posttoday

คืนความสุขคนสูงอายุ

05 ตุลาคม 2557

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล 4 กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล 4 กระทรวง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข “ยงยุทธ ยุทธวงศ์” ได้วางนโยบายว่ากระทรวงด้านสังคมเหล่านี้ต้องดำเนินการสร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล ด้วยการเจาะลึกการทำงาน 2 ด้านสำคัญ คือ การดูแลผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน และผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ซึ่งทางรัฐบาลมีความต้องการเห็นคนในสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันต่อผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า

ทั้งนี้ นโยบายดูแลผู้สูงอายุ “ยงยุทธ” บอกว่า ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะจัดตั้ง “กรมผู้สูงอายุ” ขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะในอนาคตสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ คนส่วนใหญ่ในสังคมจะกลายเป็นคนแก่คนชรา ดังนั้นนโยบายด้านสุขภาพจะไม่เน้นเฉพาะสร้างสุขภาวะให้ผู้สูงอายุแข็งแรงเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญ คือ การยกระดับการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ

“สิ่งสำคัญของการจัดตั้งกรมผู้สูงอายุ คือ ต้องมีการประสานนโยบายและบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน ที่สำคัญกรมนี้จะไม่ใช่แค่สงเคราะห์หรืออนุเคราะห์เป็นรายๆ เหมือนในอดีต เช่น ผู้สูงอายุคนใดเจ็บป่วยทางภาครัฐก็ยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลค่ายารักษาโรค แม้ว่าประเด็นนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ การดูแลผู้สูงอายุต้องเป็นระบบ”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะสนับสนุนตั้งแต่การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่กับบ้าน ผ่านการช่วยเหลือสนับสนุนด้านการออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น บันได ห้องน้ำ ระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยรัฐผ่านบ้านพักฟื้น โดยจะเน้นการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือผู้สูงอายุติดเตียง เพราะความแก่ชราหรือโรคภัยไข้เจ็บที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังมีแผลตามเนื้อตัว จะต้องได้รับการดูแลและป้องกัน

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับลูกหลานและคนในครอบครัว ยิ่งในครอบครัวที่ยากจนย่อมเผชิญสภาวะยากลำบากกับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่สูงมาก นี่คือปัญหาใหญ่ในสังคม ดังนั้นภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ”

นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการจ้างแรงงานไปดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน ถือเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ถือเป็นการลงทุน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว รวมถึงพัฒนาระบบให้ผู้สูงอายุดูแลกันเอง กล่าวคือผู้สูงอายุที่อายุอ่อนกว่าจะดูแลผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุ เพื่อการดูแลจำเพาะเจาะจง

“ยงยุทธ” อธิบายว่า เนิร์สซิ่งโฮม หรือสถานพักฟื้นผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ในภาคเอกชนค่าใช้จ่ายสูงมาก และที่สำคัญผู้สูงอายุต้องการมีสังคมเป็นของตัวเองระหว่างผู้สูงอายุด้วยกัน เป็นสังคม หรือชุมชน อย่างเช่นโครงการที่พักผู้สูงอายุ อาคารสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย แต่โครงการดังกล่าวยังเกิดขึ้นน้อยมาก ทางรัฐบาลจะเร่งผลักดันโครงการดีๆ เหล่านี้ออกมาอีกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เพราะในอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมไทยยังต้องเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ดังนั้นรัฐบาลจะเร่งผลักดันสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีนับจากนี้ไปอย่างแน่นอน

สำหรับรูปแบบและแนวคิดในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมนั้น “ยงยุทธ” บอกว่า ได้ยึดตามแบบหรือโมเดลของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงให้การช่วยเหลือพสกนิกรมาอย่างยาวนาน โดยพระองค์สนพระทัยในเรื่องนี้มานานแล้ว ที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กหรือคนพิการทั้งด้านร่างกายและสมองได้เข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียม ซึ่งรัฐบาลจะเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยการผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ และการจัดตั้งกรมผู้สูงอายุ

“หน้าที่หลักภายหลังจัดตั้งสถาบันดังกล่าว คือ การต่อยอดและบูรณาการความรู้ความก้าวหน้าด้านการช่วยเหลือคนพิการหรือคนด้อยโอกาส ด้วยการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ เป้าหมายสำคัญ คือ ไม่ใช่ให้ความช่วยเหลือคนพิการแบบสงเคราะห์ หรือการอนุเคราะห์ด้วยการแจกเครื่องมือ เช่น รถเข็น ไม้เท้า หรือขาเทียม เพื่อในการดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น แต่ในการทำงานของรัฐบาลครั้งนี้จะมีการพัฒนาไปอีกระดับ ด้วยการพัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือคนพิการได้ครบวงจร อาทิ การพัฒนาขาเทียมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบการผลิตให้มีต้นทุนราคาต่ำ แต่ไม่ได้มีไว้จำหน่ายหรือแสวงหากำไร

“แม้ว่าเทคโนโลยีขาเทียมของเรายังไม่ทันสมัยเทียบเท่ากับประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป อย่างที่ขาเทียมที่นายออสการ์ เลนเนิร์ด คาร์ล พิสโตริอุส เป็นนักวิ่งในกีฬาพาราลิมปิก ชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งรู้จักกันในฐานะ ‘เบลดรันเนอร์’ เป็นนักวิ่งขาเหล็กใช้แข่งขันกีฬาก็ตาม เพราะนั่นเป็นขาเทียมระดับสุดยอดเทคโนโลยี แต่องค์กรที่จะตั้งขึ้นนี้คงไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตขาเทียมแจก แต่ต้องการให้เป็นต้นทางหรือต้นแบบในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ของคนพิการแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยอันทันสมัยเท่านั้น ที่สำคัญต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนเป็นช่องทางในการกระจายนวัตกรรมเหล่านี้ให้ไปถึงมือคนพิการ”

นอกจากนี้ สถาบันดังกล่าวยังจะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาที่สามารถจะได้รับฟังเสียง แม้ไม่สามารถมองเห็นได้ หรือให้คนที่ประสบปัญหาทางสมองในการรับรู้ความเข้าใจ โดยจะมีระบบง่ายๆ ที่จะช่วยพัฒนาการทางสมอง ด้วยความก้าวหน้าทางคอมพิวเตอร์โปรแกรม ทางรัฐบาลเตรียมจะสนับสนุนการสร้างสังคมรักการอ่าน โดยเฉพาะกับคนพิการที่จะให้การดูแลเรื่องการเข้าถึงความรู้ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Publication ) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อีพับ (EPUB) ขึ้นเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของการสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่แม้แต่ผู้พิการทางสายตาก็สามารถเข้าถึงได้ และเป็นมาตรฐานที่ไม่มีลิขสิทธิ์

ด้านแนวทางในการดูแลผู้ด้อยโอกาสทางสังคมนั้น “ยงยุทธ” บอกว่า รัฐบาลจะเน้นเป็นพิเศษ โดยขอให้ทุกภาคส่วนปรับทัศนคติใหม่เกี่ยวกับคนด้อยโอกาส คือทุกๆ คนเท่าเทียมกัน จึงอยากให้มีการปรับทัศนคติใหม่ด้วยการนำแนวคิด Universal Design หรือการออกแบบเพื่อมวลชน ถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนพิการและคนปกติ ซึ่งเพิ่งได้เรียนรู้ว่า บางสิ่งบางอย่างที่ทำลงไปให้กับคนพิการบางครั้งอาจทำให้รู้สึกแปลกแยกได้ แต่หากทำให้ทุกคนทั้งคนปกติหรือคนพิการสามารถใช้ร่วมกันได้ย่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน