สพฐ.เร่งดันแผนอ่านออกตั้งแต่ ป.1
สพฐ.รับนโยบายบิ๊กตู่ เดินหน้าดันแผนอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ชั้นป.1 โดยใช้นวัตกรรมทางการศึกษา
สพฐ.รับนโยบายบิ๊กตู่ เดินหน้าดันแผนอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ชั้นป.1 โดยใช้นวัตกรรมทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเร่งด่วนโดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องขอให้เด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อ่านออกเขียนได้ สพฐ.จะรับมาดำเนินการ จากเดิมตั้งเป้าหมายแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวในระดับ ป.3 ดังนั้น สพฐ.จะเริ่มดำเนินการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ชั้น ป.1 ทุกคน โดยใช้นวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ อาทิ การสอนแบบแจกลูกสะกดคำ สื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จะไม่เป็นการผลักภาระให้ของเด็ก แต่จะใช้หลักการประเมินความสามารถด้านการอ่าน ตามเกณฑ์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมอบนโยบายให้เด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้ในเรียนสายอาชีพมากขึ้น เนื่องจากมีความกังวลว่าเด็กจะมุ่งเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพียงอย่างเดียว อีกทั้งอยากให้เด็กไทยมีความรู้เรื่องทักษะวิชาชีพด้วย โดยเรื่องนี้ สพฐ.ได้วางกรอบการทำงานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไว้ในโครงการโรงเรียนมัธยมศึกษาปฎิบัติการเสริมทักษะอาชีพ ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 แนวทาง คือ สพฐ.เป็นเครือข่ายบ่มเพาะนักเรียนสายอาชีพระดับม.ต้นและส่งเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษา และ2.ผู้เรียนในโรงเรียน สพฐ.เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเรียนรายวิชาเพิ่มเติมจากรายวิชาชีพตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อจบหลักสูตรแล้วผู้เรียนได้รับ 2 วุฒิ โดยมีเป้าหมายในกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์
นายกมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังห่วงใยเรื่องการพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทยจึงอยากให้ศธ.เร่งปลูกฝังในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตรัฐบาลจะต้องประกาศนโยบายให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เนื่องจากขณะนี้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ทุกคนต้องเรียนและใช้สื่อสารแล้ว โดยนายกฯอยากให้เด็กไทยได้เรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาโดย ซึ่งในระบบการทำงานด้านภาษาอังกฤษของ สพฐ.นั้น คือ ใช้แนวทางตามหลักสูตรของบริติช เคานซิล จากประเทศอังกฤษ อยู่แล้ว แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ รมว.ศธ.กำลังหารือกับรัฐบาลประเทศอังกฤษ เพื่อขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ให้มาวางระบบการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในประเทศไทยทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน เพราะประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ เนื่องจากเด็กเรียนภาษาอังกฤษแล้วก็ไม่ได้นำไปใช้ในการสื่อสาร