posttoday

เพราะ “จำเป็น” ...จึงต้องมี “โรงพยาบาลเอกชน”

02 มิถุนายน 2558

นับเป็นโชคดีของคนไทย ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้วางรากฐานและจัดสรรการรักษาพยาบาลไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งสิทธิ์“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”(บัตรทอง/บัตร 30 บาท) ที่ครอบคลุมการรักษาคนไทยทั่วประเทศ 48-49 ล้านคน

นับเป็นโชคดีของคนไทย ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้วางรากฐานและจัดสรรการรักษาพยาบาลไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งสิทธิ์“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”(บัตรทอง/บัตร 30 บาท) ที่ครอบคลุมการรักษาคนไทยทั่วประเทศ 48-49 ล้านคน

ส่วนคนทำงาน 13 ล้านคน ก็สามารถใช้สิทธิ์ “ประกันสังคม” ด้าน “ข้าราชการและครอบครัว” กว่า 100 กรม ใน 20 กระทรวง ก็มีสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลาง จนอาจกล่าวได้ว่า “ทุกคน” มีพื้นที่สำหรับรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน

ขณะที่ ประชาชนและบริษัทเอกชนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มพรีเมียมและกลุ่มไฮพรีเมียม แม้สามารถเลือกรักษากับสถานพยาบาลตามสิทธิที่รัฐบาลพึงให้ แต่“โรงพยาบาลเอกชน”กลับเป็น“ทางเลือก”ของคนส่วนใหญ่ ที่มักหลีกเลี่ยงความแออัด ไม่สะดวกสบายจากโรงพยาบาลของรัฐ หรืออยากคุยกับแพทย์ผู้รักษาจนคลายความสงสัย โดยที่ไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ...เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลในปัจจุบัน

แต่หากย้อนไปในอดีต อาจกล่าวได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นมาเพราะความจำเป็น ที่โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

จากเดิมโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยเป็นแค่สถานพยาบาลขนาดเล็ก มีเจ้าของเพียงคนเดียว การบริหารงานเป็นแบบครอบครัว แพทย์และบุคลากรทำงานเฉพาะช่วงนอกเวลางาน ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพ และเปิดให้บริการเพียงบางเวลา

ทว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลเอกชนพัฒนาจนกลายเป็นโรงพยาบาลหลายระดับ ตามความต้องการของผู้มาใช้บริการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2557 ระบุว่า มีโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยทั้งสิ้น 329 แห่ง จำนวนเตียงให้บริการรวม 34,319 เตียง เจ้าของเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทมหาชนที่บริหารแบบมืออาชีพ แพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพทำงานเต็มเวลาด้วยความเชี่ยวชาญแม่นยำ ย่นระยะเวลาในการวินิจฉัยรักษาและฟื้นฟู พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถให้บริการรักษาพยาบาลโรคและโรคเฉพาะทางที่ซับซ้อนได้ตลอด 24 ชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วนการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลร้อยละ 20-30 ของประเทศ

ทั้งยังได้รับมาตรฐานในประเทศอย่าง Hospital Accreditation หรือ HA โดยมีโรงพยาบาลเอกชนระดับ 2 และ 3 จำนวน 91 แห่ง ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ขณะที่ ในปี 2558 มีโรงพยาบาลเอกชนของไทย 44 แห่ง ได้รับมาตรฐานระดับสากลที่เน้นเรื่องการจัดการบริหารเพื่อปลอดภัยจากนานาชาติ หรือ JCI Accredited Organizations

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าในปี 2555 โรงพยาบาลเอกชนมีการจ้างงานบุคลากรถึง 200,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดรายได้ในอุตสาหกรรมประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี ให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณ 55 ล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยในมากถึง 1.5 ล้านครั้ง และส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยระดับไฮ พรีเมียม ที่เคยเดินทางออกไปรักษายังต่างประเทศ

โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2555 มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารักษากับโรงพยาบาลเอกชนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ เยอรมนี ออสเตรเลีย จีน เมียนมา กัมพูชา อินเดีย และลาว

จากการสำรวจยังพบอีกว่า ในแง่ศักยภาพการรักษาพยาบาลเชิงปริมาณของโรงพยาบาลเอกชนไทย สามารถดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ยิ่งในระยะ 10 ปีให้หลัง ผลงานและชื่อเสียงของโรงพยาบาลเอกชนไทยกระจายไปทั่วโลก จนชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน(อ้างอิงมาจากนิตยสาร Forbes เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2014) เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเมียนมาและกัมพูชาก็ยังเดินทางมารักษากับโรงพยาบาลเอกชนของไทย ด้วยเพราะมาตรฐานและเทคโนโลยีที่ดีกว่า

โรงพยาบาลเอกชนจึงกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ต่อระบบบริการสุขภาพและการพัฒนาของประเทศ โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษีจากรัฐเข้ามาอุดหนุน ดังนั้น ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่สามารถเทียบโรงพยาบาลของรัฐได้

ในอีกด้านหนึ่ง โรงพยาบาลเอกชนยังช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณในการลงทุนด้านสาธารณสุขของประเทศได้กว่า 2.26 แสนล้านบาท พร้อมกันนั้นยังจ่ายภาษีกลับคือไปให้รัฐในรูปภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินได้พนักงาน และภาษีเงินได้ของแพทย์และพยาบาล ต่อปีไม่ต่ำกว่า7พันล้านบาท เพื่อนำไปอุดหนุนพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอีกทอดหนึ่ง

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม โรงพยาบาลเอกชนนับเป็นธุรกิจที่จำเป็นต่อประชาชนที่เจ็บป่วย และยังมีบทบาทสำคัญในการการจ้างงานจำนวนมาก เกิดรายได้จากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนยังช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐในหลาย ๆ ด้าน จึงเป็นธุรกิจที่รัฐพึงให้การส่งเสริมอย่างยิ่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและมีประสิทธิภาพ

 

                             โดย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน
“โรงพยาบาลเอกชน”คุณค่าคู่สังคม…ที่ถูกมองข้าม

 

 

 

Advertorial