรพระเถระ เพราะคำนึงว่าอาจจะล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ต่อพระเถระในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาหากมีความประมาท จึงขอให้ท่านอดโทษ ยกโทษให้
หลังวันเข้าพรรษาตามอารามต่างๆ ที่มีพระเถระผู้มีตำแหน่งการผู้ปกครองคณะสงฆ์ จึงมีพระภิกษุจากวัดต่างๆ เดินทางมาถวายสักการะและขอขมากันเนืองแน่น
น่าสนใจ คือ ในเดือน ก.ค.เป็นเดือนที่พระผู้ขอเลื่อน หรือขอสมณศักดิ์ใหม่ต้องส่งประวัติให้ผู้ปกครองระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาตามลำดับ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสแสดงตัวของผู้ขอตำแหน่งด้วย หากมีอะไรขาดตกบกพร่องจะได้รับการท้วงติง หรือบอกกล่าวให้เพิ่มข้อมูลให้สมบูรณ์
พระสงฆ์ธรรมยุตที่อยู่หัวแถว หรือต้นๆ ที่พระผู้น้อยในสังกัดไปทำวัตร ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ วัดมกุฏกษัตริยาราม (รักษาการมา 67 ปีแล้ว) วัดตรีทศเทพ (รักษาการมานานเช่นกัน) และเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิริน…ทราวาส กรรมการมหาเถรสมาคม เลขาธิการคณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุต นอกจากนั้นก็ลดหลั่นกันไปขึ้นอยู่ว่ารูปไหนดำรงตำแหน่งปกครอง บังคับบัญชาระดับไหน เช่น เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล เป็นต้น
พระสงฆ์มหานิกาย มุ่งไปที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรรมการมหาเถรสมาคม พระพรหมเวที กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม พระพรหมจริยาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ จ.ตรัง (เป็นเจ้าคณะใหญ่เพียงรูปเดียวที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เพราะอยู่ต่างจังหวัด) พระพรหมดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าอาวาสวัดสามพระยา พระพรหมสุธี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ (ผู้ดูแลการเลื่อนสมณศักดิ์)
ที่เคลื่อนไหวชัดเจน คือ พระสงฆ์ในภาค 14 ที่มีพระเทพสุธี เป็นเจ้าคณะภาค นัดพระสงฆ์ในภาคประกอบด้วย จ.นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และ จ.สมุทรสาคร มารวมตัวและฉันเพลที่วัดไร่ขิง วันที่ 14 ก.ค. 2557 ก่อนเดินทางไปทำวัตรพระเถระผู้ปกครอง เช่น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจาย์ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทำวัตรพระหรือขอขมาระหว่างพระผู้ใหญ่และผู้น้อยนั้น เป็นการให้อภัยซึ่งกันและกัน ในสิ่งที่ได้ล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง หรือเจตนาและไม่เจตนา เป็นประเพณีของพระสงฆ์ที่ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง หรือโดยอ้อม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางการเมืองของไทย ที่แสวงหาวิธีสร้างความปรองดองในชาติได้เป็นอย่างดี ไม่เชื่อก็ลองดู เพราะวิธีของพุทธเป็นวิธีแห่งสันติสุข