'วันนอร์'นัดรัฐสภาประชุมแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา20ฉบับ14-15ม.ค.68
“วันนอร์”นัดประชุมรัฐสภา แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา 20 ฉบับ 14-15 ม.ค.68 เปิดร่างฉบับเพื่อไทยขอแก้ไขเพิ่มเติม 6ประเด็น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใช้เสียง 2 ใน 3 จากเดิมถือเสียงข้างมาก
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เสร็จสิ้นว่า จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 20 ธันวาคม2567 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และร่างกฎหมาย ป.ป.ช.อีกฉบับหนึ่ง ที่เสนอโดยพรรคประชาชน และรวมถึงการพิจารณาร่างข้อตกลง FTA ตามที่คณะรัฐมนตรี เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ
ประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะมีการประชุม ในการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 2 ในวันที่ 14-15 มกราคม 2568 โดยจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้บรรจุระเบียบวาระแล้ว และที่มีการเสนอเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 20 ฉบับ ที่เสนอเข้ามาแล้ว โดยเป็นการเสนอแก้ไขแบบแบบรายมาตรา
ประธานรัฐสภา ยังระบุอีกว่า รัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้งก็ได้ โดยที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย นัดประชุมอีกครั้งวันที่ 8 มกราคม2568 เพื่อเตรียมความพร้อมวาระการประชุมทั้งหมด พร้อมทั้งแบ่งเวลาการอภิปรายให้แต่ละฝ่าย
ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ6 ประเด็น ประกอบด้วย
1.แก้ไข (7) ของมาตรา 98 ซึ่งปัจจุบันกำหนดห้ามผู้ที่เคยรับโทษจำคุกโดยพ้นโทษยังไม่ถึง 10 ปี สมัคร สส. หรือเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ แก้ไขเป็นให้รวมความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
2. แก้ไข (4) และ (5) ของมาตรา 160 คุณสมบัติรัฐมนตรี โดยปัจจุบัน (4) กำหนดว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แก้เป็น “ ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” และให้ถือการกระทำดังกล่าวนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้ ส่วน (5) เรื่องจริยธรรมแก้ให้ชัดเจนว่า ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดย (7) คนที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษซึ่งปัจจุบันห้ามเป็นรัฐมนตรีนั้น แก้เป็น ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
3.เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญให้นำไปใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วย จึงแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน โดยแก้ไข ม.201 ,ม.202 ,ม.222 ,ม.228 ,ม.232 ,ม.238 และ ม.246
4.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องมติและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา211 ปัจจุบันคำวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขเป็นถ้าเป็นการวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส. - สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
5.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 235 กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า มีความผิดคดีอาญา ร่ำรวยผิดปกติ หรือ ศาลฎีกาพิพากษาว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยปัจจุบันให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี จึงมีการแก้ไขเป็น “ ให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง
6. แก้ไขหมวด 15 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา 255 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้ โดยแก้ไข (8) ของมาตรา 256 เดิมกำหนดว่าการแก้ไขในเรื่องต่างๆ ทั้งการแก้ไขหมวด 1 หมวด2 การแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ก่อนนำร่างร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้า ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อนนั้น ได้แก้ไขเป็น เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นที่ต้องจัดทำประชามติ