ดาวศุกร์ พบดาวพฤหัสบดี
ช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 18 ส.ค. 2557 ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะปรากฏอยู่ใกล้กัน มองเห็นอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออก ขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งปรากฏอยู่ในทิศทางใกล้เคียงกับกระจุกดาวรังผึ้งในกลุ่มดาวปู
ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรอยู่ใกล้โลกที่สุด ขณะที่ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ กลางเดือน ส.ค.นี้ ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า โคจรมาอยู่ในทิศทางใกล้เคียงกันเมื่อสังเกตจากโลก ทำให้คนที่ตื่นเช้าและคนที่ต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด มีโอกาสมองเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างสองดวงอยู่คู่กัน
เรามองเห็นดาวศุกร์เป็น “ดาวประกายพรึก” ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดในปลายเดือน มี.ค. ขณะนี้ดาวศุกร์กำลังเคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน ทำให้มองเห็นอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่มากนักเมื่อฟ้าสาง
ดาวศุกร์สว่างมากเนื่องจากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และโลก มีบรรยากาศที่สะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี ดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลกว่า ปกติความสว่างของดาวพฤหัสบดีเป็นรองแค่ดาวศุกร์ แต่ก็มีบางช่วงที่ดาวอังคารสว่างกว่าดาวพฤหัสบดี โดยเฉพาะในช่วงที่ดาวอังคารใกล้โลกเป็นพิเศษทุกๆ 1516 ปี อย่างครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2546
เมื่อสังเกตจากโลก ปีนี้ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีจะผ่านใกล้กันที่สุดในเวลาเที่ยงของวันจันทร์ที่ 18 ส.ค. 2557 โดยอยู่ห่างกัน 12 ลิปดา แต่เราไม่สามารถสังเกตขณะใกล้กันที่สุดได้ เนื่องจากเป็นเวลากลางวัน จึงต้องสังเกตในช่วงเช้ามืดก่อนหน้านั้น ซึ่งดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีจะอยู่ห่างกันประมาณ 21 ลิปดา (ราว 2 ใน 3 ของขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวง) กล้องโทรทรรศน์กำลังขยายต่ำสามารถส่องเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีได้พร้อมกัน และมีโอกาสที่จะเห็นดวงจันทร์บริวาร 4 ดวงใหญ่ของดาวพฤหัสบดีได้ด้วยการที่เราเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้าเป็นเพียงมุมมองจากจุดที่เราอยู่ แท้จริงแล้วดาวเคราะห์ทั้งสองอยู่ห่างโลกและห่างจากกันมาก เช้ามืดวันที่ 18 ส.ค. 2557 ดาวศุกร์อยู่ห่างโลก 241 ล้านกิโลเมตร ขณะที่ดาวพฤหัสบดีอยู่ห่าง 932 ล้านกิโลเมตร ดาวพฤหัสบดีอยู่ไกลกว่าดาวศุกร์ แต่เราเห็นดาวพฤหัสบดีมีขนาดปรากฏในกล้องใหญ่กว่าดาวศุกร์เนื่องจากเส้นผ่านศูนย์กลางจริงของดาวพฤหัสบดียาวกว่าดาวศุกร์ประมาณ 12 เท่า
การสังเกตดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงกัน ไม่จำเป็นต้องดูในวันเดียว ดาวเคราะห์ทั้งสองจะอยู่ใกล้กันภายในระยะ 5 องศา ตลอดช่วงวันที่ 14-23 ส.ค. 2557 หลังจากการเข้าใกล้กันในครั้งนี้ เราจะเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีอยู่เคียงกันบนท้องฟ้าได้อีกในปีหน้า ซึ่งเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงหัวค่ำของปลายเดือน มิ.ย. ถึงต้นเดือน ก.ค. 2558 ครั้งที่สองในเวลาเช้ามืดของปลายเดือน ต.ค. 2558 โดยครั้งหลังมีดาวอังคารมาอยู่ใกล้ด้วย
ดาวศุกร์ปรากฏอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีเฉลี่ยประมาณปีละครั้ง บางปีมี 2 ครั้ง บางปีก็ไม่มีเลย อีก 2 ปี ทั้งคู่จะเข้าใกล้กันที่สุดในวันที่ 27 ส.ค. 2559 ห่างกัน 4 ลิปดา (ช่วงที่ใกล้กันที่สุดไม่สามารถสังเกตได้จากประเทศไทย) ดาวศุกร์จะผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี โดยบดบังบางส่วนของดาวพฤหัสบดีในวันที่ 22 พ.ย. ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) แต่สังเกตไม่ได้ เนื่องจากอยู่ห่างดวงอาทิตย์เพียง 8 องศา
นอกจากดาวเคราะห์ทั้งสองจะอยู่ใกล้กันในกลางเดือนนี้แล้ว ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดียังอยู่ใกล้วัตถุท้องฟ้า นั่นคือกระจุกดาวรังผึ้งในกลุ่มดาวปู เป็นกระจุกดาวเปิดที่อยู่ห่างประมาณ 600 ปีแสง มีตำแหน่งอยู่บริเวณตรงกลางของกลุ่มดาวปู กล้องโทรทรรศน์อาจส่องเห็นดาวบางดวงในกระจุกดาวนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าและแสงอุษาที่อาจสว่างกลบแสงของดาวส่วนใหญ่ในกระจุก
ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 12 ปี วันที่ 19 ส.ค. 2557 เป็นวันที่ดาวพฤหัสบดีมีตำแหน่งปรากฏอยู่ใกล้กระจุกดาวรังผึ้งมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2546 หลังจากปีนี้ดาวพฤหัสบดีจะผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งที่ระยะใกล้เคียงกันในต้นเดือน ส.ค. 2569 แต่สังเกตไม่ได้เนื่องจากอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เพียง 3 องศา ครั้งถัดไปในกลางเดือน ก.ค. 2581 ก็อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่มุมห่าง 11 องศา จึงต้องรอต่อไปอีกถึงต้นเดือน ก.ค. 2593 เราถึงจะมีโอกาสเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กระจุกดาวรังผึ้งที่ระยะใกล้เคียงกับปีนี้ได้อีกครั้ง
ดาวศุกร์เคลื่อนที่เร็ว จึงมีโอกาสผ่านใกล้กระจุกดาวรังผึ้งได้บ่อยกว่าดาวพฤหัสบดี หลังจากปีนี้ดาวศุกร์จะอยู่ใกล้กระจุกดาวรังผึ้งอีกครั้งในกลางเดือน มิ.ย. 2558 โดยสังเกตได้ในเวลาหัวค่ำ