posttoday

ฝนหลวงไม่เข้าเป้า แล้งนานถึงปลายปี

25 มิถุนายน 2558

น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวม 22 จังหวัดนั้น มี 4 เขื่อนหลักซึ่งกักเก็บน้ำ

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวม 22 จังหวัดนั้น มี 4 เขื่อนหลักซึ่งกักเก็บน้ำ และเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาตรน้ำใช้การรวมกันเหลืออยู่เพียง 1,040 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเพียง 6% เท่านั้น

การระบายน้ำของทั้ง 4 เขื่อนรวมกันวันละ 32 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีฝนตกและมีน้ำไหลเข้ามาในเขื่อน เท่ากับว่าจะเหลือน้ำใช้ได้อีกเพียง 32 วันเท่านั้น

ล่าสุด แผนการทำฝนหลวงในพื้นที่เขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง ไม่เป็นไปตามเป้า

รังสรรค์ บุศย์เมือง หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักได้แห้งลดลง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยฝนหลวงเร่งบินทำฝนเทียมบริเวณเขื่อนหลัก เพื่อหวังเติมน้ำในเขื่อนไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค. ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก จะบินทำฝนเทียมบริเวณเขื่อนดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีน้ำไม่เพียงพอต่อฤดูแล้งนี้

“หน่วยต้องเร่งบินทำฝนเทียม 5 เที่ยวบิน/วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 22 มิ.ย.  จำนวน 168 เที่ยวบิน จำนวนสารเคมีในการทำฝนหลวงจำนวน 164 ตัน และบินไปทำฝนหลวงที่บริเวณเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 45 เที่ยวบิน ได้ผล 100% คือฝนตกทั้ง 45 เที่ยวบิน แต่จากสภาพอากาศแม้จะมีฝนตกก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการเติมน้ำในเขื่อน เนื่องจากฝนตามฤดูกาลมีน้อยมาก จนถึงขณะนี้ยังไม่ค่อยมีฝนตกเลย ซึ่งในปีนี้ก็จะคล้ายปี 2542 และ 2553 ที่ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย ฝนก็ล่าช้า ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเกษตร” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิษณุโลก กล่าว

ขณะที่ จ.นครราชสีมา ธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย ชลประทานจังหวัด กองทัพภาคที่ 2 เกษตรจังหวัด อุตุนิยมวิทยา ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนจัดสรรการใช้น้ำให้เพียงพอไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า และวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคตที่จะถึง เนื่องจากน้ำในเขื่อนลำตะคองลดลงจนถึงจุดวิกฤต

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ในปี 2558 คาดว่าจะมีฝนตกลงมาน้อยกว่าเกณฑ์ และจะมีพายุฝนเพียงแค่ 1 ลูกเท่านั้นที่พัดเข้ามาในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.

โดยในที่ประชุมได้วางแผนแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ด้วยการให้เทศบาลนครนครราชสีมาดึงน้ำดิบจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี วันละไม่เกิน 3.5 หมื่น ลบ.ม. เพื่อผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาลเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในส่วนของเกษตรกร 1.6 แสนไร่ ได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกนาปีออกไปจนถึงเดือน ส.ค.

ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 40 จังหวัด ขณะนี้คลี่คลายแล้ว 19 จังหวัด ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 21 จังหวัด 142 อำเภอ 813 ตำบล 7,590 หมู่บ้าน คิดเป็น 10.12% ของหมู่บ้านทั่วประเทศ ประกอบด้วย พิษณุโลก พิจิตร ตาก น่าน อุตรดิตถ์ สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น อํานาจเจริญ สุรินทร์ ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี สระแก้ว ตราด ปราจีนบุรี  และประจวบคีรีขันธ์