ดร.ณัฏฐ์ชี้เพิ่มหมวด15/1ตั้งสสร.ร่างรธน.ฉบับใหม่เท่ากับล้มล้างรธน.ปี60
'ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม'ชี้แก้รธน.เพิ่มหมวด 15/1 ตั้งสสร.ยกร่างรธน.ฉบับใหม่เท่ากับล้มล้างรธน.60 ยกคำวินิจฉัยศาลรธน.4/2564 แม้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้แต่ต้องผ่านประชามติก่อน เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่แท้จริงเป็นของประชาชน
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 กรณีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ขอมติที่ประชุมสส.พรรคจะเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคประชาชนหรือไม่ โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคเพื่อไทย ไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทุกมาตรา
ดร.ณัฏฐ์ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน เปิดเผยว่า กับผู้สื่อข่าวว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะใช้เทคนิควิธีการเสนอร่างประกบกับร่างของพรรคประชาชนที่นำเสนอแตกต่างเนื้อหาเฉพาะเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เป็นปัญหา คือ ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา และไม่จัดทำประชามติ ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 มาตรา 256(8) ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้จัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ หากอ่านเกมการเมือง พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน มีเป้าประสงค์ตรงกันที่จะจัดให้มีการจัดทำประชามติเพียงสองครั้งเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ
แต่การที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 กลับไปบัญญัติเพิ่มในหมวด 15/1 หมายความว่า ไปเพิ่มหมวดใหม่ เพื่อให้มี สสร.ที่มีอำนาจในการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีผลทางกฎหมายเท่ากับไปยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ทั้งฉบับ
หากไปพิจารณาถึงเจตจำนงในการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไม่มีบทบัญญัติใดระบุให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 256 เท่านั้น
การเสนอร่างประกบของพรรคเพื่อไทย เป็นเพียงเทคนิคเพื่อแก้ไขตามเป้าหมายของพรรคการเมืองตนเอง จะได้อ้างกับพี่น้องประชาชนได้ว่า ได้ขับเคลื่อนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะที่สภานัดพิจารณาถกร่างแก้ไขและที่ สนง.สภาผู้แทนราษฎรเผยแพร่ร่างอันเป็นการทั่วไป เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน
ดังนั้น ที่นายวิสุทธิ์ฯ ประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า เนื้อหาร่างของพรรคเพื่อไทยที่จะประกบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน มีเนื้อหาแตกต่างกัน ตนขอถามว่าแล้ว สาระสำคัญร่างแก้ไขไปถอดอำนาจ สมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสามของวาระการออกเสียงขั้นสุดท้าย ในมาตรา 256(6) และไม่จัดทำประชามติใน 256(8) หรือไม่ เพราะทั้งสองกรณีเป็นปัญหาในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพราะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้นสอดคล้องกับระบบสองชั้นใน พรบ.ประชามติ มาตรา 13
แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในรายมาตรา แต่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัย ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ว่า
“รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชน ลงมติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง”
อธิบายความว่า แม้นายมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งบรรจุเป็นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่สมาชิกรัฐสภาเสนอได้ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุ รัฐสภามีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ไม่แปลกที่ฝ่ายกฎหมายของสภาตีความว่าสามารถบรรจุร่างได้ เพราะไม่ฝ่าฝในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเมื่อบรรจุไปแล้ว จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนละส่วนกัน
รัฐธรรมนูญไทย เป็นลายลักณ์อักษร แก้ไขยาก ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (6) และ พรบ.ประชามติ ประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หมายความว่า การพิจารณาจะต้องมีองค์ประกอบ ส.ส.และ สว. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 156(15)โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 211 วรรคสี่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ระบุตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่กำหนดรูปแบบของประเทศ องคาพยพในการบริหารกิจการบ้านเมือง และความสัมพันธ์ขององคาพยพดังกล่าวที่สำคัญ เป็นเสมือนสัญญาประชาคม ที่จะยอมให้รัฐมีบทบาทในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้มากน้อยเพียงใด ภายใต้เงื่อนไขอย่างใด แต่ที่รัฐธรรมเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างและกลไกทางการเมือง อันถือเป็นกติกาของสังคม หรือกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมของประเทศนั้นๆ และถือเป็นกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้คนในสังคมรุ่นใหม่ สามารถจัดการกับความเปลี่ยนแปลงหรือความหลากหลาย ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ย่อมเล็งเห็นถึงความเป็น พลวัตของรัฐธรรมนูญด้วยการกำหนดให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นเอง
และสาระสำคัญอีกตอนหนึ่งที่ว่า“..การที่สมาชิกสภาผุ้แทนราษฎรยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่...) พุทธศักราช....ต่อที่ประชุมร่วมกันรัฐสภา ตามมาตรา 256 ซึ่งมีหลักการ และเหตุผลจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 จัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ เป็นการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 156(15) บัญญัติให้การแก้ไขเพี่มเติมรัฐรรมนูญให้กระทำโดยร่วมกันของรัฐสภา มุ่งประสงค์ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภา ในกรณีดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งมีลักษณะแตกต่าง จากการทำหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติทั่วไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรรมนูญและรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
“...แม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมาซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบ กระบวนการและเนื้อหา รัฐสภาจึงต้องกระทำหน้าที่ได้รับอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทำนอกขอบเขตอำนาจหน้าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมแสอดคล้องกับมติมหาชน รัฐธรรมนูฐแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 15 เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติใดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560..”
เป็นการแก้ไขหลักการสำคัญ ที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดังเดิม ต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงจะดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงจะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เนื้อหาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่....)พุทธศักราช....ที่พรรคประชาชน ยื่นเสนอต่อสภาและนายมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา บรรจุในญัตติ หากพิจารณาถึงรายละเอียดในเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 มีเนื้อหาลักษณะคล้ายคลึงกัน อาจแตกต่างวิธีการได้มาซึ่ง สสร.ที่แตกต่างไปจากเนื้อหาเดิม แต่สารัตถะไม่แตกต่างกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว ซึ่งผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญย่อมเด็ดขาด ผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสี่
จะเห็นได้ว่า แนวทางร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่นำเสนอโดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยจะประกบนร่าง จะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย หากพิจารณาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ จะเกิดปัญหาว่า ร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 15/1 เป็นการลักไก่ ที่รัฐสภาไม่อาจดำเนินการได้ เพราะฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะผู้เสนอร่างฯจะต้องไปจัดทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนและเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชน ลงมติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง
แต่เทคนิคถอดมาตรา 256 (8) ออกทั้งยวง โดยไม่ต้องจัดทำประชามติอีกครั้ง ก่อนเสนอทูลเกล้าฯ จะเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นช่องทางลัด แต่เป็นความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และเมื่อมีการแก้ไขจะเพิ่มระดับความร้อนแรงทางการเมือง เพราะในมาตรา 256 (6) ยังต้องผ่านด่านหินของเสียงสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสามอีกด้วย