posttoday

โครงการอวกาศในปี 2558

04 มกราคม 2558

พ.ศ. 2557 ที่ผ่านพ้นไป มีความก้าวหน้าด้านอวกาศหลายอย่างจากทั่วโลก ที่โดดเด่น ได้แก่

พ.ศ. 2557 ที่ผ่านพ้นไป มีความก้าวหน้าด้านอวกาศหลายอย่างจากทั่วโลก ที่โดดเด่น ได้แก่ อีซาของยุโรปประสบความสำเร็จในการปล่อยยานฟีเล ซึ่งเป็นยานลูกของยานโรเซตตาไปลงจอดบนดาวหางชูรูย์มอฟ-เกราซีเมนโค ฉมวกที่ใช้ยึดผิวดาวหางขณะลงจอดไม่ทำงาน ทำให้ยานฟีเลกระดอนขึ้นจากพื้นผิวดาวหางสองครั้ง ก่อนตกตรงจุดที่ไม่ได้วางแผนไว้ โดยมีหน้าผาหรือผนังของขอบหลุมอุกกาบาตบดบังแสงอาทิตย์ไว้ ยานฟีเลจึงได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และปิดการทำงาน อย่างไรก็ตาม ภารกิจของโรเซตตายังคงดำเนินอยู่จนถึงตลอดปีนี้ และคาดว่าเมื่อแสงอาทิตย์ทำมุมเหมาะสม ฟีเลอาจตื่นขึ้นมาได้อีกครั้ง

นาซาของสหรัฐ และอิสโรของอินเดียนำยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารได้เป็นผลสำเร็จ และได้สำรวจดาวหางไซดิงสปริงที่โคจรเฉียดใกล้ดาวอังคาร นาซาทดสอบการปล่อยจรวดส่งยานโอไรออน และนำยานกลับสู่พื้นน้ำได้สำเร็จ ยานโอไรออนจะมีบทบาทสำคัญในการนำนักบินอวกาศเดินทางออกไปไกลกว่าวงโคจรรอบโลก และสามารถใช้สำรวจดาวเคราะห์น้อยและดาวอังคารได้ในอนาคต

นอกจากความสำเร็จแล้ว บริษัทเอกชนประสบอุบัติเหตุรุนแรงสองครั้ง จรวดแอนทาเรสของออร์บิทัลไซเอนซ์คอร์เปอเรชั่นเกิดระเบิดบนฐานปล่อยจรวด ส่วนยานสเปซชิปทูของเวอร์จิ้นกาแล็กติกได้แตกกระจายกลางอากาศขณะบินทดสอบเหนือทะเลทรายในแคลิฟอร์เนีย นักบินคนหนึ่งเสียชีวิต อีกคนบาดเจ็บสาหัส เบื้องต้นพบว่าเกิดจากระบบที่ใช้ขณะยานกลับเข้าสู่บรรยากาศทำงานก่อนเวลา แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าเกิดจากระบบหรือเป็นความผิดพลาดของนักบิน

พ.ศ. 2558 ที่ล่วงเข้ามานี้ มีเหตุการณ์ด้านอวกาศที่น่าติดตามอยู่หลายเหตุการณ์ เริ่มจากเดือน ม.ค. สเปซเอ็กซ์จะปล่อยจรวดฟอลคอน 9 นำยานดรากอนขึ้นสู่อวกาศในภารกิจขนสัมภาระไปส่งที่สถานีอวกาศนานาชาติ การปล่อยจรวดครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งที่ผ่านมา จะมีการทดสอบบังคับจรวดท่อนแรก ซึ่งใช้แล้วตกลงมาจากท้องฟ้า ให้ลงจอดบนแท่นที่ลอยอยู่กลางทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติก ทั้งนี้เพื่อต้องการนำจรวดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้

เดือน มี.ค. นักบินอวกาศของรัสเซียและสหรัฐอเมริกาจะเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติ โดยมีแผนอยู่บนสถานีอวกาศนานกว่าหนึ่งปี เพื่อทดสอบการใช้ชีวิตในอวกาศเป็นระยะเวลานาน รัสเซียเคยทดสอบมาแล้วกับสถานีอวกาศมีร์ ส่วนนักบินอเมริกันยังไม่เคยอยู่บนสถานีอวกาศนานกว่าหนึ่งปี

เดือน มี.ค. ยานดอว์น (Dawn) ซึ่งเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยเวสตา จะเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยซีรี่ส์ ซึ่งซีรี่ส์มีอีกสถานภาพหนึ่งเป็นดาวเคราะห์แคระ ซีรี่ส์มีขนาดราว 950 กิโลเมตร เป็นวัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย บริเวณนั้นอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี มีวัตถุพวกดาวเคราะห์น้อยจำนวนมาก เมื่อไปถึงดอว์นจะเป็นยานอวกาศลำแรกที่ไปสำรวจดาวเคราะห์แคระ

เดือน เม.ย. ยานเมสเซนเจอร์ (MESSENGER) ที่นาซาส่งไปสำรวจดาวพุธ จะสิ้นสุดภารกิจ ยานเมสเซนเจอร์ออกจากโลกเมื่อปี 2547 เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธเมื่อเดือน มี.ค. 2554 ทำแผนที่ดาวพุธได้ทั่วทั้งดวงเป็นครั้งแรก ศึกษาสภาพแวดล้อมและสภาพทางธรณีวิทยาของดาวพุธ ยานจะปิดฉากภารกิจด้วยการพุ่งชนดาวพุธ

กลางเดือน ก.ค. ยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) จะเฉียดใกล้ดาวพลูโตที่ระยะห่างประมาณ 13,700 กิโลเมตร ยานนิวฮอไรซอนส์ออกจากโลกเมื่อปี 2549 จะเป็นยานอวกาศลำแรกที่เข้าไปถ่ายภาพระยะใกล้ของวัตถุที่ในอดีตเคยเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ปัจจุบันเป็นดาวเคราะห์แคระ หลังจากเฉียดใกล้ที่สุด ยานจะเข้าไปในเงามืดของพลูโต พร้อมกับหันมาถ่ายภาพพลูโตขณะบังดวงอาทิตย์ เมื่อผ่านระบบดาวพลูโตไปแล้ว ยานนิวฮอไรซอนส์จะมุ่งหน้าต่อไป มีเป้าหมายสำรวจวัตถุในแถบไคเปอร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีวัตถุคล้ายดาวพลูโตอยู่มาก

เดือน พ.ย. แจ็กซาของญี่ปุ่นจะนำยานอะกะสึกิ (Akatsuki) เข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ ยานลำนี้ออกจากโลกเมื่อปี 2553 มีแผนเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์มาตั้งแต่ปลายปีนั้น แต่ประสบความล้มเหลว ยานโคจรรอบดวงอาทิตย์ต่อมาถึงปัจจุบัน แจ็กซาจะพยายามนำยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์อีกครั้ง
ในปลายปีนี้

นอกจากภารกิจของยานอวกาศต่างๆ ที่จะมีขึ้นในปี 2558 นาซาจะต้องตัดสินอนาคตของโครงการสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่ใช้ชื่อภารกิจว่า Asteroid Redirect Mission หรือ Asteroid Retrieval and Utilization เป้าหมายคือการส่งยานอวกาศไปจับดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กมาโคจรรอบดวงจันทร์ จากนั้นส่งยานหรือนักบินอวกาศไปสำรวจพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย รวมทั้งเป็นการทดสอบเทคโนโลยีการเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย อันเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันดาวเคราะห์น้อยชนโลกในอนาคต

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (4–11 ม.ค.)

ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์สว่างที่เห็นได้ทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ดาวพุธและดาวศุกร์อยู่ใกล้ขอบฟ้า เคียงคู่กันภายในระยะ 2 องศา ตลอดช่วงวันที่ 4-16 ม.ค. โดยดาวพุธอยู่ใต้ดาวศุกร์ เข้าใกล้กันที่สุดในวันที่ 10-11 ม.ค. ห่างกัน 0.7 องศา (กว้างกว่าขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงเล็กน้อย)

ดาวอังคารอยู่สูงห่างขอบฟ้ามากกว่าดาวพุธและดาวศุกร์ และสว่างน้อยกว่า เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดดาวอังคารอยู่สูง 20-30 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลงจนตกลับขอบฟ้าในเวลาก่อน 3 ทุ่มเล็กน้อย เป็นเวลาที่เริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในกลุ่มดาวสิงโต ดาวพฤหัสบดีผ่านเหนือศีรษะตอนตี 3 แล้วไปอยู่สูงทางทิศตะวันตกเมื่อฟ้าสาง

ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ใกล้ส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง เริ่มเห็นตั้งแต่ประมาณตี 4 ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงในวันที่ 5 ม.ค. หลังจากนั้นเข้าสู่ข้างแรม ดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในเช้ามืดวันที่ 8 ม.ค. ที่ระยะ 7 องศา ก่อนจะผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในวันถัดไปที่ระยะ 4 องศา

เช้ามืดวันที่ 5 และ 6 ม.ค. สถานีอวกาศนานาชาติโคจรผ่านเหนือท้องฟ้าประเทศไทย เห็นเป็นจุดสว่างคล้ายดาวเคลื่อนที่บนท้องฟ้า วันจันทร์ที่ 5 ม.ค. กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเริ่มเห็นสถานีอวกาศใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 06.16 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดี แล้วถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 06.19 น. ที่มุมเงย 45 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 06.22 น.

วันอังคารที่ 6 ม.ค. กรุงเทพฯ เริ่มเห็นสถานีอวกาศใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 05.24 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้าย ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 05.28 น. ที่มุมเงย 60 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 05.31 น.