รักและศรัทธา (2)
หลายคนอาจนึกถึงธรรมะยามเกิดทุกข์ หลายคนรู้สึกสบายใจที่ได้ไหว้พระ สวดมนต์ หรือทำบุญ
โดย...ศรินธร รัตน์เจริญขจร เครือข่ายพุทธิกา http://www.budnet.org
หลายคนอาจนึกถึงธรรมะยามเกิดทุกข์ หลายคนรู้สึกสบายใจที่ได้ไหว้พระ สวดมนต์ หรือทำบุญ และอาจมีอีกหลายคนเข้าวัดครั้งเดียวในชีวิต คือบั้นปลายชีวิตที่หมดลมหายใจแล้ว สำหรับผู้เขียนสนใจเรื่องความเชื่อและศาสนาเป็นทุนเดิม และมองว่าธรรมะเป็น “ศาสตร์” แขนงหนึ่ง หรือเป็นวิชาหนึ่งในชีวิตที่การเกิดเป็นมนุษย์นั้นควรได้ศึกษาเรียนรู้ หลังจากอ่านและฟังมาระยะหนึ่ง การลงมือปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้เข้าใจศาสตร์แขนงนี้อย่างถ้วนทั่ว เหมือนเรียนทฤษฎีแล้วก็ต้องลองลงมือทำนั่นเอง
นอกจากวัตรปฏิบัติตั้งแต่เช้าจรดค่ำดังกล่าวไปแล้วในตอนแรก ผู้เขียนอาจโชคดีที่ได้ปฏิบัติธรรมในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย นั่นคือการเดินตามพระบิณฑบาต
เวลาออกบิณฑบาตคือหลังทำวัตรเช้าประมาณตีห้าครึ่ง ประสบการณ์ครั้งแรกของผู้เขียนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตามพระไปบิณฑบาต เรามาปฏิบัติธรรมเราไม่ใช่ลูกศิษย์วัด และครั้งแรกนั้นมีสิ่งที่ได้เรียนรู้มากมาย ภาพยามเช้าวันนั้นยังคงชัดเจน
ทั้งอากาศและบรรยากาศดีมาก ฝนพรำลมเย็น ฟ้าเริ่มสาง ทุกอย่างเขียวสด กลิ่นหอมของดินชุ่มปอด คำสอนของหลวงพี่เริ่มเดินกลับมาในความคิด การเดินเพื่อตามพระออกบิณฑบาต ให้เหมือนกับเดินจงกรม อย่าพูดคุยกัน ผู้เขียนได้ยินความคิดนั้นแล้ว แต่ยังคงชื่นชมธรรมชาติรอบตัวเรื่อยไปตลอดทางที่ต้องเดิน เราเดินเป็นลูกศิษย์วัดกันหลายคน บางคนถอดรองเท้าเดินเหมือนพระ และทุกคนมีย่ามคนละใบเพื่อแบ่งของจากบาตร ผู้เขียนเห็นชาวบ้านถือกระติบข้าวเหนียวออกมา เปิดฝาขึ้นเห็นควัน และใช้มือหยิบข้าวเหนียวร้อนๆ นั้นใส่บาตร นอกจากนั้นก็มีกับข้าวพื้นบ้านอื่นๆ ขนมและผลไม้ตามที่ชาวบ้านกินกัน บทสนทนาระหว่างเพื่อนลูกศิษย์วัด (ชั่วคราว) ด้วยกัน เรื่องของใส่บาตรเรียกรอยยิ้มได้ดี คือ วันนี้ยังดีนะเจอของธรรมดา เคยเจอแตงโมไหม? ขณะที่อีกคนก็แลกเปลี่ยนว่าเคยเจอมะพร้าว...ไม่ใช่ลูกเดียว แต่ทั้งทะลาย!!
ระยะทางในการเดินบิณฑบาตไม่ไกลนัก ใช้เวลาเดินประมาณชั่วโมงเศษ อาหารที่ชาวบ้านถวายพระ จะเป็นอาหารที่กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมได้ทานด้วย กิจวัตรอีกข้อคือการช่วยกันจัดอาหารที่ได้มาใส่จานและวางรวมกัน ให้พระได้ตัก ตามด้วยแม่ชี และฆราวาส ผู้เขียนพบว่าความหิวของตนเองนั้นช่างรุนแรง เนื่องจากการงดอาหารเย็น ดื่มน้ำปานะ ประมาณบ่ายสองหรือสาม ตอนเช้าจึงรู้สึกหิวมาก ระหว่างจัดอาหาร จึงพบว่าตนเองกลืนน้ำลายหลายครั้ง และมีหลายครั้งที่มือเกือบเผลอหยิบอาหารหรือขนมขึ้นมาทาน แต่ตั้งสติได้ทัน ขณะรอพระและแม่ชีตักอาหาร ผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและผ่านไปอย่างเชื่องช้า และเมื่อได้กินอาหารของตนเองจึงรู้สึกอร่อยมากกว่าปกติ
ทุกชั่วขณะนั้นคือการฝึก ทุกช่วงจังหวะชีวิตคือการปฏิบัติธรรม สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้คือการปฏิบัติด้วยการสร้างจังหวะและการเดินจงกรมนั้น เป็นการปฏิบัติรูปแบบหนึ่ง ยังมีการปฏิบัติรูปแบบอื่นๆ อีกมาก ที่เราสามารถฝึกได้ตลอดเวลา ขณะเดินตามพระบิณฑบาต เรารู้สึกเมื่อยขา นั่นคือทุกข์ ขณะรอทานอาหารเช้าด้วยความหิวโหย นั่นก็คือทุกข์ และเราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่า “ความทุกข์นั้นไม่มีอยู่ มีแต่ใจที่เป็นทุกข์นั้นทำให้เราทุกข์ จงเห็นทุกข์อย่าเป็นทุกข์ และอยู่กับทุกข์ให้ได้ เป็นมิตรกับทุกข์ได้” ดังคำสอนของพระอาจารย์ทั้งหลาย และเราจะเห็นทุกข์ได้ เป็นมิตรกับทุกข์ได้ก็ด้วยการหมั่นฝึกเจริญสติ...ฝึกในทุกขณะก้าวของชีวิต ไม่ว่าชีวิตจะเดินไปในรูปแบบใด เราสามารถฝึกเจริญสติได้โดยไม่ต้องยึดรูปแบบ...
วัตรปฏิบัติยังคงดำเนินไป ผู้เขียนยังพบความง่วงและเบื่ออย่างต่อเนื่อง การปิดวาจาระหว่างปฏิบัติยิ่งทำให้ความคิดทำงานเพิ่ม ในหัวสมองจะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา เมื่อปฏิบัติผ่านไปสามวัน ความคิดก็ทบทวนตั้งคำถามว่าเรามาปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร กัลยาณมิตรผู้ชักชวนผู้เขียนและสนับสนุนให้ปฏิบัติเคยเอ่ยถึงประสบการณ์ของเธอในการปฏิบัติว่ามันคือความมหัศจรรย์ และเน้นย้ำว่านอกจากการปิดวาจาแล้ว ควรจะงดอ่านและเขียนด้วย เพื่อที่จะได้รู้ว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั้นมาจากสิ่งใดอย่างแท้จริง
ผู้เขียนจะได้พบความมหัศจรรย์อะไรบ้างหรือไม่ และยังมีสิ่งใดที่ได้เรียนรู้เพิ่มอีกระหว่างการปฏิบัติ และหลังการปฏิบัติธรรม เราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป