เจาะลึกการบริหาร ทรัพยากรบุคคล เตรียมรับมือเออีซี
พอเริ่มเศรษฐกิจใหม่ เดือน ม.ค. 2559 ผู้เขียนและท่านผู้อ่านก็จะได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
โดย...ทายาท ศรีปลั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะไนล์
พอเริ่มเศรษฐกิจใหม่ เดือน ม.ค. 2559 ผู้เขียนและท่านผู้อ่านก็จะได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะผู้อ่านที่อยู่ในแวดวงการบริหารงานบุคคลก็มีความตื่นตัวมากไม่น้อยกว่าในแวดวงอื่นๆ เลย
ความจริงแล้วหลักการของเออีซีในด้านแรงงานนั้น เป็นหลักการที่ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะต้องการเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานของกลุ่ม Skilled Labor คือกลุ่มผู้มีความรู้ความสามารถได้อย่างอิสระมากขึ้น ขณะที่กลุ่ม Unskilled Labor หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่เออีซีให้ความสนใจ
ดังนั้น บุคลากรใดที่มีความสามารถด้านภาษาต่างชาติ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และมีความคล่องตัวที่จะทำงานต่างประเทศได้ อีกทั้งมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เข้มข้น ประการสุดท้ายมีความสามารถปรับตัวกับวัฒนธรรมและกฎระเบียบใหม่ๆ ได้ ก็จะเป็นกลุ่มบุคลากรที่ได้ประโยชน์จากการเปิดแรงงานเสรีของเออีซีนี้
ในบทความนี้ ก็จะเน้นการเตรียมตัวจ้างคนที่มีทักษะ หรือ Skilled Labor จากกลุ่มเออีซีเข้ามาทำงานในบริษัทของเรา สิ่งที่นายจ้างและหน่วยงานบุคคลควรรู้ มีดังต่อไปนี้
1) เออีซีมีความตกลงการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา คือ
ก.การเคลื่อนย้ายบุคลากรที่มีความสามารถ (ASEAN Agreement on the Movement of Natural Persons) ที่จะกําหนดให้สมาชิกทยอยเปิดให้บุคลากรระดับสูง เช่น นักธุรกิจ ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาทํางานชั่วคราวได้มากขึ้น
ข.ความตกลงยอมรับร่วมด้านคุณสมบัติด้านวิชาชีพของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Agreements : MRAs) ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่ม 8 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์พยาบาล นักบัญชี และนักสํารวจ และอีก 1 สาขา สําหรับบริการท่องเที่ยว
2) อัตรค่าจ้างบุคลากรในกลุ่มอาเซียนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น มีระบุอัตราขั้นต่ำ (ระดับปริญญา) ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 777/2551 ดังนี้
ก.ประเทศในทวีปยุโรป (ยกเว้นประเทศรัสเซีย) และทวีปออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา 50,000 บาท
ข.ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศสิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง 45,000 บาท
ค.ประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย 35,000 บาท
ง.ประเทศกัมพูชา ประเทศเมียนมา ประเทศลาว และประเทศเวียดนาม 25,000 บาท
3) หลักการจ้างงาน AEC Expat ที่เหมาะกับการเปิด AEC อย่างเป็นทางการ สามารถแบ่งประเภทสัญญาจ้างได้เป็น 3 แบบ คือ
ก.จ้างงานแบบ Local Hire
• หมายถึงจ้างงานคนต่างชาติที่กำลังทำงานในประเทศไทย หรือกำลังสำเร็จการศึกษาในประเทศไทย
• จ่ายเงินเดือนและสวัสดิการแบบพนักงานคนไทย โดยที่คนต่างชาติเหล่านี้มักมีภูมิลำเนาในประเทศที่มีค่าจ้างเท่าหรือต่ำกว่าประเทศไทย Low Economy Country
ข.จ้างงานแบบ Local Expat Hire
• หมายถึงจ้างงานคนต่างชาติที่กำลังทำงานในประเทศไทย หรือกำลังสำเร็จการศึกษาในประเทศไทย
• จ่ายเฉพาะเงินเดือนที่เท่ากับการจ้างพนักงานคนไทย โดยจ่ายสวัสดิการมากกว่าคนไทย เพราะมีสวัสดิการ Expat Benefit เพิ่มเติมคือ ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทางไปกลับประเทศตนเองใน AEC
ค.การจ้างงานแบบ Expat Hire
• เป็นการจ้างานคนต่างชาติที่กำลังทำงาน หรือกำลังจบการศึกษาจากต่างประเทศใน AEC จาก High Economy Country (Per Capita Income สูงกว่าประเทศไทย) ทำได้ 2 แบบ คือ
1.ใช้อัตราเงินเดือนของประเทศของลูกจ้างและจ่ายสวัสดิการแบบ Expat Benefit คือ มีค่าที่พัก ค่าเดินทางไปกลับ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์สูง
2.ใช้อัตราเงินเดือนกึ่งกลางระหว่างประเทศลูกจ้างกับประเทศนายจ้างหรือประเทศไทย และจ่ายสวัสดิการแบบ Expat Benefit คือ มีค่าที่พัก ค่าเดินทางไปกลับ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีประสบการณ์ปานกลาง ภาวะการขาดชั่วคราว (Local expat benefit จะถูกกว่า expat benefit ประมาณครึ่งหนึ่ง)
หลังจากนี้ผู้เขียนจะอธิบายรูปแบบและข้อจำกัดอื่นๆ เกี่ยวกับการบริหารและการพัฒนางานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเออีซีต่อไป