จากจุดเล็กๆ สู่ Geopark แห่งสตูล
ด้วยความมุ่งมั่นมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน และอุปนิสัยชอบค้นคว้าและหาความรู้ใหม่ๆ อยู่สม่ำเสมอ
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
ด้วยความมุ่งมั่นมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน และอุปนิสัยชอบค้นคว้าและหาความรู้ใหม่ๆ อยู่สม่ำเสมอ ได้เริ่มสะสมเป็นประสบการณ์จนส่งผลให้ “ครูนก” ธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำโรงเรียนกำแพงวิทยา อ.ละงู จ.สตูล จุดประกายการศึกษาฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่เต็มพื้นที่ของสตูลให้แก่เด็กนักเรียนและผู้มาเยือนรุ่นแล้วรุ่นเล่า รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” ขึ้นมาได้สำเร็จ
ครูนก เล่าว่า สนใจศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นพิเศษ รู้สึกสนุกกับความหลากหลายของสรรพชีวิตจากทะเล เช่น ดาวทะเล แม่นทะเล หอย หมึก กุ้ง ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2525
ช่วงเวลานั้นนักศึกษาหนุ่มชื่อธรรมรัตน์ เริ่มเก็บตัวอย่างสัตว์จากบริเวณท่าเรือปัตตานีมาดองและสตัฟฟ์เก็บไว้ในมุมหนึ่งของบ้าน ต่อมาเมื่อมีโอกาสเข้ารับราชการครู ก็ยังไม่ทิ้งนิสัยชอบเก็บตัวอย่างสัตว์ที่ท่าเรือปัตตานี นำไปเก็บไว้ที่โรงเรียน ทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เป็นตู้โชว์ไว้จำนวนหนึ่ง
“เริ่มจากที่ผมเห็นว่าเวลาสอนนั้นยังขาดสื่อการสอน ท่องศัพท์วิทยาศาสตร์มันค่อนข้างยาก จึงให้เด็กๆ ช่วยกันวาดภาพการจำแนกหมวดหมู่สัตว์และพืชที่ผนังด้านหน้าห้องพิพิธภัณฑ์ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่เด็กจะจดจำ กลายเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน และก็เลยคิดว่า น่าจะนำเรื่องที่เราสนใจมาดัดแปลงเป็นสื่อการสอนอย่างจริงจัง” ครูนก ย้อนความหลัง
จากนั้นให้นักเรียนเก็บซากสัตว์มาผ่าเอาเนื้อออกมาสตัฟฟ์ มาดองน้ำยา กั้นมุมหนึ่งเป็นห้องเล็กๆ ให้เด็กนักเรียนที่สนใจจะดู จุดเล็กๆ ในวันนั้นถูกต่อยอดออกไปเรื่อยๆ เด็กๆ ในโรงเรียนได้เรียนรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง พฤติกรรมการเรียนของเด็กก็เริ่มเปลี่ยนไป หันมาสนใจสิ่งที่เป็นความรู้ทั้งในตำราและนอกตำรามากขึ้น
กระทั่งมีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาในปี 2542 และมีพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าเด็กนักเรียนควรได้เรียนวิชาธรณีศาสตร์ ดาราศาสตร์ในหลักสูตร
“ตอนนั้นที่โรงเรียนยังไม่มีครูสอนวิชาธรณี ผมก็เลยต้องรับหน้าที่นั้น และใช้วิธีหาตัวอย่างหินมาสอนเด็กและพาเด็กออกไปหาตัวอย่างหินนอกโรงเรียน ออกไปไม่ไกลก็พบตัวอย่างฟอสซิลเลย แล้วเราก็เอาตัวอย่างหินก้อนนั้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญดู
“จนทราบข้อมูลว่าหินก้อนนั้นเป็นซากฟอสซิลของปลาหมึก เมื่อ 500 ล้านปีก่อน จากนั้นก็ให้เด็กไปค้นคว้าเพิ่มจากสิ่งที่อยู่ละแวกบ้าน แล้วเด็กๆ ก็พบว่าหลังบ้านพวกเขามีฟอสซิลอยู่เยอะมาก” ครูนก เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นกับสิ่งที่พบในวันนั้น
ฟอสซิลที่พบถูกขยายไปสู่การค้นพบครั้งสำคัญ จนถึงช่วงปี 2552 กรมทรัพยากรธรณีมีโครงการประกวดซากดึกดำบรรพ์ ครูนกได้รวบรวมฟอสซิลเด่นๆ หนึ่งคันรถกระบะส่งประกวดในนามโรงเรียนกำแพงวิทยา ประเภทฟอสซิลสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สามารถกวาดรางวัลถึง 4 ประเภท คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นอติลอยด์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ไทรโลไบต์ สกุล Dalmanitina รางวัลรางวัลชมเชย 1 ได้แก่ แกรปโตไลต์ รางวัลชมเชย 2 ได้แก่ นอติลอยด์
ต่อมากรมทรัพยากรธรณีขอชิ้นส่วนฟอสซิลที่ชนะการประกวด ไปจัดแสดงและเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอุทยานทางธรณี และผลักดันเป็นอุทยานธรณีโลก โดยให้ชาวบ้านในชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทบริหารจัดการกันเอง เลือกเอาพื้นที่ อ.ละงู อ.ทุ่งหว้า อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล จัดตั้งอุทยานธรณีเป็นพื้นที่การนำร่องระดับประเทศ ก่อนนำเสนอผลักดันเป็นอุทยานธรณีโลก
จากจุดเล็กๆ ยังคงถูกต่อยอดต่อไป และพบในที่สุดว่า ชั้นหินตลอดชายฝั่ง ภูเขาหลายลูก รวมถึงเกาะในทะเลของสตูล เช่น เกาะเขาใหญ่ มีความสำคัญในเชิงธรณีวิทยา เป็นชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์เป็นจำนวนมากมีแทรกอยู่ในชั้นหินอายุเก่าแก่ของมหายุคพาลีโอโซอิก หรือในช่วง 590-245 ล้านปี รวมถึงยุคทางธรณีครบทุกยุค ยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวิเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคดีโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และยุคเพอร์เมียน
การค้นพบที่โดดเด่น คือ ฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณ เช่น ไทรโลไบต์ หรือแมงดาทะเลโบราณ สโตรมาโตไลต์ หรือหินสาหร่าย นอติลอยด์ หรือหอยงวงช้าง แกรปโตไลต์ เทนทาคูไลต์ และฟอสซิลหอยสองฝาโบราณ ซึ่งกระจายอยู่ตามภูเขาหินปูนใน จ.สตูล โดยเฉพาะกลุ่มหินตะรุเตา ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นกลุ่มหินตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือมีอายุราว 540 ล้านปีก่อน มีความหลากหลายทางธรณีวิทยามากกว่า Geopark บนเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซีย หรือเรียกได้ว่าเป็นแหล่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ครูนก ผลักดันการเรียนการสอนจากจุดเล็กไปสู่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ จนได้รับความสนใจจากทุกสารทิศ แนวทางที่สอนสามารถคว้าได้รางวัลเหรียญทอง “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” ของคุรุสภา ปีการศึกษา 2556 และรางวัลเหรียญทอง โครงการโรงเรียนในฝัน ปีการศึกษา 2556 ขณะที่สิ่งที่พบทั้งหมดได้กลายเป็นแหล่งความรู้สำคัญระดับโลกไปอีกหลายชั่วอายุคน
หากแต่คุณค่าฟอสซิลเหล่านี้กำลังจะถูกนำไปใช้ถมทะเลเพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังผลักดัน โดยหารู้ไม่ว่าการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ดังกล่าวอาจทำให้พื้นที่สตูลซึ่งมีความหลากหลายอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง