โพลเผยคนหนุนทุกพรรคจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ในการเลือกตั้ง
นิด้าโพลเผยคนหนุนทุกพรรคการเมืองจกทะเบียนตั้งพรรคใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อยากเห็นนัการเมืองหน้าใหม่ร่วมทำงาน
นิด้าโพลเผยคนหนุนทุกพรรคการเมืองจกทะเบียนตั้งพรรคใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อยากเห็นนัการเมืองหน้าใหม่ร่วมทำงาน
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พรรคใหม่ นักการเมืองหน้าใหม่ หรือ พรรคและนักการเมืองเดิม ๆ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 ก.ย. จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความต้องการของประชาชนต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองหน้าใหม่หลังจากการเลือกตั้ง
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอที่จะระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า “พรรคการเมืองทุกพรรคต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.68 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นการจัดระเบียบพรรคการเมืองใหม่ ให้มีระเบียบและข้อปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนมากขึ้น เกิดความเท่าเทียมกันทุกพรรค ไม่ต้องยึดติดกับพรรคการเมืองมากเกินไป ไม่ต้องการเห็นระบบเก่า ๆ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ รองลงมาร้อยละ 15.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่มีความจำเป็น และเกิดประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ยังไงก็ได้ เพราะ ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นกลุ่มนักการเมืองกลุ่มเดิมที่เข้ามาจดทะเบียนภายใต้ชื่อพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งไม่แตกต่างกัน และร้อยละ 12.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความต้องการของประชาชนที่มีต่อ “นักการเมืองหน้าใหม่” กับ “นักการเมืองหน้าเดิม ๆ” ภายหลังการเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.08 ระบุว่า อยากเห็นนักการเมืองหน้าใหม่มากกว่า เพราะ ต้องการเห็นแนวคิดใหม่ ๆ ซึ่งน่าจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาประเทศดีขึ้น คนเดิม ๆ มองแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องและทะเลาะขัดแย้งกัน ไม่ใส่ใจปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ รองลงมา ร้อยละ 29.36 ระบุว่า อยากเห็นนักการเมืองหน้าใหม่และนักการเมืองหน้าเดิม ๆ ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน เพราะ จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและการทำงาน ช่วยกันพัฒนาประเทศ คนเก่าก็ช่วยเสริมคนใหม่ หรือช่วยถ่วงดุลอำนาจ ร้อยละ 9.76 ระบุว่า อยากเห็นนักการเมืองหน้าเดิม ๆ มากกว่า เพราะ นักการเมืองที่ตั้งใจทำงานและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างจริงจังก็มีอยู่ ซึ่งคนเก่า ๆ ต่างก็มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า ร้อยละ 3.44 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ จะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ หรือหน้าเดิมก็ได้ ขอแค่ให้เป็นคนดี ตั้งใจทำงานและแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ ต้องการเห็นรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ ทำงานต่อไป และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลหลังการเลือกตั้งว่าจะมาจาก “พรรคการเมืองใหม่” หรือ “พรรคการเมืองเดิม ๆ ที่เคยบริหารประเทศมาแล้ว” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่า อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 22.88 ระบุว่า อยากเห็นพรรคการเมืองเดิม ๆ ที่เคยบริหารประเทศมาแล้วเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ร้อยละ 5.36 ระบุว่า ควรมีสัดส่วนระหว่างพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองใหม่เท่า ๆ กัน ร้อยละ 2.56 ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารงานต่อไป ร้อยละ 1.60 ระบุว่า เป็นพรรคการเมืองเดิมหรือใหม่ก็ได้ที่ไม่ทุจริต ไม่แสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ร้อยละ 1.20 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ต้องดูที่นโยบายพรรคการเมืองเป็นหลัก ขณะที่บางส่วนระบุว่า ดูที่ตัวบุคคลมากกว่าที่พรรคการเมือง และร้อยละ 8.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ