นักวิจัยพบเสือโคร่งป่าห้วยขาแข้งใหญ่สุดในไทย
นักวิจัยเสือประกาศความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ พบเสือโคร่งหนักกว่า 200 ก.ก. อุ้งเท้าใหญ่ 12 นิ้ว เชื่อใหญ่สุดในประเทศ
นักวิจัยเสือประกาศความสำเร็จด้านการอนุรักษ์ พบเสือโคร่งหนักกว่า 200 ก.ก. อุ้งเท้าใหญ่ 12 นิ้ว เชื่อใหญ่สุดในประเทศ
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายศักดิ์สิทธิ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือโคร่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผย ว่าทีมนักวิจัยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รายงานว่า พบความสำเร็จในการอนุรักษ์จนเป็นที่น่ายินดีหลายด้าน โดยพบ แม่เสือโคร่ง 2 ตัวที่ทีมวิจัยติดวิทยุติดตามตัว และตั้งชื่อเอาไว้แล้วคือ "เอื้อง" และ "รุ้งนภา" คลอดลูก ซึ่งแม่รุ้งนภา คลอด 3 ตัว เป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมีย 2 ตัว ส่วนแม่เอื้องนั้น ยังมองไม่เห็นว่าคลอดออกมากี่ตัว
นอกจากนี้ยังพบเสือสาววัยรุ่น และเสือหนุ่มขนาดใหญ่มาก หนักมากกว่า 200 กิโลกรัม ถือว่าเป็นเสือที่ใหญ่ที่สุดในป่าธรรมชาติในประเทศที่เคยพบ โดยพบว่า มีขนาดฝ่าตีนใหญ่ถึง 12 นิ้ว จากเดิมที่เคยพบเสือตัวที่ใหญ่ที่สุดมีฝ่าตีนแค่ 9 นิ้วเท่านั้น ทั้ง 2 ตัว ทีมวิจัยเพิ่งจะเคยเจอครั้งแรก ยังไม่ทราบว่ามีที่มาที่ไปจากที่ไหน แต่ได้ตั้งชื่อเสือตัวเมียว่า "นวพรรษ" และเสือตัวผู้ชื่อ "อุทิศ" ซึ่งเชื่อว่าเป็นเสือตัวใหญ่ที่สุดในประเทศเวลานี้
"ห้วยขาแข้งมีพื้นที่ประมาณ 2,700 ตารากิโลเมตร เวลานี้มีเสืออยู่ประมาณ 80 ตัว เสือ มีอาณาเขตหากินประมาณตัวละประมาณ 80 ตารากิโลเมตร ถือได้ว่า ที่มีอยู่ถือว่า เกือบจะเต็มพื้นที่แล้ว ปรากฏการณ์ที่น่ายินดีอย่างมากคือ พื้นที่ป่าที่ติดต่อกับห้วยขาแข้ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เริ่มมีประชากรเสือโคร่งมากขึ้น โดยในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้นมีเสือแม่ลูกอ่อน 2 ตัว ทั้ง 2 ตัว มีลูกรวมกัน 5 ตัว และมีเสือตัวผู้อีก 3 ตัว และจากกล้อง คาเมรา แทร็ปส์ ที่ติดกับต้นไม้ตามจุดต่างๆสามารถถ่ายภาพเสือโคร่งในป่าแม่วงก์ได้ไม่ต่ำกว่า 12 ตัวด้วยกัน" นายศักดิ์สิทธิกล่าว
นายศักดิ์สิทธิ กล่าวว่า ส่วนที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน เจ้าหน้าที่พบรอยตีนหลายแห่ง ที่น่าประหลาดใจและน่ายินดีอย่างมากคือ พบเสือตัวเมียจากห้วยขาแข้ง 2 ตัว ตัวหนึ่ง เดินไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี และอีกตัวหนึ่งเดินไปที่อุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด ระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร ที่น่าประหลาดใจก็เพราะ ป่าห้วยขาแข้งกับป่าสลักพระนั้นไม่ได้ติดต่อเชื่อมโยงกัน มีหมู่บ้านและถนนลาดยางกั้นหลายแห่ง
เมื่อถามว่า ทราบได้อย่างไรว่า เสือทั้ง 2 ตัวเป็นเสือที่เดินทางมาจากห้วยขาแข้ง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ กล่าวว่า มั่นใจอย่างมาก เพราะตรวจสอบจากกล้องคาเมรา แทร็ปส์ พบว่า ทั้ง 2 ตัวเป็นเสือที่หายออกไปกล้อง ที่เคยถ่ายรูปได้เป็นประจำ และพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้น เป็นพื้นที่ที่ทางกรมอุทยานฯได้นำกล้องคาเมรา แทร็ปส์ ไปติดตั้งเอาไว้ และสามารถถ่ายภาพเสือทั้ง 2 ตัวได้ ทั้งนี้ ลายของเสือแต่ละตัวจะไม่เหมือนกันอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าเป็นตัวเดียวกับที่มาจากห้วยขาแข้งแน่นอน
ทั้งนี้ หากต้องไปรายงานสถานการณ์ประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติให้ภาคีสมาชิกประเทศที่มีเสือโคร่งในป่าทั่วโลก 13 ประเทศ ทราบก็มั่นใจ ว่า ประเทศไทยสามารถเพิ่มปริมาณเสือในป่าธรรมชาติให้ได้อีก 50% จากของเดิมที่มีอยู่ 200-250 ตัว นั่นคือ ต้องเพิ่มประชากรเสือให้ได้ประมาณ 100-125 ตัว
นายศักดิ์สิทธิ กล่าวว่า ในแง่การเพิ่มประชากรในพื้นที่ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ให้มี ถือว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จสูงที่สุดในบรรดาทุกประเทศที่มีเสือในป่าธรรมชาติ เพราะเมื่อ 10 ปีก่อน มีหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่ไม่มีประชากรเสือเลย แต่ปัจจุบันมี และมีแบบการตั้งรกรากและสามารถสืบต่อสายพันธุ์ในพื้นที่นั้นๆได้ด้วย
"อย่างประเทศอินเดีย ที่ได้ขึ้นชื่อว่าดูแลประชากรเสือในป่าได้ดีที่สุดในโลกก่อนหน้านี้นั้น เป็นเพราะพื้นฐานปริมาณเสือของเขามากเป็นต้นทุนเดิม คือมีอยู่ราว 1,400 ตัว และเพิ่มเป็น 2,100 ตัว อีกทั้งพื้นที่ป่าของเขาค่อนข้างกว้างใหญ่ ในขณะที่บ้านเราค่อนข้างมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนอยู่ที่ห้วยขาแข้ง ซึ่งการทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการเฝ้าระวังไม่ให้มีการไล่ล่า การเพิ่มปริมาณเหยื่อ รวมทั้งการดูแลพื้นที่ป่า ทำให้ประชากรเสือในพื้นที่ห้วยขาแข้งค่อนข้างแข็งแรง และสามารถถ่ายเทประชากรไปยังพื้นที่ป่าอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว โดยเวลานี้ทั้ง 13 ประเทศทีมีเสืออยู่ในป่าธรรมชาติ ต่างยอมรับและยกย่องว่า ประเทศไทยคืออันดับต้นๆของโลกที่ทำงานเรื่องนี้ได้ดีมาก"นายศักดิ์สิทธิ กล่าว
ภาพเสือชื่อ "อุทิศ" จาก กรมอุทยาน