ทองคำเข็นไม่ขึ้น ส่อแววซบยาวทั้งปี
การจ่อปะทุของสงครามค่าเงิน รวมถึงความไม่แน่นอนของผลลัพธ์การเจรจาหนี้กรีซ
โดย...ก้องภพ เทอดสุวรรณ
การจ่อปะทุของสงครามค่าเงิน รวมถึงความไม่แน่นอนของผลลัพธ์การเจรจาหนี้กรีซ ได้ผลักดันให้ราคาทองคำทะยานขึ้นทะลุระดับ 1,200 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ไปแล้วในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณี
ดังกล่าวสร้างเสียงกระซิบถึงการกลับมาของยุคทองคำบูม ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนของโลก
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะยาวกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยกองทุนเก็งกำไรส่วนใหญ่กลับมีแนวโน้มถอนตัวออกจากสินทรัพย์ที่เป็นทองคำ โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า เฉพาะช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีบรรดากองทุนเฮจฟันด์ถอนตัวออกจากสินทรัพย์ที่มีทองคำหนุนหลังมากถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่ตลาดโคเม็กซ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.8% อยู่ที่ 1,204.90 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์
นับเป็นสัญญาณว่าในระยะยาวราคาทองคำมีแนวโน้มซบเซามากกว่าจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากเม็ดเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดมากกว่า ทั้งหุ้นและน้ำมันที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะเดียวกันสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรก็มีความน่าสนใจมากกว่าในสายตาของ
นักลงทุน
ทั้งนี้ แม้โลกจะยังคงอยู่ท่ามกลางความไม่มั่นคงจากการแข่งขันกันหั่นอัตราดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะซบเซา แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับฟื้นขึ้นมา แม้จะไม่โดดเด่นแต่ก็นับเป็นประเทศอุตสาหกรรมประเทศเดียวที่มีการเติบโตขาขึ้น
อีกทั้งต้องยอมรับว่า สหรัฐยังคงเป็นมหาอำนาจที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นหากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวก็น่าจะเป็นหัวรถจักรในการฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวตามไปด้วย
บรรดานักลงทุนจึงตบเท้าแห่เข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียวก็มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเมืองลุงแซมถึง 67 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แม้ขณะนี้ดัชนีตลาดหุ้นยังคงแกว่งตัวและไม่มีทิศทางที่แน่ชัดก็ตาม
ขณะเดียวกัน สกุลเงินเหรียญสหรัฐยังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างชาติ เช่น การตัดสินใจเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโร ซึ่งทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลง ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการแห่ลงทุนในตลาดทุนสหรัฐเช่นกัน
พร้อมกันนี้ เศษซากจากการอัดฉีดคิวอีของทั้งสหรัฐที่เพิ่งยุติไปเมื่อเดือน ต.ค.ของญี่ปุ่นที่ยังคงดำเนินอยู่ และของยุโรปที่กำลังจะเริ่ม ทำให้โลกเกิดภาวะเงินล้นโลก เมื่อนักลงทุนมีเงินในมือเยอะขึ้น จึงกล้าที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น และละเลยการลงทุนในทองคำ
แจ็ค แอบลิน หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของธนาคารบีเอ็มโอ ไพรเวท แสดงความเห็นว่า ในระยะยาวราคาทองคำจะยังคงอยู่ในช่วงขาลงต่อไป โดยให้เหตุผลว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย
ดังนั้นหากไม่เกิดสถานการณ์เลวร้าย ราคาทองคำก็จะไม่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น
โลหะมีค่ายังถูกสินทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำมันบดบังรัศมีอีกเช่นกัน หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาถึง 50% จากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แม้นักลงทุนบางส่วนจะแห่ทิ้งการเก็งกำไรในตลาด “ทองคำดำ” แต่นักลงทุนอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าราคาน้ำมันที่ถูกที่สุดตั้งแต่ปี 2009 เป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนเช่นกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันอาจดีดตัวขึ้นในอนาคต หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับเปลี่ยนนโยบาย
แม้จะเป็นการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง แต่เม็ดเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันกับมีปริมาณสูงขึ้นถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เฉพาะในเดือน ม.ค.เพียงเดือนเดียว ก็มีเม็ดเงินเข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ดังกล่าวถึง 1,990 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องถือเป็นอัตราการเพิ่มการลงทุนที่สูงที่สุดในรอบ 6 เดือน
โดยเม็ดเงินไหลเข้าสู่ 4 กองทุน ลงทุนในหุ้น (อีพีเอฟ) ของบริษัทพลังงานรายใหญ่ 4 กองทุน โดยกองทุนยูเอสออยล์ฟันด์ซึ่งเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันที่ตลาดเวสต์เทกซัสมีทุนเพิ่มขึ้น 1,150 เหรียญสหรัฐ ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ พันธบัตรยังมีแนวโน้มแรงดึงดูดการลงทุนได้มากกว่าทองคำอีกด้วย ถึงแม้จะมีสถานะความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนกัน เหตุเพราะความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกแต่ปี 2006 ในช่วงกลางปีนี้
ดังนั้น ท่ามกลางความไม่มั่นคงของสถานการณ์โลก พันธบัตรจึงเป็นตัวเลือกสำหรับการลงทุนที่น่าสนใจกว่าทองคำ โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า มีแนวโน้มที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี จะปรับตัวสูงขึ้นที่สุดในปี 2015 หากสามารถทำลายสถิติเคยทำไว้ที่ 2.15% เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งอ่อนไหวต่อนโยบายของเฟดปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุด ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนอ้างอิงสำหรับหลักทรัพย์ทุกประเภทในสหรัฐยังเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 0.5% อีกด้วย
ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉลี่ยแล้วปรับตัวลงมาถึง 29% ซึ่งถือเป็นช่วงทองคำขาลงอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่ช่วงปี 1998
กล่าวโดยสรุป คือ สถานการณ์ความไม่มั่นคงในปัจจุบันกลับไม่สามารถหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยปกติแล้วนักลงทุนจะแห่ลงทุนในทองคำเมื่อไม่มั่นใจในสถานการณ์ความผันผวนโลก เนื่องจากโลกยังมีปัจจัยอื่นๆ ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ราคาน้ำมันขาลง รวมถึงการเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งบดบังรัศมีทำให้ทองคำไม่เฉิดฉายท่ามกลางความผันผวน
ดังนั้น ในปี 2015 จึงยังไม่ใช่ยุคของทองคำ อีกทั้งยังส่อเค้าว่าจะซบเซาไปตลอดทั้งปีอีกด้วย