ปปช.-อดีตสว.แถลงปิดคดีถอดถอนนัดลงมติ12มี.ค.
สนช.นัดลงมติชี้ชะตา38สว.12 มี.ค. ป.ป.ช.ย้ำ หลักประชาธิปหตยต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อย หวังสนช.สร้างบทเรียน ด้าน อดีตสว. ยันแก้รธน.ถูกต้อง
สนช.นัดลงมติชี้ชะตา38สว.12 มี.ค. ป.ป.ช.ย้ำ หลักประชาธิปหตยต้องคุ้มครองเสียงข้างน้อย หวังสนช.สร้างบทเรียน ด้าน อดีตสว. ยันแก้รธน.ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณากระบวนการถอดถอนอดีตสว.จำนวน 38 คนในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสว.โดยมิชอบ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ อดีตสว.ผู้ถูกกล่าวหา แถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อที่ประชุมสนช.
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ได้แถลงเป็นคนแรกว่า มติของคณะกรรมการป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดอดีตสว.38คนมีเหตุผลที่ไม่อาจโต้แย้ง การถอดถอนอดีตสว.38 คนนั้นไม่ใช่การลงโทษทางการเมืองแก่ผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ เกณฑ์ในการพิสูจน์ความผิดของบุคคล กฎหมายกำหนดบังคับแต่เพียงว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เพียงพอที่คณะกรรมการป.ป.ช.จะชี้มูลความผิด และเพียงพอที่สนช.ในฐานะวุฒิสภาจะมีมติถอดถอน
"คดีนี้ไม่มีทางที่จะมาหาเหตุเพื่อยกฟ้องไม่ได้ เพราะผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดจนครบองค์ประกอบ โดยเฉพาะการไม่เอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอต่อประธานรัฐสภามาพิจารณาในวาระแรกของการประชุมรัฐสภา ซึ่งเท่ากับเป็นการปล่อยให้บุคคลเพียงคนเดียวสามารถร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภาได้"
นายวิชัย กล่าวว่า การตรวจสอบคดีดังกล่าวทางคณะกรรมการป.ป.ช.ได้พิสูจน์มากกว่าที่กฎหมายกำหนดอีก กล่าวคือ พยานหลักฐานที่ป.ป.ช.รวบรวมมาทั้งหมดถึงขั้นที่สามารถพิสูจน์ได้โดยปราศจากข้อสงสัยตามมาตรฐานในการดำเนินคดีทางอาญาที่ต้องพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัย ทั้งที่คดีการเมืองอย่างการถอดถอนจะอาศัยพฤติการณ์แวดล้อมเท่านั้น จึงเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่สนช.จะลงมติไม่ถอดถอน
"ประชาธิปไตยมันเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่ง คือ เสียงข้างมาก อีกด้านหนึ่ง คือ การคุ้มครองเสียงข้างน้อย ในอดีตมีวาทะที่เป็นอมตะของเจมส์ เมดิสัน เมื่อ200ปีที่แล้ว ที่ระบุว่า เมื่อใดเสียงข้างมากผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็งด้วยผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว เสียงข้างน้อยย่อมอยู่ในสภาพที่ขาดหลักประกัน เหตุการณ์ความวุ่นวายของเมืองไทยที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ไม่ได้เกิดจากผู้ปกครองข่มเหงรังแกผู้ถูกปกครอง แต่เกิดจากเสียงข้างมากไม่ฟังเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยถูกย่ำยี ชนวนความวุ่นวายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย หรือการทุจริตจำนำข้าว" นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย กล่าวว่า กระบวนการถอดถอนเป็นการควบคุมถ่วงดุลฝ่ายเสียงข้างมากแบบเดียวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ดังนั้น มติของสนช.ในวันพรุ่งนี้จะเป็นการให้การเรียนรู้แก่ประชาชนในแก่นแท้ของประชาธิปไตย ที่ไม่ได้มีเฉพาะเสียงข้างมากเท่านั้น ประชาธิปไตยที่คุ้มครองเสียงข้างน้อย จะทำให้เสียงข้างมากไม่ลำพองใจ จะไม่เกิดการกระทำในแบบด้านได้อายอดอย่างที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกัน เสียงข้างน้อยก็จะมีความอดกลั่น ซึ่งจะนำมาสู่การปรองดองในที่สุด
"ดังนั้น การลงมติของสนช.ในวันพรุ่งนี้ (12มี.ค.) ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะกดปุ่มไหนระหว่างถอดถอน ไม่ถอดถอน และงดออกเสียง ก็ถือเป็นดุลพินิจของสนช. ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.จะเคารพและไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสนช." นายวิชัย กล่าว
จากนั้นเป็นการแถลงปิดคดีของอดีตสว.โดยได้มอบหมายให้ นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีตสว.กำแพงเพชร นายวิทยา อินาลา อดีตสว.นครพนม และนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต สว.นนทบุรี แถลงปิดดคีต่อที่ประชุมสนช.
นายกฤช กล่าวชี้แจงว่า ขอยืนยันว่า ไม่เคยใช้อำนาจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ 2550 แต่การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการป.ป.ช.มีปัญหา โดยเฉพาะกรณีของนางสุภา ปิยะจิตติ ซึ่งได้ทำหน้าที่ก่อนที่จะมีโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นประเด็นที่นายวิชัย ก็ได้ยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางเอกสารของฝ่ายธุรการ พร้อมอ้างว่าเป็นความผิดเล็กน้อย แต่ส่วนตัวมองว่าแม้จะอ้างว่าเป็นความผิดเล็กน้อย แต่ก็ต้องถือว่าเป็นความผิดเช่นกัน เพราะป.ป.ช.คือองค์กรสำคัญของชาติ ที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ข้าราชการและนักการเมือง
นายกฤช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังมีการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะยื่นคำร้องไปถึงป.ป.ช.เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2556 ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมป.ป.ช.จึงประชุมกันก่อนล่วงหน้าได้ทั้งที่ยังไม่ได้รับเรื่อง จึงสรุปได้ว่า กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรรมการป.ป.ช.ก็มีอคติ ไม่รอบคอบ
"พวกเราขอยืนยันว่า ไม่เคยคิดล้มล้างการปกครองตามที่ถูกกล่าวหา เพราะพวกเราก็มาจากพลเรือน ตำรวจ ทหาร และข้าราชการ เหมือนสมาชิกสนช.ทุกคน" นายกฤช กล่าว
นายวิทยา ชี้แจงว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่1 ของรัฐสภา ถือว่ามีความถูกต้องทุกประการ เนื่องจากมีสส.และสว.ร่วมกันเข้าชื่อจำนวน 308 คนตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 กำหนด ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อประธานรัฐสภากับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 ไม่ตรงกันนั้น ยืนยันว่าไม่สามารถถือเป็นความผิดได้ เพราะผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้อ่านหลักการต่อที่ประชุมรัฐสภาพร้อมกับแจ้งในเรื่องการเพิ่มเติมเนื้อหาเข้ามาจากที่ได้ยื่นไว้กับประธานรัฐสภา และที่สำคัญการลงมติของสว.ในฐานะสมาชิกรัฐสภาย่อมได้เอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและไม่อาจนำไปเหตุแห่งการฟ้องร้องได้
"วันที่ 31 ธ.ค. 2558 ประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งรัฐสภาไทยเราเป็นสมาชิกสมัชชาสหภาพรัฐสภาอาเซียน แต่หากฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่มี แต่ป.ป.ช.กลับมาทำอย่างนี้ ประเทศเพื่อนบ้านจะเชื่อใจเราได้อย่างไร จึงไม่แน่ใจว่า กระบวนการถอดถอน มีประสงค์ดีหรือประสงค์ร้าย มีความพยายามดิสเครดิตฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสมาชิกสนช.ก็ยังมีความเป็นธรรมอยู่” นายวิทยา กล่าว
ขณะที่ นายดิเรก กล่าวว่า ในทางเป็นประเพณีปฏิบัติที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำกันมา 82 ปี ร่างกฎหมายใดที่ประธานรัฐสภายังไม่ได้บรรจุไว้ในวาระการประชุม ยังสามารถถูกปรับแก้ไขได้ แต่เมื่อมีการบรรจุเข้าสู่วาระแล้วถึงจะแก้ไม่ได้ ที่ผ่านมากฎหมายจำนวนมากก็มีการแก้ไขแบบนี้
นายดิเรก กล่าวอีกว่า การร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้สว.มาจากการเลือกตั้ง เพราะ สว.ต้องทำหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงจำเป็นต้องให้สว.ยึดโยงกับประชาชน ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญได้เคยให้คำแนะนำว่าไม่ควรแก้ทั้งฉบับ แต่ควรแก้เป็นรายมาตรา ซึ่งผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ดำเนินการตามนั้น
ภายหลังจากทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นการแถลงปิดคดี นายพรเพชร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้มีคำสั่งนัดประชุมสนช.เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน อดีตสว.จำนวน 38 คนในวันที่ 12 มี.ค. เวลา 10.00 น. ต่อมา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 อธิบายถึงกระบวนการลงมติว่า จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มความผิด เป็นบัตร 4 ใบ 4 สี แล้วให้สมาชิกลงคะแนนลับ