posttoday

Arachnophobia แมงมุมน่ากลัวของคนกลัวมองมุม

24 สิงหาคม 2557

แมงมุมตัวจิ๋วที่ไต่บนใยไปมาบนต้นไม้หรือตามมุมต่างๆ ในบ้าน อาจเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตแสนธรรมดาของใครหลายคน

โดย...วสุ ทัพพะรังสี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

แมงมุมตัวจิ๋วที่ไต่บนใยไปมาบนต้นไม้หรือตามมุมต่างๆ ในบ้าน อาจเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตแสนธรรมดาของใครหลายคน แต่สำหรับบางคนเพียงแค่เห็นใยแมงมุม หรือภาพแมงมุมในหนังสือ ก็เกิดอาการกรีดร้อง ร้องไห้ มือเย็น ใจสั่น เหงื่อออกมาก บางรายหวาดกลัวสุดขีดอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก หมดสติ หรือระบบหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งอาการเช่นนี้เป็นความกลัวจำเพาะชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โรคกลัวแมงมุม หรือ Arachnophobia

โรคกลัวแมงมุม ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรคกลัว หรือ โฟเบีย (Phobia) ทั่วๆ ไป เช่น กลัวความสูง กลัวความมืด กลัวที่แคบ กลัวเข็ม เป็นต้น และยังเป็นโรคกลัวอันดับหนึ่งของชาวอเมริกันด้วย โดยลักษณะของคนที่เป็นโรคกลัวแมงมุมคือ จะไม่ยอมเดินไปยังสถานที่ที่ไม่มั่นใจว่าจะไม่เจอแมงมุมโดยเด็ดขาด หรือเมื่อเจอแมงมุมในบ้าน อาจจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบ 2 แบบ คือ กรีดร้องแล้ววิ่งหนีออกไปจากบ้าน หรือเกิดอาการก้าวขาไม่ออก ตัวแข็ง ไม่สามารถออกไปจากตรงนั้นชั่วขณะ และแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่กล้าจับหรือฆ่าแมงมุมด้วยตัวเอง นอกจากนี้บางคนยังพานกลัวสิ่งที่ละม้ายกับแมงมุมไปด้วย เช่น กลัวอะไรที่มีขนยุ่บยั่บ กลัวสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็ว และกลัวตัวอะไรที่มีขายาวหรือมี 8 ขา เป็นต้น

Arachnophobia แมงมุมน่ากลัวของคนกลัวมองมุม

 

สำหรับสาเหตุที่โรคกลัวแมงมุมพบได้มากในผู้คนทั่วไปนั้น นักจิตวิทยายังไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ได้แน่ชัด แต่ก็มีนักวิชาการและนักจิตวิทยาหลายๆ ท่าน พยายามอธิบายถึงสาเหตุของโรคกลัวแมงมุมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ไว้หลายแนวทาง เช่น พอล ฮิลยาร์ด (Paul Hillyard) ได้ให้ข้อมูลใน The Private Life of Spiders ว่า โรคกลัวแมงมุมพบมาตั้งแต่ 2,000 ปีที่แล้วใน ดินแดนอะบิสซิเนีย (ประเทศเอธิโอเปียในปัจจุบัน) และทางตอนใต้ของทวีปยุโรป สันนิษฐานว่าสมัยนั้นมีความเชื่อว่าการถูกแมงมุมกัดจะทำให้เป็นโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) ซึ่งเป็นโรคจิตเวชที่แสดงออกถึงภาวะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จึงอาจทำให้หวาดกลัว กันมาก

Arachnophobia แมงมุมน่ากลัวของคนกลัวมองมุม

 

นอกจากนี้ ยังมีนักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการท่านหนึ่ง เคยเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวกับสาเหตุของโรคกลัวแมงมุมไว้ว่า โรคกลัวแมงมุม อาจเป็นกลวิธีเพื่อความอยู่รอดของบรรพบุรุษ เนื่องจากแมงมุมส่วนใหญ่มีพิษ และความกลัวก็อาจเป็นหนทางป้องกันให้พวกเขารอดพ้นจากพิษร้ายได้ และกลายเป็นสิ่งที่ถูกบอกหรือสืบทอดกันมา แต่ทั้งนี้นักจิตวิทยาบางท่านออกมา โต้แย้งว่า สัตว์หลายชนิด เช่น เสือ จระเข้ มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภัยคุกคาม หรือเป็นอันตรายกับชีวิตแก่มนุษย์โบราณมากกว่า แต่โรคกลัวต่อสัตว์ร้ายเหล่านั้นกลับไม่ค่อยพบเห็นมากเท่าโรคกลัวแมงมุม ดังนั้น พวกเขาจึงเชื่อว่า สาเหตุของโรคกลัวแมงมุมน่าจะมาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรม หรือความเชื่อที่เกี่ยวกับธรรมชาติของแมงมุมมากกว่า

Arachnophobia แมงมุมน่ากลัวของคนกลัวมองมุม

 

อย่างไรก็ดี แม้โรคกลัวแมงมุมจะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่ก็สร้างข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตอยู่ไม่น้อย เพราะในรายที่มีอาการรุนแรง บางคนอาจถึงขั้นไม่ยอมนั่ง ไม่ยอมวางกระเป๋าบนพื้น หากไม่แน่ใจว่าแถวนั้นมีหรือไม่มีแมงมุมอยู่ รวมทั้งยังไม่กล้าเดินทางไปเที่ยว ไปสวนสัตว์ ไปแคมปิ้งในสวน ในป่า หรือสถานที่ใดๆ ก็ตามที่พวกเขาไม่มั่นใจว่าจะไม่พบเจอแมงมุม

Arachnophobia แมงมุมน่ากลัวของคนกลัวมองมุม

 

ทั้งนี้ จิตแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามศึกษาหาหนทางบำบัดรักษาโรคกลัวแมงมุมหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น วิธีการบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม หรือ Cognitivebehavioral Therapy (CBT) คือ อาศัยการบำบัดผ่านการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อเปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาความกลัว บางรายอาจต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการรักษาด้วยวิธีให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว โดยเริ่มมีการใช้โปรแกรมภาพ 3 มิติเข้ามาจำลองสถานการณ์ที่ต้องเจอแมงมุม เพื่อให้ผู้ป่วยฝึกเอาชนะความกลัวให้ได้

นอกเหนือจากการบำบัดรักษาด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้วนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแมงมุมและพฤติกรรมของมันให้มากที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้เรารู้วิธีที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแมงมุมได้ n

ข้อมูลจาก : http://phobias.about.com/

Arachnophobia แมงมุมน่ากลัวของคนกลัวมองมุม