posttoday

จุรินทร์เตือนใช้รธน.ไม่ฟังข้อท้วงติงทำประเทศเป็นหนูลองยา

29 เมษายน 2558

"จุรินทร์" เผยหากใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังข้อท้วงทำประเทศเป็น "หนูลองยา" ติงให้อำนาจล้นฟ้ากับสารพัดองค์กร

"จุรินทร์" เผยหากใช้รัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังข้อท้วงทำประเทศเป็น "หนูลองยา" ติงให้อำนาจล้นฟ้ากับสารพัดองค์กร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า ให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนอย่างน้อย 5 ปี แล้วค่อยแก้ไขนั้น เข้าใจว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญคงเห็นว่าเมื่อเขียนออกมาอย่างไรก็อยากให้เป็นไปตามนั้น และคงไม่ค่อยสบายใจถ้าจะมีใครออกมาวิจารณ์ แต่ขอให้ทำใจและเข้าใจ เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญต้องไปบังคับใช้กับคนทุกกลุ่มทั้งประเทศ

"ในฐานะเจ้าของประเทศจึงย่อมมีสิทธิแสดงออก ซึ่งการเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ยอมรับหรือไม่ยอมรับ การขอให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อนอย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ก็อาจไม่มีปัญหา แต่หากรัฐธรรมนูญยังเป็นเช่นนี้ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามมากมาย หากปล่อยให้ใช้ไปก่อนก็มีข้อห่วงใยว่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น หนูลองยา แล้ววันหนึ่งวงจรอุบาทว์ก็อาจจะย้อนกลับมาอีกและคนไทยทั้งประเทศก็จะต้องมารับชะตากรรมกับความเสียหายโดยไม่จำเป็น"นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า อยากเห็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอดทนรับฟังข้อแนะนำทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ โดยปราศจากอคติ ไม่ดูแคลนฝ่ายอื่นว่าไม่ยอมรับเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะหากใช้สมมติฐานแบบนี้ก็จะสร้างความร้าวฉานมากกว่าปรองดองและไม่ช่วยให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีสำหรับประเทศได้ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานั้นมีอยู่หลายมาตราที่มีผลตรงข้ามกับที่กรรมาธิการยกร่างฯได้พยายามหยิบยกขึ้นมาบอกกล่าว เช่น ในเรื่องการเพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อหวังจะทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นนั้น มีอยู่บางส่วนที่มีการเพิ่มอำนาจประชาชนจริง ซึ่งขอชื่นชม แต่พอศึกษาลงลึกรายมาตราจะเห็นว่ามีเนื้อหาจำนวนมากที่เป็นไปในทิศทางตรงข้าม การเพิ่มอำนาจประชาชนเลยกลายเป็นแค่ผักชีโรยหน้า

"เนื้อลึกข้างในคือการให้อำนาจล้นฟ้ากับสารพัดองค์กรสืบทอดอำนาจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและหน่วยงานของรัฐ โดยปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป 120 คน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ สมัชชาคุณธรรม คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการฯ เป็นต้น ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าฟังชื่อแล้วดูดี แต่คณะกรรมการเหล่านี้ ถ้าไปใช้อำนาจในทางมิชอบแล้ว สามารถแสวงหาประโยชน์ได้มหาศาล เพราะรัฐธรรมนูญไปให้อำนาจไว้ล้นฟ้า สามารถสั่งรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐ ทั้งหลายให้ต้องปฏิบัติตามได้ สามารถเสนอกฎหมายเองก็ได้

นอกจากนี้ ยังมีอำนาจอื่นที่เป็นเช็คเปล่าตามกฎหมายบัญญัติเพิ่มไว้ให้อีก แต่สามารถใช้อำนาจมหาศาลได้ขนาดนี้ รัฐธรรมนูญกลับเขียนให้สิทธิพิเศษเหนือกลไกทุกกลไกไม่ว่าจะเป็นครม. , สส. , สว.เหนือประธานศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ โดยไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทุจริตประพฤติมิชอบแล้วถอดถอนไม่ได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการปรองดองมีอำนาจถึงขั้นสามารถออกกฎหมายล้างผิดคนโกงโดยบังคับรัฐบาล สภาผู้แทน วุฒิสภาและหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยต้องปฏิบัติตามได้ เป็นต้น ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า องค์กรเหล่านี้เสมือนตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับอภิสิทธิ์ชนคนกลุ่มหนึ่ง อันเป็นที่มาของข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ อยากให้คณะกรรมการยกร่างฯได้แก้ไข เพื่อเป็นการป้องกันวิกฤติที่อาจตามมาได้อีกในอนาคต

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นการแก้รัฐธรรมนูญฉบับหนูลองยาจริง ควรให้แก้ง่าย เพราะไม่เช่นนั้นอาจเท่ากับกำลังพาประเทศไปเสี่ยง แต่กลับกำหนดเงื่อนไขให้แก้ยากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใด เพราะนอกจากจะมีการใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ในบางประเด็นกับต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ยังต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชนด้วย ดูผิวเผินเหมือนเป็นการเพิ่มอำนาจประชาชน แต่พอตอนจะเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปบังคับใช้  กลับไม่ระบุให้ต้องขอประชามติจากประชาชนก่อน