posttoday

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

22 มีนาคม 2558

ด้วยความคุ้นชิน เมื่อพูดถึงผีเสื้อเรามักจะนึกถึงภาพผีเสื้อที่มีลวดลายสีสันสวยงาม บินอวดโฉมอยู่ท่ามกลางมวลหมู่ดอกไม้

โดย...รักฉัตร เวทีวุฒาจารย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ด้วยความคุ้นชิน เมื่อพูดถึงผีเสื้อเรามักจะนึกถึงภาพผีเสื้อที่มีลวดลายสีสันสวยงาม บินอวดโฉมอยู่ท่ามกลางมวลหมู่ดอกไม้ ขณะที่ยามปีกขยับต้องแสงอาทิตย์ ก็สะท้อนสีเหลือบระยับพริบพราว สะดุดตา

กระนั้นหากให้นึกถึงผีเสื้อในความมืดมิดของรัตติกาล ภาพที่เรานึกถึงนั้นคงแตกต่าง ด้วยความจริงในโลกใบนี้ที่ว่าผีเสื้อไม่ได้มีสีสันสวยงามไปเสียทุกชนิด และก็ไม่ได้อยู่เคียงคู่แสงตะวันเสมอไป

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

 

ทั้งนี้ ผีเสื้อสามารถจำแนกออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) และผีเสื้อกลางคืน (Moth) ซึ่งเกณฑ์ในการแบ่งที่ชัดเจนที่สุดก็ง่ายๆ ตรงๆ ตามชื่อที่เรียกขาน นั่นคือ ผีเสื้อกลางวันออกบินร่อนในเวลากลางวัน ส่วนผีเสื้อกลางคืนจะออกบินร่อนในเวลากลางคืน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผีเสื้อกลางวันบางชนิดออกหากินในยามโพล้เพล้หรือรุ่งสาง ขณะเดียวกันก็มีผีเสื้อกลางคืนบางชนิดออกมาบินอวดโฉมตอนฟ้าสว่างด้วยเช่นกัน

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

 

สำหรับในทางวิชาการแล้ว สาเหตุจริงๆ ที่ทำให้ผีเสื้อทั้งสองต้องออกหากินต่างเวลากันนั้น เป็นเพราะพวกมันมีโครงสร้างของตาที่มีการรับภาพและแสงที่แตกต่างกันนั่นเอง

ผีเสื้อกลางวันมีปีกสีสดสวยเป็นจุดขาย แต่กับผีเสื้อกลางคืนนั้นไม่ใช่ เพื่อความอยู่รอดแล้ว ผีเสื้อกลางคืนจำเป็นต้องลดทอนความสวยเด่นลง สีทึมๆ และลวดลายที่ดูเนียนตาไปกับธรรมชาติช่วยพรางตัวให้รอดพ้นจากสัตว์ผู้ล่า ซึ่งพวกมันก็ทำได้เนียน จนได้ชื่อว่าเป็นแมลงนักพรางตัวอันดับต้นๆ ของโลก

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

 

การพรางตัวเป็นใบไม้แห้งตามพื้นป่าเป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไป แต่ถ้าพูดถึงที่สุดของการพรางตัวแล้ว คงต้องยกให้ผีเสื้อกลางคืนกลุ่มหนึ่งที่ลงทุนทำตัวเป็น “ขี้นก” ที่แม้จะสะดุดตา แต่ก็แน่ใจได้ว่าไม่มีใครอยากยุ่งด้วย

ความสามารถในการพรางตัวของผีเสื้อกลางคืน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกมันดำรงเผ่าพันธุ์มาได้ยาวนานจนถึงทุกวันนี้ โดยจากหลักฐานทางบรรพชีวิน มีการคาดคะเนกันว่า เผ่าพันธุ์ผีเสื้อกลางคืนดำรงชีวิตอยู่บนโลกของเรามายาวนานตั้งแต่ 100-140 ล้านปีก่อน ในขณะที่ซากฟอสซิลผีเสื้อกลางวันที่มีอายุมากที่สุดนั้น มีอายุเพียง 40 ล้านปีเท่านั้น

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

 

นอกจากอยู่มานาน อยู่มาก่อนแล้ว ผีเสื้อกลางคืนยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากกว่าผีเสื้อกลางวันถึงสิบเท่า ยิ่งถ้าเป็นในเขตร้อนชื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของผีเสื้อกลางคืนนั้น อาจมากกว่าผีเสื้อกลางวันถึง 20 เท่า

ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีผีเสื้อกลางคืนมากกว่า 1.3 หมื่นชนิด และมีการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุด ในปี พ.ศ. 2557  “ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร (Sirindhornia)” ที่ รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว และนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สำรวจพบ ได้รับการประกาศให้เป็นผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลก

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

 

ทั้งนี้ สมาชิกผีเสื้อกลางคืนในสกุลนี้มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ Sirindhornia pulchella จากอุทยานแห่งชาติเขานัน จ.นครศรีธรรมราช Sirindhornia chaipattana และ Sirindhornia curvicosta จากโครงการพัฒนาป่า ชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จ.จันทบุรี และ Sirindhornia bifida จากสถานีวิจัยและฝึกอบรมวนเกษตรตราด ก็ถูกจัดว่าเป็นของใหม่ของโลกด้วยเช่นกัน

ผีเสื้อกลางคืนสิรินธร อยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบที่มีขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตร มีสีสันสวยงามในโทนแดงส้ม มีลวดลายโดดเด่น พบในพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง

อาจพูดได้ว่า ผีเสื้อสกุลนี้เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า และพวกมันก็มีบทบาทสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครในระบบนิเวศ

ผีเสื้อกลางคืน วิบไหวในรัตติกาล

 

ตามปกติแล้วหนอนผีเสื้อฅกลางคืนจะถูกตราหน้าว่าเป็นศัตรูพืชตัวแสบที่ทำลายและสร้างความ เสียหาย แต่ผีเสื้อกลางคืนตัวเต็มวัยนั้นตรงกันข้าม พวกมันเป็นนักผสมเกสรที่ยอดเยี่ยม ขนที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างเอื้อต่อการนำพาเกสรจำนวนมาก การแวะเยี่ยมเยือนดอกไม้แต่ละครั้งนั้นคือการต่อชีวิตและสร้างสมดุลธรรมชาติ

ผีเสื้อกลางคืนเป็นแมลงที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปลักษณ์และพฤติกรรม แม้จะเป็นผีเสื้อกลางคืนแต่บางชนิดก็ออกหากินตอนกลางวัน แม้ส่วนใหญ่จะมีสีทึมๆ แต่บางชนิดกลับมีสีสันฉูดฉาด แม้บางชนิดจะตัวใหญ่กว่านกกระจอก แต่บางชนิดก็ตัวเล็กจิ๋วเสียจนไม่คิดว่าเป็นผีเสื้อ สิ่งเหล่านี้บวกกับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ คือสิ่งที่ทำให้ผีเสื้อกลางคืนยังคงมีชีวิตวิบไหวอยู่ในรัตติกาล