posttoday

ความจงรักภักดีแผ่นดินของชาวทิเบต (1)

15 มีนาคม 2558

ข้าพเจ้าได้เดินทางไปอินเดียครั้งแรกเมื่อปี 2547 เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี

โดย...พระมหารุ่งเพชร ติกขวีโร Ph.D

ข้าพเจ้าได้เดินทางไปอินเดียครั้งแรกเมื่อปี 2547 เพื่อเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ต่อมาเดือน พ.ค. 2549 หลังจากสอบปลายภาคที่สองเสร็จ ข้าพเจ้าพร้อมเพื่อนสหธรรมิกได้เดินทางไปที่ดาร์จีลิ่ง เมืองที่ได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งขุนเขา” ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐเบ็งกอล ทางตะวันตกของอินเดีย

ด้วยดาร์จีลิ่งเป็นเมืองที่อยู่บนเขาและมีพรมแดนติดกับทิเบต ชาวทิเบตได้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ที่เมืองดาร์จีลิ่งหลังจากที่ประเทศของตนถูกทหารจีนบุกเข้ายึดครองในปี 2502 ดังนั้นที่เมืองดาร์จีลิ่งจึงมี “ศูนย์พึ่งพาตนเองชาวทิเบตพลัดถิ่น” และแน่นอนว่าที่เมืองดาร์จีลิ่งมีชาวทิเบตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะพักอยู่ที่เมืองนี้ข้าพเจ้าได้เห็นสตรีทิเบตจำนวนมากสวมชุดชูพะ ซึ่งเป็นชุดประจำชาติทิเบตเดินรอบเขาพร้อมกับถือกงล้อมนตราและบริกรรมมนตรา “โอม มณี ปัทเม ฮุม” (บทสวดมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาแบบทิเบต) การได้เห็นชาวทิเบตปฏิบัติตนเช่นนี้ดึงดูดให้ข้าพเจ้าสนใจชาวทิเบตและวัฒนธรรมทิเบต

ข้าพเจ้าได้ถามชาวดาร์จีลิ่งว่า “ชาวทิเบตคือใคร? และเพราะเหตุใดพวกเขาจึงมาอาศัยอยู่ที่เมืองดาร์จีลิ่ง?” หลังจากรู้ความจริงว่า ชาวทิเบตอาศัยอยู่ที่เมืองดาร์จีลิ่งก็เพราะประเทศทิเบตถูกประเทศเพื่อนบ้านบุกเข้ายึดครอง ข้าพเจ้าจึงเรียกชาวทิเบตตามที่เห็นจากการปฏิบัติตนของพวกเขาว่า “ชาวทิเบตพลัดประเทศเพราะว่าประเทศของพวกเขาถูกยึดครอง แต่ไม่มีผู้ใดทำให้พวกเขาพลัดวัฒนธรรมทิเบตได้ ยกเว้นตัวพวกเขาเอง” เมื่อสนใจในวัฒนธรรมทิเบตแล้ว ข้าพเจ้าได้พยายามหาโอกาสสนทนากับชาวทิเบต และเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวทิเบตด้วยการสังเกต ข้าพเจ้าได้พักอยู่ที่เมืองดาร์จีลิ่ง 1 เดือนกับ 1 สัปดาห์ จากนั้นก็ได้เดินทางกลับมหาวิทยาลัยพาราณสี ที่เมืองพาราณสี

ต่อมาเดือน มี.ค. 2553 ข้าพเจ้าได้ไปที่เมืองดาร์จีลิ่งอีกครั้ง การไปครั้งนี้ก็เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการเขียนหนังสือ ทิเบตที่อินเดีย (ตีพิมพ์เดือน ก.ย. 2553) วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินที่ถนนเนห์รู ซึ่งเป็นถนนที่มีร้านขายของที่ระลึกเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าได้พบชายหนุ่มทิเบตและได้สนทนากับเขา การสนทนากับหนุ่มคนนี้ข้าพเจ้าได้ถามเขาว่า “คุณเกิดที่ดาร์จีลิ่งหรือที่ทิเบต?” หนุ่มคนนี้ตอบว่า “สถานที่เกิดของผมคือเมืองดาร์จีลิ่ง แต่ว่าผมเกิดที่ทิเบต”

คำตอบของหนุ่มทิเบตคนนี้ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมาก ถ้าสถานที่เกิดของเขาคือเมืองดาร์จีลิ่ง แล้วเขาจะไปเกิดที่ทิเบตได้อย่างไรกัน ข้าพเจ้าจึงถามเขาอีกครั้ง เขาก็ยืนยันคำตอบเดิม พร้อมกับบอกว่า ตอนนี้เขากำลังจะไปหาคุณแม่ (คุณแม่ของเขามีบูธขายของซึ่งห่างจากจุดที่คุยกันประมาณ 510 เมตร) จึงบอกกับเขาว่า “ช่วยพาไปหาคุณแม่ด้วย อยากสนทนากับคุณแม่” จากนั้นเขาก็ได้พาข้าพเจ้าไปหาคุณแม่ของเขา

เมื่อถึงบูธที่คุณแม่กำลังขายของ ข้าพเจ้าได้ทักทายคุณแม่เป็นภาษาทิเบตว่า ตาชิ เดเล่ จากนั้นจึงขออนุญาตคุณแม่สอบถามเกี่ยวกับชีวิตของคุณแม่ ข้าพเจ้าได้ถามว่า “คุณแม่ให้กำเนิดลูกชายคนนี้ที่ดาร์จีลิ่งหรือที่ทิเบต?” คุณแม่ตอบว่า “โยมได้ลี้ภัยมาที่อินเดียเมื่อตอนยังเป็นเด็ก ต่อมาได้แต่งงานที่เมืองดาร์จีลิ่งและคลอดลูกชายคนนี้ที่เมืองดาร์จีลิ่งนี่แหละ” เมื่อได้ทราบความจริงจากคุณแม่ ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจในคำตอบของลูกชายของคุณแม่คนนี้มาก แม้ว่าเขาเกิดที่ดาร์จีลิ่ง แต่เขาก็ถือว่าตนเองนั้นเกิดที่ทิเบต การที่เขาพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่กตัญญูต่อเมืองดาร์จีลิ่ง แต่เขาต้องการแสดงความรักต่อทิเบตหรือมาตุภูมิประเทศ

ขณะพักที่เมืองดาร์จีลิ่ง วันที่ 10 มี.ค. 2553 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน “ครบรอบ 51  ปี วันเรียกร้องเสรีภาพแห่งชาติทิเบต” ซึ่งจัดขึ้นที่ Central School for Tibetans, Darjeeling โดยมีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 500 คน ประกอบด้วย พระลามะ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ในช่วงงานมีการแสดงของนักเรียน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ล้วนระบายสีที่หน้าและหน้าผากมีใจความว่า “Free Tibet. Save Tibet.” ขณะที่นักเรียนกำลังแสดงบนเวทีก็มีการฉายสารคดีภาพเหตุการณ์ทหารจีนบุกเข้าทำร้ายชาวทิเบตเพื่อยึดครองดินแดนทิเบต ข้าพเจ้าคิดว่า ชาวทิเบตที่กำลังชมการแสดงและภาพเหตุการณ์ทหารจีนทำร้ายพี่น้องชาวทิเบตคงรู้สึกเห็นใจและภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตนเอง และก็คงมีความคิดว่า

“เมื่อทุกคนต่างก็รักประเทศของตนเอง แล้วทำไมเขาต้องมายึดประเทศของฉันด้วย ประเทศของเขายังไม่ใหญ่พออีกหรือ เขารู้จักสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า เขามีสิทธิอะไรมายึดประเทศของฉัน แล้วเมื่อไรเขาจะออกไปจากประเทศของฉันเสียที และทันทีที่เขาออกไปจากประเทศของฉัน ฉันจะรีบกลับประเทศ ฉันจะได้เป็นประชากรทิเบตในประเทศอันเป็นที่รักของฉัน นับจากนี้เป็นต้นไปฉันไม่ใช่
ผู้ลี้ภัยอีกต่อไปแล้ว”

ต่อมาวันที่ 12 มี.ค. 2553 ข้าพเจ้าได้ร่วมงาน “วันสตรีแห่งชาติทิเบต” งานนี้จัดขึ้นโดยสมาคมสตรีทิเบตที่เมืองดาร์จีลิ่ง ชาวทิเบตที่ดาร์จีลิ่งและที่โสนาดา (อยู่ห่างจากดาร์จีลิ่งประมาณ 11 กิโลฯ) กว่าพันคนได้ร่วมงานครั้งนี้ ชาวทิเบตเหล่านี้ได้เดินรอบเขาของเมืองดาร์จีลิ่งพร้อมกับถือธงชาติทิเบตและตะโกนก้องว่า “ประเทศทิเบตเป็นของชาวทิเบต พวกเราต้องการอิสรภาพ พวกเราต้องการความยุติธรรม” แม้ว่าอาศัยอยู่นอกแผ่นดินแม่ แต่ชาวทิเบตเหล่านี้ก็แสดงพลังรักแผ่นดินแม่ พวกเขาต้องการให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า พวกเขารักแผ่นดินแม่คือทิเบตมากแค่ไหน และแน่นอนว่า คนเรานั้นย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความรักต่อประเทศของตนตามแนวทางแห่งสันติวิถี