ผ่าปมศึก "อาสากู้ภัย" ความบาดหมางจากอดีตสู่ปัจจุบัน
เจาะปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาสาสมัครมูลนิธิกู้ภัยที่เริ่มระอุขึ้นอีกครั้ง
โดย…นรินทร์ ใจหวัง
เหตุขัดแย้งระหว่างอาสาสมัครกู้ภัยตกเป็นข่าวในหน้าสื่ออีกครั้ง หลัง อาสาสมัครจาก 2 มูลนิธิเปิดศึกยิงถล่มเพื่อนร่วมอาชีพจนทำให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ความบาดหมางระหว่างอาสาสมัครกู้ภัยของมูลนิธิต่างๆดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะในอดีตก็มีข่าวคราวในทำนองนี้ของอาสาสมัครจาก 2 มูลนิธิเก่าแก่อย่าง ร่วมกตัญญู และ ปอเต็กตึ๊ง ออกมาให้เห็นอยู่บ้าง แต่สุดท้ายทั้งสองสามารถเคลียร์กันได้จนเรียกได้ว่าเป็นพี่น้องกันแล้ว ขณะที่ปัจจุบันกลับมีมูลนิธิท้องถิ่นเกิดขึ้นมาใหม่หลายมูลนิธิ บางพื้นที่มีถึง 3-4 ราย ปัญหาความขัดแย้งจากการวิ่งทับเส้นทางของอาสาสมัครมูลนิธิในพื้นที่จึงระอุขึ้นอีกครั้ง
ที่สำคัญปมปัญหาทั้งหมดถูกมองว่ามาจากการที่ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งได้พยายามเพิ่มเงิน “ค่าเคส” ให้กับอาสาสมัครมูลนิธิ เพื่อต้องการให้มีการนำผู้ป่วยเข้ามาส่งที่โรงพยาบาลของตัวเองให้มากที่สุด
เปิดปม ความขัดแย้ง
รถกระบะตอนเดียวสีขาว ติดสัญญาณไฟฉุกเฉินสีแดงบนหลังคา รอบตัวรถเต็มไปด้วยสติ๊กเกอร์บอกชื่อชัดเจนว่าเป็นรถกู้ภัยของ “มูลนิธิร่วมกตัญญู” ซึ่งตั้งแต่เวลา 20.00-21.00 น. โดยประมาณ เหล่าอาสาสมัคร3-4 คน จะใช้ปั๊มน้ำมันเป็นสถานที่รวมตัวกัน ก่อนจะออกทำภารกิจช่วยเหลือคน ตั้งแต่เหตุเล็กๆ น้อย ๆ เช่น แมวตกท่อ จับงูในบ้านเรือน ไปจนถึงปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือป่วยไข้กะทันหัน
“ตอนนี้รถร่วมและปอเต็กตึ๋ง เรียกว่าเป็นพี่น้องกันแล้วครับ แทบจะไม่มีปัญหาเรื่องทับเส้นกัน เพราะเราสลับวันกันวิ่งรถมาหลายปีแล้ว”โอ๋ หนุ่มอาสาสมัครวัย 30 ระบุ
จากเหตุการณ์ทำร้ายกัน จนเจ้าหน้าที่อาสาปอเต็กตึ๊งเสียชีวิตนั้น ยังคงเป็นหัวข้อการวิพากษ์ วิจารณ์กันอย่างออกรสของเหล่าอาสากู้ภัยของมูลนิธินี้ แม้ไม่ใช่เพื่อนร่วมมูลนิธิ แต่พวกเขาก็ดูเครียด อย่างเห็นได้ชัด
โอ๋เล่าว่าหลังมูลนิธิทั้งร่วมกตัญญูและปอเต็กตึ๊งมีปัญหาบาดหมางเรื่องการวิ่งทับเส้นกันมาตลอด และมักลงเอยด้วยการทะเลาะกันบ่อยๆ ทั้ง 2 จึงได้หันหน้าเข้าปรึกษากัน และได้ข้อสรุปว่าให้วิ่งสลับวันกัน ความบาดหมางก็ค่อยๆ คลี่คลายลง
“ตั้งแต่มีการสลับวันคู่ วันคี่วิ่งรถ และเป็นเขตเหนือ กับเขตใต้ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการวิ่งทับเส้นกันมากนัก เราก็รับผิดชอบวันของตัวเองไป แต่ปัญหามันเกิดตรงที่ 2 มูลนิธิใหญ่วิ่งสลับกัน แต่รถมูลนิธิพื้นที่ท้องถิ่นเขากลับมาวิ่งทุกวันแทน แล้วแต่ละท้องที่ไม่ใช่ว่ามีแค่มูลนิธิเดียว บางจุดมี3-4 เจ้า ปัญหามันเริ่มกลับมารุนแรงกันอีกครั้ง
เท่าที่ผมสังเกตอีกประเด็นหนึ่งคือ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่เขาทำกันมายี่สิบสามสิบปีมันไม่ค่อยมีปัญหาอะไรหรอก เพราะเขาคุยกันด้วยเหตุผล แต่เด็กๆ รุ่นใหม่ ที่เป็นวัยรุ่น นักเลงช่างกล แบบเพื่อนทำอยู่ กูขอมาอยู่ด้วย พอมีกลุ่มมีก้อนก็ออกอาการเฟี้ยวฟ้าว เจอคู่อริ บาดหมางส่วนตัวก็เขม่นกันบ้าง ยิ่งไปทับเส้นกัน กูถึงก่อนมึงถึงหลังที่นี่ก็เรื่องใหญ่เลย โชคดีก็แค่ออกอาการไม่พอใจกัน โชคร้ายก็อย่างที่เห็นครับ”อาสาสมัครหนุ่มชี้ถึงปัญหา
"ธุรกิจค่าเคส" ต้นเหตุของความบาดหมาง
อาสาสมัครหนุ่มเปิดอกแบบตรงๆ ว่า “ธุรกิจค่าเคส” ที่โรงพยาบาลเอกชนหยิบยื่น เป็นสินน้ำใจให้กับอาสาสมัครมูลนิธิเพื่อต้องการให้นำคนเจ็บมาส่งเยอะๆ ถือเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ที่ทำให้เหล่าอาสาสมัครมูลนิธิกู้ภัยแก่งแย่งกัน
“โรงพยาบาลเอกชนพยายามดึงมูลนิธิกู้ภัยให้เข้ามาส่งคนไข้ที่โรงพยาบาลของตัวเองให้มากที่สุด โดยการเพิ่มค่าเคสให้ จากแต่เดิมหลายปีก่อน ถ้าไปส่งเคสหนึ่งได้ 2-3ร้อยบาท บางมูลนิธิทำงานร่วมกันดี ส่งคนเจ็บให้บ่อย เขาก็ให้ 500 บาท แต่ตอนนี้แค่ไม่ได้แอดมิด โรงพยาบาลก็ยืนพื้นเลยให้ 500 บาท บางแห่งเพิ่มเป็น 600 800 1,000 1,200 ถึง 1,500 บาท ต่อหนึ่งรอบ คิดเอาว่าถ้าเวรเรา วิ่งตั้งแต่8 โมงเช้า คนที่จ้องวิ่งจริงๆ วิ่งตั้งแต่เช้า สมมุตมีแค่3เคส ก็เป็นเงินตั้งเท่าไหร่แล้ว ผมเฉลี่ยแค่หัวละพันนะ และหลังจาก 3 ทุ่มส่วนใหญ่จะมีอีก 2-3ราย คือเอาง่ายๆ รายได้มากกว่าคนทำงานบริษัทอีก”
ขณะที่ แอ็ด อาสาสมัครรุ่นใหญ่จากมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ที่ทำงานกู้ภัยมานานกว่า33 ปี กล่าวอย่างมีอารมณ์กับเหตุการณ์ที่เพื่อนร่วมสถาบันถูกยิงจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตว่า ความบาดหมางของรถอาสากู้ภัยทั้งหมดมาจากการขัดแย้งทางธุรกิจล้วนๆ เห็นได้จากพอใครมีทุนหน่อย ขอพยายามจดทะเบียนมูลนิธิสาธารณะกุศล เพราะรู้ดีว่าเม็ดเงินและอำนาจต่อรองมากมายกำลังรออยู่
“ผมวิ่งรถมา 33ปี เมื่อก่อนวิ่งด้วยใจล้วนๆ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย รถเสียซ่อมเอง น้ำมันรถเติมเอง แต่พอ10ปีให้หลัง โรงพยาบาลเอกชนแข่งกันเปิดมากขึ้น มันเลยกลายเป็นธุรกิจที่โรงพยาบาลพากันแข่งให้เงิน อยากให้รถเอาคนเจ็บมาส่งโรงพยาบาลตัวเอง ก็เพราะรัฐบาลเป็นต้นเหตุ เพิ่มเงินให้กับโรงพยาบาลให้เขาเบิกได้อีก เบิกได้ถึง3กองทุน ที่นี้ถึงจะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ไม่มีคู่กรณี เขารับหมด เขาถึงให้ค่าเคสได้
แอ็ด เล่าประสบการณ์ที่เห็นกับตา ว่าเพื่อนที่เคยร่วมงานกันพอมีทุนหน่อย ก็ออกไปตั้งมูลนิธิเอง เพราะนอกจากเงินทองที่จะได้มาจำนวนมากแล้ว ชื่อเสียงและอิทธิพลการเมืองท้องถิ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง
“ผมไม่อยากจะพูดนะ ส่วนหนึ่งรัฐบาลก็สร้างปัญหาขึ้นมาเหมือนกัน คือเขาจัดตั้งกู้ชีพหนึ่งตำบลขึ้นมาอีก ทับซ้อนไปยิ่งกว่าเดิม จัดตั้งขึ้นแต่ไม่มาชี้ให้ชัดว่าเคสแบบไหนเป็นของใคร เช่นคนป่วยต้องเป็นของ กู้ชีพอบต.นะ อุบัติเหตุเป็นของมูลนิธิแบบนี้มันก็ยิ่งสับสนกันยิ่งกว่าเดิม
ทางออกปัญหา "ทำงานอาสาต้องด้วยใจ"
ถึงแม้พวกเขาจะยอมรับว่า การทำงานเป็นอาสากู้ภัยตอนนี้จะมีเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อาสาวัยเก๋า ทำงานแล้วไม่มีปัญหาบาดหมางกัน ก็เพราะมีหลักในการทำงาน คือต้องการช่วยเหลือสังคมจริงๆ แอ็ดเชื่อว่าถ้าอาสาสมัครหน้าใหม่ๆ คิดเรื่องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นหลัก ความขัดแย้งก็จะน้อยลง แต่หากมีจุดประสงค์อื่นๆ ในการเข้ามาทำงาน การแก้ปัญหาจึงบอกได้คำเดียวเลยว่า “ยาก” เพราะจำนวนคนก็เพิ่มขึ้นทุกวัน
“โดยปกติจิตใจของคนที่ต้องการช่วยเหลือคนเจ็บจริงๆ ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ให้เร็วที่สุด แต่ทุกวันนี้จากปัญหาการทับซ้อนและมีรถมูลนิธิวิ่งตามอำเภอใจ จึงมีการแย่งตัวผู้บาดเจ็บกัน
ถ้าเราไปถึงที่เกิดเหตุก่อน แต่ดันไม่ใช่เวรของเรา ถ้าคนที่เขาทำงานกันมานานๆ เขาจะรู้และก็ปล่อยผ่านเลย คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนเจ็บถึงมือหมอให้เร็วที่สุด แต่กับบางคนมันไม่ใช่ ถึงเราไปถึงเร็วกว่า เราก็ทำได้แต่ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปก่อน แต่ต้องรอรถมูลนิธิของเวรวันนั้น หรือของท้องที่นั้นมารับตัวไปส่งโรงพยาบาล ซึ่งบางทีมันก็เกินไปนะ”แอ็ดอธิบาย
เช่นเดียวกับโอ๋ ที่อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ให้ชัดเจน รวมทั้งช่วยดูแล อบรมอาสาสมัครใหม่ๆ ให้ทำงานโดยนึกถึงประชาชนมาก่อน อย่าเอาเรื่องผลประโยชน์หรือศักดิ์ศรีมาเป็นที่ตั้ง
“เราได้อะไร ถ้าพูดถึงในทางที่ดี ผมได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ตอนนี้ใครๆ แค่เข้าอบรมก็มาทำอาสาได้หมด ผมมองว่าคนมาทำเยอะๆ มันก็ดีนะ ช่วยเหลือคนได้ทันเวลา เพราะความเป็นความตาย แค่นาทีเดียวมันก็สำคัญ แต่ในเมื่อทุกคนอยากช่วย อยากโชว์ และมัวแต่คิดว่าคนนี้มาก่อน มาหลัง แอบวิ่งนอกพื้นที่กันบ้างอันนี้มีปัญหาแน่นอน แก้ยังไงก็ไม่หาย”อาสาหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย