ช.ช้างหายไปไหน?
เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2012 โจรราวร้อยคนขี่ม้าออกจากชาดเข้าสู่อุทยานแห่งชาติบูบาเอ็นจีดาห์ในแคเมอรูน
“เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2012 โจรราวร้อยคนขี่ม้าออกจากชาดเข้าสู่อุทยานแห่งชาติบูบาเอ็นจีดาห์ในแคเมอรูน และสังหารช้างป่าไปหลายร้อยตัว หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการฆ่ายกครัว นี่คือการสังหารหมู่สัตว์ป่าครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่กฎหมายห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศมีผลบังคับใช้เมื่อปี 1989 ด้วยอาวุธครบมืออย่างปืนอาก้าและเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี พวกเขาล้มช้างได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำราวปฏิบัติการทางทหาร จากภาพที่ปรากฏในระดับสายตา ซากช้างแต่ละตัวที่ถูกกระสุนและระเบิดฉีกกระจายคืออนุสรณ์แห่งความละโมบของมนุษย์ การลักลอบค้างาช้างในปัจจันถึงจุดเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ และการยึดงาช้างผิดกฎหมายก็ถือว่ามากที่สุดในรอบหลายปี ภาพจากมุมสูงก็เลวร้ายไม่ต่างกัน ซากที่กระจายเกลื่อนคือฉากอาชญากรรมไร้เหตุผล คุณได้เห็นเลยว่าช้างตัวไหนพยายามวิ่งหนี แม่ช้างตัวไหนพยายามปกป้องลูก โขลงช้างที่ตื่นตระหนกซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 50 ตัว ถูกยิงตายยกโขลงอย่างไร นี่คือเหยื่อล่าสุดในจำนวนหลายหมื่นตัวที่ถูกฆ่าทั่วแอฟริกาในแต่ละปี และหากมองจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ทุ่งสังหารเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย หากเก่าแก่ ไร้กาลเวลา และกำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ”
ประโยคเปิดเรื่องอันน่าสะเทือนใจจากรายงานพิเศษเรื่อง งาช้างเลือด : สังเวยงาแลกศรัทธา (BLOOD IVORY: IVORY WORSHIP) ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือน ต.ค. 2012 เขียนโดย ไบรอัน คริสตี้ นักข่าวเชิงสืบสวนมือรางวัล ว่ากันว่าสารคดีเรื่องนี้ตีแผ่ขบวนการค้างาช้างแอฟริกาได้อย่างครบถ้วนและเจาะลึกที่สุด
ข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ระบุว่า แต่ละปีมีช้างแอฟริกาถูกล่าเพื่อเอางาไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นตัว ซึ่งพื้นที่ที่มีการลักลอบล่าช้างมากที่สุดพบว่า 90% อยู่ในทวีปแอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันตก 84% แอฟริกาตะวันออก 59% และแอฟริกาตอนใต้ 51% สอดคล้องกับตัวเลขประชากรช้างในเขตเฝ้าระวังอย่างอุทยานแห่งชาติ เขตสงวน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วทั้งทวีปแอฟริกา พบว่าจากที่เคยมีช้างป่ามากกว่า 1.3 ล้านตัว ในปี 1979 เหลือเพียงไม่ถึง 7 แสนตัว ในปี 2007
แม้จะมีกฎหมายห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศบังคับใช้ทั่วโลก แต่ด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น ช่องโหว่ทางกฎหมายในหลายประเทศ บวกกับความต้องการงาช้างเพื่อนำไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับและศาสนวัตถุสำหรับบูชา โดยเฉพาะทวีปเอเชีย เช่น จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย การหยุดยั้งปัญหาการลักลอบฆ่าช้างจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ประเทศไทยถือเป็นตลาดค้างาช้างเถื่อนที่ใหญ่ที่สุุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในขณะนี้ หลายครั้งหลายหนที่มีข่าวเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ลักลอบขนงาช้างแอฟริกาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีกฎหมายอนุญาตให้สามารถค้างาช้างบ้านในประเทศได้ แต่วิธีการยอดนิยมของบรรดาพ่อค้าคือ การนำผลิตภัณฑ์งาช้างแอฟริกามาสวมรอยขายผ่านร้านขายของที่ระลึก เนื่องจากเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่างาช้างดังกล่าวมีแหล่งมาจากที่ใด
การซื้องาช้างผิดกฎหมายกลับบ้านไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงมีส่วนทำให้ช้างแอฟริกาต้องถูกสังเวยชีวิตอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น
ล่าสุด WWF Thailand ได้ออกแคมเปญ “ช.ช้าง ช่วยช้าง” เพื่อส่งสารไปยังผู้คนในสังคมให้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์และแสดงพลังร่วมต้านการฆ่าช้างเอางา ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ส่งเสริมวงจรบาปนี้ ภายใต้แนวคิดที่ว่าช้างหายไปจากธรรมชาติปีละ 2 หมื่นตัว หลายคนอาจไม่รับรู้ถึงความสูญเสีย หากวันหนึ่ง ช.ช้าง หายไปจากการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคนไทย เราจะเห็นความสำคัญของช้างเท่ากับ ช.ช้างหรือไม่
จุดมุ่งหมายของการณรงค์ครั้งนี้คือการระดมกำลังศิลปิน ดารา สื่อมวลชน องค์กร ผู้นำทางความคิด และประชาชนทุกภาคส่วนของไทยพร้อมใจกันเอา “ช.ช้าง” ออกจากชื่อ ด้วยการถ่ายรูป พยัญชนะ “ช” ที่หายไปจากสิ่งรอบตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล ชื่อบริษัท ห้างร้าน องค์กร ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ฯลฯ แล้วแชร์ในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ พร้อมติดแฮชแท็ก #ชช้างช่วยช้าง และ #wwfthailand
ง่ายๆ เพียงคลิกที่ App “สร้างป้ายชื่อ ให้ ‘ช.’ หายไป!” http://www.chorchang.org/ แค่นี้ก็เรียบร้อย
คนไทยที่ตบเท้ามาร่วมแสดงพลังมีตั้งแต่วงร็อกชื่อดังอย่างบอดี้แสลม เดอะริชแมนทอย สลอตแมชชีน ฉัตรชัยและสินจัย เปล่งพานิช ผู้พันเบิร์ด-พท.วันชนะ สวัสดี เก๋-ชลลดา เมฆราตรี ท็อป-ดารณีนุช ตั๊ก-บงกชและสามี บุญชัย เบญจรงคกุล เต้ย จรินพร เก่ง-ธชย ปทุมสุวรรณ อุ๋ย บุดดาเบลส คู่หูนักฟุตบอลทีมชาติอย่าง ชาริล ชัปปุยส์และเจ-ธนาธิป ฯลฯ จนถึงหนุ่มสาวรุ่นใหม่อีกมากหน้าหลายตา
ช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศและมีความผูกพันกับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน การรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการแสดงออกว่าคนไทยรักช้าง และไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นแหล่งฟอกงาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไป นี่คือวีรกรรมเล็กๆ แต่สร้างแรงกระเพื่อมขยายเป็นวงกว้างจนใครๆ ต้องเหลียวมอง
กู่ก้องให้โลกรู้ว่าเราคนไทย ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้าง เพื่อให้งาช้างอยู่คู่กับช้างอย่างที่มันควรจะเป็น