ประปา 5 จังหวัดวิกฤต ปทุมฯตั้งฉก.ห้ามสูบน้ำ
5 จังหวัดเผชิญวิกฤตน้ำประปาขาด เหตุน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผบิต สั่งตั้งชุดเฉพาะกิจขอความร่วมมือชาวบ้านงดสูบน้ำ
5 จังหวัดเผชิญวิกฤตน้ำประปาขาด เหตุน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผบิต สั่งตั้งชุดเฉพาะกิจขอความร่วมมือชาวบ้านงดสูบน้ำ
สถานการณ์ชาว อ.ธัญบุรี หนองเสือ และลำลูกกา จ.ปทุมธานี ขาดแคลนน้ำประปา เนื่องจากน้ำในคลองสิบสาม ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ผ่านแม่น้ำป่าสัก เข้ามายังคลองระพีพัฒน์แห้งขอด ชาวบ้านทั้ง 3 อำเภอ ร่วม 6 หมื่นหลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งยังไม่รู้กำหนดว่าปัญหาจะยืดเยื้อไปนานเท่าไหร่ โดยระยะเฉพาะทุกภาคส่วนระดมรถขนน้ำร่วม 200 คัน ออกแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชน
แม้กรมชลประทานจะเร่งขุดลอกคันดินจากประตูน้ำพระศรีเสาวภาคย์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ซึ่งส่งน้ำเข้ามายังคลองสิบสามเพื่อให้น้ำไหลเข้ามายังโรงผลิตประปาธัญบุรี แต่ก็เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาให้ลดลงบางส่วนเท่านั้น ปัญหาหลักคือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งควบคุมการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก เหลือปริมาตรน้ำใช้การเพียง 43 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระบายออกเพียงวันละ 1.29 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากยังระบายในอัตรานี้ต่อไป และยังไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในเขื่อนยังคงเหลือน้ำใช้ได้อีกเพียง 33 วันเท่านั้น
แต่น้ำที่ระบายมายังแม่น้ำป่าสักผ่านพื้นที่ จ.ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ก่อนแยกเข้า จ.ปทุมธานี ผ่านคลองระพีพัฒน์นั้น ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งมีการสูบน้ำเข้าที่นาตลอดรายทาง ปริมาณน้ำที่เข้าสู่คลองสิบสามจึงเหลือน้อย และแห้งขอดลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤตตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้ทุกฝ่ายจะพยายามดึงน้ำเข้าสู่ระบบการผลิตประปา แต่การแย่งสูบน้ำทำนาถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค
พงศธร สัจจชลพันธ์ ผวจ.ปทุมธานี สั่งการให้นายอำเภอหนองเสือและธัญบุรีจัดชุดเฉพาะกิจร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ออกตรวจตราตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ให้งดสูบน้ำ เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภคจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่หากยังไม่ให้ความร่วมมือก็อาจใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าดำเนินการจากเบาไปหาหนัก
ไม่เพียงแต่ จ.ปทุมธานี วิกฤตขาดแคลนน้ำประปายังเกิดขึ้นอีกหลายพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก โดยก่อนหน้านี้ สำนักชลประทานที่ 10 มีหนังสือถึง ผวจ.นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี และสระบุรี ขอความร่วมมือเกษตรกรงดสูบน้ำเพื่อเกษตรกรรมแต่ก็ไม่เป็นผล ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.บ้านหมี่ อ.เมือง จ.ลพบุรี อ.บ้านหมอ หนองโดน และพระพุทธบาท จ.สระบุรี
ภาณุกิจ ดิษพึ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 กล่าวว่า ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เพิ่มเติม เพื่อสูบน้ำเข้าคลองส่งน้ำ ชัยนาท-ป่าสัก ให้เพียงพอกับ
การอุปโภค-บริโภค และการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งควบคุมโดย 4 เขื่อนหลักประกอบด้วยเขื่อนเจ้าพระยา จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำรวมกันเหลือเพียง 606 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ระบายออกรวมกันวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในเขื่อนช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ตามที่คาดการณ์ ก็จะเหลือน้ำใช้ไปได้อีกเพียง 21 วันเท่านั้น
ปัญหาดังกล่าวทำให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งมี 10 หน่วยงานด้านน้ำ เตรียมเสนอ ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พิจารณาลดการระบายน้ำลงอีก เพื่อให้เกิดความมั่นคงสำหรับน้ำอุปโภคบริโภค รักษาคุณภาพน้ำและผลักดันน้ำเค็มเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม สุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสดา) แจ้งว่า วันที่ 20 ก.ค.นี้ ประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นทุกภาค
ด้าน ธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่าพื้นที่ กทม.จะไม่ได้รับผลกระทบ และ กปน.จะจ่ายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง สถานการณ์เลวร้ายที่สุดของ กทม.ก็คือน้ำกร่อย ซึ่งจะเกิดขึ้นเฉพาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
การประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำในวันนี้ จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาแล้งและขาดแคลนน้ำจะมีแนวโน้มอย่างไร