posttoday

ชุดไทย... หรือเป็นแค่กระแส?

05 เมษายน 2558

หลากหลายมุมมองกับกระแสแต่ง "ชุดไทย" กับคำถามที่ว่า เป็นเพียงการเห่อตามกระแส หรือจะปลุกศรัทธาให้ผ้าไทยกลับมาเป็นวิถีชีวิต

โดย...กองบรรณาธิการ

กระแสใส่ชุดไทยกำลังเป็นที่พูดถึง แต่ก่อนจะสงสัยว่าเราจะสวมใส่ได้หรือในชีวิตประจำวัน มาดูคำจำกัดความก่อนว่าชุดไทยที่เรากำลังพูดถึงคืออะไรกันแน่

ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้คำจำกัดความของชุดไทยว่า ชุดไทยเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ เป็นชุดที่สะท้อนความเป็นชาติ และศิลปะการทอการปักอันงดงาม “ชุดไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างสมัยก่อนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าซิ่น พอสิ้นรัชกาลที่ 5 ก็มีรูปแบบแต่งกายชุดของตะวันตกเข้ามาผสมผสาน และเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ ผู้นำการแต่งกายชุดไทย

ย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทำให้ชุดไทยสวมใส่ได้ง่ายมากขึ้น โดยทรงกำหนดรูปแบบ “ไทยพระราชนิยม” ขึ้น เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยือนทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ทรงตระหนักว่าการปรากฏพระองค์ในฐานะพระราชินีแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นเสมือนตัวแทนของสตรีไทยทั้งชาติ

ในช่วงเวลาดังกล่าว สตรีไทยยังไม่มีแบบแผนของชุดประจำชาติที่แน่นอน จึงมีพระราชดำริว่าจะต้องทรงฉลองพระองค์ในลักษณะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทย เพื่อการถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้ชาวโลกได้ประจักษ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยกันศึกษาธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักโบราณ และนำรูปแบบการแต่งกายของสตรีในอดีตมาผสมผสานกับวิธีการตัดเย็บเพื่อให้ง่ายต่อการสวมใส่ และเหมาะสมแก่ยุคสมัย ภายหลังฉลองพระองค์ชุดไทยที่ทรงในระหว่างการเสด็จเยือนนานาประเทศครั้งนั้น ได้เป็นที่รู้จักกันในชื่อชุดไทยพระราชนิยม และได้กลายเป็นต้นแบบชุดประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นผู้ตั้งชื่อชุดไทยทั้งหมด โดยนำชื่อพระที่นั่ง พระตำหนัก สถานที่สำคัญต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และในพระราชวังดุสิต มาเป็นชื่อเฉพาะ ตามโอกาสและความเหมาะสมในการสวมใส่ เช่น ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยศิวาลัย ชุดไทยเรือนต้น และชุดไทยจิตรลดา แต่ละชุดก็จะถูกเลือกใส่เนื่องในโอกาสต่างๆ กันไป

ปิยวรา เสริมว่า ปัจจุบันสตรีไทยนิยมสวมใส่ชุดไทยพระราชนิยมหรือชุดไทยประจำชาติในงานพิธีสำคัญ ตั้งแต่งานแต่งงาน งานหมั้น และงานบุญ นอกจากนี้องค์กรต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เช่น สายการบินประจำชาติ โรงแรม และห้างร้านอีกหลายแห่งที่ต้องการแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ได้นำชุดไทยพระราชนิยมไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องแบบสำหรับเจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

“ชุดไทยทั้ง 8 แบบดังกล่าว ทำให้เราเห็นชุดไทยได้ชัดเจนขึ้น แต่ละชุดล้วนเป็นการผสมผสานกับชุดไทยในอดีต แต่ปัจจุบันคนเร่งรีบ มัวแต่นุ่งผ้าคงไม่สะดวก พระองค์ทรงทำให้เป็นชุดเรดดี้ทูแวร์ คือตัดสำเร็จรูป สวมใส่ได้สะดวกขึ้น”

ชุดไทย... หรือเป็นแค่กระแส? ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย

ชุดไทยสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน?

ในฐานะทำงานด้านการอนุรักษ์ผ้าไทย ปิยวรา บอกว่า ที่คนหันมาใส่ชุดไทยในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องดี แต่ควรเลือกสวมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น จะแต่งตัวไปทำงาน ห่มสไบคงไม่เหมาะ จะดูโอเวอร์เดรส ควรแต่งให้เข้ากับโอกาส

ด้าน ศุภณัฐ เข็มสุข ผู้ก่อตั้งเพจวงการออกแบบชุดประจำชาติไทย บอกว่า กระแสการรณรงค์อนุรักษ์และใส่ชุดไทยของทางเพจได้รับแรงตอบรับที่ค่อนข้างดี เห็นได้จากกลุ่มโซเชียลต่างๆ ได้มีการนำเสนอภาพวัยรุ่นสวมใส่ชุดไทยในชีวิตประจำวันบ่อยขึ้น และยังมีการนัดหมายรวมตัวของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มีใจรักในการสวมใส่ชุดไทยออกมารณรงค์เดินจับจ่ายใช้สอยที่ศูนย์การค้าหลักๆ อีกด้วย

ศุภณัฐ มองว่า เสียงตอบรับจากโลกออนไลน์ อยากให้ประเทศไทยมีสักหนึ่งวันที่คนไทยทั้งประเทศ
ใส่ชุดไทยโดยพร้อมเพรียงกัน จึงเป็นที่มาของแคมเปญโครงการจัดตั้งวันอนุรักษ์ชุดประจำชาติไทย ที่ทางเพจเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสียงของส่วนรวมว่าเห็นควรพิจารณาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ศุภณัฐ บอกว่า การใส่ชุดไทยในชีวิตประจำวันจะเป็นไปได้ต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมกับชีวิตของคนยุคนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มองชุดไทยว่ายิ่งใหญ่ อลังการ หรูหรา ยากแก่การสวมใส่

อยากที่จะให้แยกในส่วนของชุดไทยและชุดนางละครไทยออกจากกัน ซึ่งชุดไทยในอดีตคือการนำผ้าพื้นเมืองมาตัดเย็บประกอบกันเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใส่คู่กับเครื่องประดับพองาม แต่ชุดนางละครไทยคือการนำชุดไทยมาประยุกต์ให้สวยงาม เข้ากับเนื้อหาละคร เพื่อใช้สำหรับการแสดง

ชุดไทยแบ่งเป็นหลายยุคสมัย การนำชุดไทยมาประยุกต์ให้เข้ากับสมัยนิยมเพื่อใช้กับงานพิธี โอกาสพิเศษต่างๆ ให้สมฐานะของผู้สวมใส่ ไม่ผิดที่จะนำผ้าไทยมาประยุกต์ ดัดแปลงให้เข้ากับการดำรงชีวิต โดยควรคำนึงถึงคุณค่าของภูมิปัญญา ความเป็นอัตลักษณ์ของไทย และเหนือสิ่งอื่นใด ต้องคงไว้ซึ่งระดับจิตใจของผู้สวมใส่ในความเป็นไทยด้วยเช่นกัน”

ชุดไทย... หรือเป็นแค่กระแส?

ภัทรกร บุญสร้างสม แอดมินเพจแต่งไทยสไบงาม - สยามภูษานิยม Siamese Fashionista หนึ่งในกลุ่มคนแต่งชุดไทยมาเป็นเวลานานมองปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่จะพลิกโฉมแฟชั่นให้ชุดไทยกลับขึ้นมาเป็นสิ่งที่คนไทยภาคภูมินั้น ต้องเริ่มจากคนไทยที่ต้องเห็นคุณค่าของชุดประจำชาติไทยเสียก่อน

“ดีครับ คนไทยได้เริ่มเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมการแต่งกายไทย จากแต่ก่อนที่จะสวมใส่เฉพาะ โอกาสพิเศษจริงๆ ซึ่งถ้าใครสักคนอยากสวมใส่ชุดไทยขึ้นมาเฉยๆ จะกลายเป็นตัวประหลาดทันที หรือคนจะคิดว่าไปขึ้นเวทีแสดงที่ไหนมา ผมก็โดนมาบ่อยครับ โดนมาหนักเหมือนกัน แต่ด้วยความคิดที่ว่าชุดไทยนั้นต้องเป็นของคนไทยสิ เราก็คนไทยคนหนึ่ง เราหลุดจากตรรกะความคิดในด้านลบที่มีต่อแฟชั่นชุดไทยให้ได้ กลุ่มเราก็ยืนหยัดใส่ชุดไทยกันมาตลอด ซึ่งตอนนี้ผมมองว่ากระแสตอนนี้ดีกว่าเมื่อ4-5 ปีก่อนมาก

สิ่งสำคัญคือ เราต้องภูมิใจที่จะใส่ก่อน ปรับทัศนะใหม่ว่าชุดไทยไม่จำเป็นต้องใส่ไปงานแสดงเท่านั้น ชุดไทยมีหลากหลายมาก คนจึงสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบุคลิกให้ไม่น่าเบื่อ ชักชวนกันมาใส่ ก็เหมือนเป็นการบอกต่อกันโดยปริยาย อาจจะใช้เวลามากหน่อย แต่สิ่งที่เราได้รับคือมรดกที่ทิ้งไปนาน หวนกลับมานั่นเอง

ภัทรกรมองว่า ภาครัฐและผู้ใหญ่ในสังคมควรเป็นแบบอย่างและให้ความสำคัญก่อน โดยเริ่มการสนับสนุนให้ใส่ชุดไทยในวันสำคัญหรือเทศกาล หรือแม้แต่ดารานักแสดงถ้าหันมาช่วยเป็นตัวอย่างได้ เชื่อว่ากระแสดีๆ แบบนี้ จะไม่เป็นเรื่องเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแน่นอน

ต้องสร้างเป็นค่านิยม

ในอดีตมีความพยายามรณรงค์ปลูกฝัง และผลักดันการแต่งกายในชุดไทยมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมมีมูลค่าและสามารถขับเคลื่อนประเทศได้

“ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้แต่พม่า ใช้วัฒนธรรมเป็นจุดขายและขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ ขณะที่ประเทศไทยมีความเชื่อและยึดมั่นในค่านิยมตะวันตกมากกว่า ทำให้วัฒนธรรมตะวันออกซึ่งอยู่ตรงข้ามถูกทำลาย”

ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าเริ่มเกิดการปฏิเสธวัฒนธรรมตะวันตกและกลับคืนสู่ตัวตน ซึ่งปรากฏการณ์การแต่งชุดไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ปัญหาก็คือลักษณะนิสัยของคนไทยชอบทำอะไรตามกระแสเท่านั้น “แต่ไม่อาจปลูกฝังให้เป็นนิสัยหรือกลายเป็นค่านิยมได้ นี่คือข้อเสียของเราที่ไม่เชื่อมั่นในความคิดและศักยภาพของตัวเอง” พล.อ.เอกชัย สรุป

ด้าน ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ และสมาชิก สปช. บอกว่า การนำชุดไทยกลับมาแต่งในยุคสมัยปัจจุบันเป็นหลักคิดและเจตนาที่ดี แต่ส่วนตัวมองว่าความเป็นไทยไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าการแต่งตัว ซึ่งหากต้องการทำให้เกิดความยั่งยืนก็ต้องช่วยกันทำ ทำให้ลามทุ่ง ให้ทุกคนเห็นด้วย แม้ว่าการแต่งกายจะเป็นแค่เปลือก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

“ในอดีตก็เคยมีการรณรงค์ในหลายหน่วยงาน เช่น ให้ใส่ชุดไทยเป็นบางวัน แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ เพราะว่าหลายคนก็ทำไปเหมือนถูกบังคับ ทางที่ดีต้องทำให้เขาเกิดความรัก ความศรัทธา แต่การทำแบบนี้ก็ยังดีกว่าปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม” ศิลปินแห่งชาติ และสมาชิก สปช. กล่าว

หากให้วิเคราะห์ว่ากระแสดังกล่าวจะจุดติดหรือไม่ ปรีชา บอกว่า คงยังไม่สามารถตอบได้ แต่เมื่อใดที่คนในสังคมเริ่มสำนึกแล้วว่ากิจกรรมแบบนี้มันน่าสนใจแล้วเกิดเป็นวิถีปฏิบัติก็น่าจะเกิดเป็นผลบวก ก็น่าจะมีคนสนับสนุนมากขึ้น มันก็จะเป็นผลดีต่อวัฒนธรรมไทย

“เมื่อเกิดกระแสเรื่องของการแต่งกาย อาหารการกิน เสื้อผ้า วัตรปฏิบัติ รวมถึงค่านิยมคุณธรรมอื่นๆ ก็จะตามมา รักไทยไม่ใช่แค่การแต่งชุดไทย มันต้องมีอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกหลายอย่าง”ปรีชา ระบุ 

ชุดไทย... หรือเป็นแค่กระแส?

ขณะที่ ภูภวิศ กฤตพลนารา ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเร็คเตอร์เสื้อผ้าแบรนด์ ISSUE กล่าวว่า เป็นเรื่องดีมากที่กระแสชุดไทยกำลังเป็นที่นิยม แต่จะสามารถปฏิวิติวงการแฟชั่นไทยได้หรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องเดาอยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเท่าที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นภาพข่าวว่า หลายๆ จังหวัดเริ่มรณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษาแต่งชุดไทยในบางวันแล้ว ซึ่งถ้าคนที่หันมาใส่ชุดไทยแต่งให้เหมาะสมกับกาลเทศะจะช่วยให้กระแสดีขึ้นอีกมาก

ในแต่ละพื้นที่จะมีเนื้อผ้าที่เหมาะสมกับภูมิอากาศของที่นั่นดีอยู่แล้ว ถึงแม้กระแสคนแห่ใส่ชุดไทยจะเป็นเรื่องดีแต่ผู้ที่กำลังเตรียมตัวหันมาเลือกซื้อชุดไทย ควรตระหนักอย่างมากว่า ชุดไทยมีหลายประเภทมาก ดังนั้นควรเลือกให้เหมาะกับแต่ละคน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำคนใส่ดูเพี้ยน และเป็นคนทำกระแสนี้เป็นเรื่องตลกขบขัน ล้อเล่น ไม่นานก็หมดกระแสลง

จากอดีตเสื้อผ้าคนไทยไม่ค่อยได้แบ่งออกเป็นสัดส่วนมากนัก แต่ตั้งแต่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงออกแบบชุดไทยหลายๆ แบบออกมา เพื่อสวมใส่ในงานต่างๆ บางชุดเหมาะกับงานทูต บางชุดเหมาะกับไปงานนั้นงานนี้ นั่นทำให้เราเห็นว่าชุดไทยเน้นการใส่ที่ถูกกาลเทศะ

สำหรับคนที่คิดจะใส่ชุดไทยจริงๆ อย่าเอาวัฒนธรรมของเรามาล้อเล่นสร้างกระแส อันนี้ไม่ดีนะ เราค่อยๆ เริ่มรณรงค์เช่น สงกรานต์คนจะใส่ชุดไทยมากพอสมควร ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วถูกเวลา แต่ถ้าในชีวิตประจำวัน คุณอยากจะใส่ชุดไทยสวมชฎา ขึ้นรถบีทีเอส คนจะมองว่าคุณเพี้ยน ผิดที่ผิดทางมากกว่า”ดีไซนเนอร์หนุ่มแสดงทัศนะ

ชุดไทยกับกาลเทศะเป็นของคู่กัน

"หญิงน้ำปรุง จรุงจิต"  หรือ ชลัมพ์ ประคองทรัพย์ เน็ตไอดอลที่สวมใส่ชุดไทยเป็นประจำ ไม่ว่าจะถ่ายรูปอยู่บ้านหรือออกไปงานอีเวนท์ เธอมองกระแสคนแห่ซื้อผ้าไทยมาใส่ว่าเป็นเรื่องดี และก็หวั่นใจว่าจะมาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวแล้วจะหายไป เพราะคนบางคนเลือกใส่ชุดไทยโดยไม่ดูกาลเทศะ ทำให้คนทั่วไปมองคนใส่ชุดลักษณะนี้เป็นตัวตลกแทนที่จะชื่นชม

“มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยยังไม่ลืมความเป็นไทย แต่อย่าลืมว่าชุดไทยมีหลายอย่างต้องแต่งให้ถูก กาลเทศะ เรามีทั้งชุดไทยแฟนซี ชุดอยู่บ้าน ชุดราชนิยม เราจะไปที่ไหนกลางวันกลางคืน ใส่สไบไปเดินตลาดมันก็ไม่ใช่เรื่องนะคะ

เสื้อผ้าเหล่านี้เราจะหาได้ด้วยสัญชาติญาณของเรา พ่อแม่เราสอน ศึกษาจากรูปภาพ อย่างเราจะไปห้าง ก็ไม่จำเป็นต้องหวือหวามาก ผู้ชายอาจจะใส่เสื้อเชิ้ต แมทช์กับผ้าโสร่งมาก็ได้ ถ้าไปใส่คอกระเช้าโจงกระเบนคนก็คงมองคุณเป็นกุมารทองมากกว่า แบบนั้นก็ควรใส่อยู่บ้านไป อยู่บ้านจะใส่ผ้าถุงสำเร็จตำน้ำพริกก็ร้อนตายเลยแบบนี้

บางคนที่เริ่มแต่งกันใหม่ๆ มักจะบ่นว่าชุดไทยร้อน ขอโทษนะคะ ไม่ได้ดูถูกก็คุณเล่นไปซื้อผ้าที่พาหุรัดมาใส่แล้วบ่นร้อน มันไม่ถูกต้อง ผ้าไหมไทยค่ะใส่อย่างไงก็ไม่ร้อนแน่นอน สำหรับบางที่ยังไม่ชินอย่าท้อซะก่อน เหมือนเราให้ปู่ยาใส่กางเกงแล้วแกบอกว่าอึดอัดนั่นแหละค่ะ แต่พอใส่ไปเรื่อยๆ ก็จะชินในที่สุด แต่ดิฉันมั่นใจว่าแต่งชุดไทยไม่ร้อน ไม่รุ่มร่ามเพียงแต่คุณต้องใส่ให้ถูกเวลา สถานที่ ดิฉันใส่ตั้งยังไม่โตมาก ยังไม่พบปัญหาที่เกิดขึ้นเลย

ถ้าคุณใส่ไปเรื่อยๆ คุณจะรู้เลยว่า แต่งชุดไทยไม่ได้ยาก เราไม่ต้องจัดเต็มตลอด ต่อไปคุณจะรู้ว่ามันหาง่าย สะดวก และที่สำคัญมีเอกลักษณ์ นอกจากช่วยเรื่องวัฒนธรรมแล้ว ยังช่วยเรื่องงานทอผ้าของชาวบ้านด้วย

ชุดไทย... หรือเป็นแค่กระแส? อาจรีย์ เอี่ยมน้อย

อาจรีย์ เอี่ยมน้อย หรือน้องแนนนี่ สาวเมืองปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ บอกว่า สวมใส่ชุดไทยไปทำงาน ช็อปปิ้ง และรับประทานอาหาร สัปดาห์ละ 3 วัน ตอนแรกๆ รู้สึกเขินบ้าง แต่ตอนนี้ชินจนกลายเป็นที่ชื่นชอบไปในตัวเพราะเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ

“ตั้งแต่แต่งกายชุดไทย ก็ได้รับกระแสตอบรับจากผู้คนที่พบเห็นเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่เห็นแล้วจะอมยิ้ม ดูมีความสุข และบางรายจะมีการมาขอถ่ายรูปคู่ด้วย และหวังว่า สักวันหนึ่งจะมีสาววัยรุ่นคนอื่นๆ หันมาแต่งกายด้วยชุดไทยบ้าง อยากให้งานประเพณีสงกรานต์ที่จะถึงนี้ มีคนแต่งกายชุดไทยออกมาเล่นสาดน้ำกัน เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติ” น้องแนนนี่ กล่าว

ส่วน ยุทธนา กองทรัพย์ หนุ่มยุคใหม่ที่หลงใหลการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าไทยเล่าว่า หลังลองเอาผ้าไทยอย่างซิ่นไหม มาลองใส่มิกซ์แอนด์แมทช์ให้เข้ากับตัวเอง เพราะเห็นรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยบางกลุ่มใส่ ก็หลงรักรักผ้าไทยทันที เพราะจริงๆ แล้วผ้าไทยเป็นผ้าที่สวมใส่สบายและเหมาะกับคนไทยมากๆ

“ผมก็อยากเป็นหนึ่งของคนไทยที่อยากให้คนไทยลองหันมาใส่เสื้อผ้าไทยดู คุณจะพบว่าจริงๆ แล้ว มันไม่รุ่มร่าม ถ้าเราทำให้เหมาะสมกับตัวเอง บางทีผมใส่ผ้าซิ่นกับเสื้อเชิ้ต ใส่รองเท้าผ้าใบมันก็เท่ได้ คือถ้าใครลองใส่จะรู้สึกเลยว่ามันสบายมาก ไม่ร้อนเพราะผ้าไหมใส่สบายมาก เหมาะกับอากาศ ใครจะทำเป็นกระแสเห่อเป็นพักๆ ก็ตามแต่ สำหรับผมไม่แน่นอน เพราะผมเป็นคนต่างจังหวัดและรักผ้าไทยเป็นทุนเดิม รู้จัก คลุกคลีมาตลอดเหมือนเป็นเพื่อนชนิดกัน

จริงๆ ตอนแรกก็ไม่กล้า ใส่อยู่แต่ในบ้าน หลังๆ ก็เริ่มใส่ไปเดินตลาดบ้าง ใส่ไปทำงานบ้าง งานเราเป็นแบบฟรีแลนซ์ไม่ซีเรียสเรื่องเครื่องแต่งกาย แต่มองว่าถึงแม้จะทำงานอยู่ในองค์กรก็สามารถแต่งชุดไทยได้เหมือนกัน เพียงแค่ดูให้เหมาะกับตัวเอง เช่นท่อนบนเป็นเสื้อแฟชั่น ท่อนล่างเป็นผ้าไทย ทำได้ทั้งชายและหญิงนะครับ”ชายหนุ่มกล่าวอย่างภาคภูมิ