ตะโกนรักเมืองน่าน พระอารมณ์ขัน "พระเทพ"
โดย....ระรินธร เพ็ชรเจริญ
โดย....ระรินธร เพ็ชรเจริญ
คนเมืองน่านนั้นรักและผูกพันกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนล้นหัวใจ ด้วยพระราชกรณียกิจมากมายที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อคนเมืองน่านมาอย่างยาวนาน ทรงพระราชทานโครงการตามแนวพระราชดำริจำนวนมาก เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ พัฒนาการศึกษา การรักษาและสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ทั้งยังทรงใส่พระราชหฤทัยติดตามการพัฒนาต่างๆ ใน จ.น่าน อย่างต่อเนื่อง
วินัย ปราบริปู ศิลปินเมืองน่าน เจ้าของหอศิลป์ริมน่าน เป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดเฝ้าฯ รับเสด็จและทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพฯ ในการเสด็จพระราชดำเนินหอศิลป์ริมน่านหลายครั้ง ซึ่งทำให้เห็นถึงพระอารมณ์ขันที่สอดแทรกอยู่ในผลงานภาพวาดฝีพระหัตถ์ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่ได้ชม
วินัย เล่าว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2554 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ หอศิลป์ริมน่านเป็นครั้งที่ 2 และทรงวาดภาพเลียนแบบ ภาพกระซิบรักบันลือโลก ปู่ม่าน-ย่าม่าน จิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 100 ปี ในวัดภูมินทร์ สัญลักษณ์ของเมืองน่าน
“ทรงมีพระอารมณ์ขันและมีมุมมองที่แตกต่างไปจากศิลปินอื่นๆ โดยทรงมองว่า ภาพปู่ม่านย่าม่าน บนจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ มีอายุเก่าแก่ ตรัสทำนองว่า ถึงตอนนี้ปู่ม่านย่าม่านก็อายุมากแล้ว กระซิบคงจะไม่ได้ยิน ต้องตะโกนคุยกันแล้ว ทรงวาดภาพเป็นลายเส้นและกำกับภาพด้วยคำว่า “ตะโกน” พระองค์ตรัสว่า “ภาพนี้ตะโกนนะ เพราะหูตึงกันแล้ว อายุมากแล้ว กระซิบไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว” ทำให้คณะผู้ติดตามต่างพากันหัวเราะ พระองค์ทรงถ่ายทอดออกมาในภาพได้อย่างน่ารัก ในมุมมองที่แตกต่างจากศิลปินต่างๆ และภาพตะโกนก็เปรียบเสมือนภาพอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของ จ.น่าน เนื่องจากเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ทรงวาดที่ จ.น่าน และล้อภาพปู่ม่านย่าม่าน ซึ่งก็ถือเป็นภาพสัญลักษณ์ประจำ จ.น่าน ด้วยเช่นกัน” วินัย บอกเล่าเรื่องราวด้วยสีหน้าที่แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดถึงความปลาบปลื้ม พร้อมกับนำชมภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่จัดแสดงไว้ชั้นบนของอาคารแสดงงานศิลป์เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสชื่นชม
ภาพฝีพระหัตถ์ ภูเขาหัวโล้น
วินัย ยังบอกอีกว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วงใยการบุกรุกทำลายป่าใน จ.น่าน อย่างยิ่ง ซึ่งในการเสด็จฯ หอศิลป์ริมน่านครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2550 ทรงวาดและพระราชทานชื่อว่า “ภาพภูเขาหัวโล้น”
“ครั้งนั้น ตื่นเต้นมากที่พระองค์จะเสด็จฯ มาที่หอศิลป์ ในหัวใจหวังได้เพียงลายพระอภิไธย หรือลายมือชื่อพระองค์ก็ถือเป็นบุญแล้ว เนื่องจากหมายกำหนดงานพระราชกรณียกิจแน่นมาก แต่ก็ได้จัดเฟรมผ้าใบไว้ด้านนอกอาคารริมแม่น้ำน่าน ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นภูเขา และเมื่อเสด็จฯ มาตรงเฟรมผ้าใบ ก็ทรงวาดภาพภูเขาที่ทรงเห็น โดยพระองค์ ได้ถ่ายทอดเป็นภาพภูเขาหัวโล้น และยังทรงแสดงความห่วงใยผืนป่าน่านในครั้งนั้นด้วย”
และล่าสุด การเสด็จฯ หอศิลป์ริมน่านเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2555 โดยนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมนิทรรศการศิลปะ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ “การเจรจาสันติภาพบนเรือแข่ง” ไว้ที่หอศิลป์ริมน่าน
ปัจจุบันภาพวาดฝีพระหัตถ์ทั้งหมด จัดแสดงที่ชั้นบนของอาคารแสดงศิลปะ เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสชื่นชมภาพวาดฝีพระหัตถ์เหล่านี้ เสมือนของขวัญอันทรงคุณค่าของคนน่าน โดยเฉพาะภาพภูเขาหัวโล้น ซึ่งทำให้คนน่านตระหนักถึงป่าต้นน้ำที่ถูกบุกรุกทำลาย และพร้อมใจกันฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าต้นน้ำเนื่องในปีมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา เพื่อแสดงถึงความรักและเทิดทูนที่คนเมืองน่านมีต่อสมเด็จพระเทพฯ
ภาพฝีพระหัตถ์ เจรจาสันติภาพบนเรือแข่ง