ความเชื่อผิดๆกินของดิบแข็งแรง...แต่แท้จริง "เสี่ยงตาย!!"
ความเข้าใจผิดในการรับประทานอาหารดิบของผู้คนจำนวนไม่น้อย นำไปสู่การเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตโดยไม่รู้ตัว
โดย....วรรณโชค ไชยสะอาด
ไม่กี่วันก่อน พิษภัยของการรับประทานอาหาร สุกๆ ดิบๆ ตกเป็นข่าวให้สังคมรับรู้อีกครั้ง เมื่อสองหนุ่มชาวสุโขทัย รับประทาน "หลู้หมูดิบ" จนเกิดอาการ ท้องเสีย เวียนหัว ลุกเดินไม่ไหว ก่อนท้ายที่สุดจะมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดขั้นรุนแรงลามขึ้นสมองและได้เสียชีวิตลง
เหตุการณ์ดังกล่าวตอกย้ำให้ผู้บริโภคเห็นอีกครั้งว่า การรับประทานอาหารดิบนั้นมีอันตรายต่อร่างกาย แต่ทว่ายังมีผู้บริโภคไม่น้อยที่ยังรับประทานอาหารเหล่านี้อยู่ด้วยความเชื่อที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ หลายคนเชื่อว่า “กินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมยุคนี้ถึงมีคนบอกว่าอันตราย”
ต่อไปนี้คือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินดิบ จากปากนักโภชนาการ.....
กินอาหารดิบแข็งแรง-บีบมะนาวฆ่าเชื้อโรคได้
"สง่า ดามาพงษ์" นักวิชาการสาธารณสุขผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า ความเข้าใจผิด 3 ข้อ เกี่ยวกับการกินอาหารดิบที่มีมาอย่างยาวนาน คือ
1.กินดิบแล้วแข็งแรง
เรื่องนี้เป็นความเชื่อของคนยุคโบราณ เนื่องจากความรู้ในการประกอบอาหารยังน้อย มนุษย์ยังไม่รู้จักการหุงต้มหรือสภาพแวดล้อมโดยรวมยังไม่เอื้ออำนวยให้ประกอบอาหารปรุงสุก ต่างจากวันนี้โลกเจริญแล้ว เหตุใดเราต้องย้อนยุคกลับไปทำเหมือนคนในยุคโบราณอีก
2.อาหารดิบให้คุณประโยชน์มากกว่าปรุงสุก
เป็นไปไม่ได้ที่เนื้อดิบจะให้คุณประโยชน์มากกว่าเนื้อสุก เพราะเนื้อสัตว์ประกอบไปด้วยสารอาหารที่เรียกว่า “โปรตีน” ร่างกายจะใช้ประโยชน์จากโปรตีนได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ความร้อนแผดเผาจนโมเลกุลของโปรตีนนั้นเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น และหมายถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้ดีนั่นเอง
3.มะนาวและเหล้า ฆ่าเชื้อโรคในเนื้อสัตว์ได้
มะนาวกลายเป็นส่วนผสมหลักของอาหารดิบหรืออาหารพื้นบ้านแทบทุกชนิด ประชาชนบางส่วนเชื่อว่า น้ำมะนาวจะทำให้เนื้อสุกหรือฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งข้อเท็จจริง “มะนาว เป็นกรดซิตริก” ไม่ได้ออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือทำลายเชื้อโรค รวมไปถึงเหล้า ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมก็ไม่ได้ฆ่าเชื้อหรือป้องกันอันตรายจากพยาธิได้แต่อย่างใด
อาจารย์สง่า บอกว่า การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์เช่น สุกร โค หรือกระบือแบบดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบดิบ ลาบแดง หลู้ดิบ แหนมดิบ มีความเสี่ยงอันตรายมากทั้งเชื้อโรคระบบทางเดินอาหาร เเละเสี่ยงติดพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์จำพวกนี้ ขณะเดียวกันในระยะยาวยังเสี่ยงต่อโรคมะเร็งด้วย
แม้การเลือกเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเลี้ยงดูอย่างดี ถูกต้องตามสุขลักษณะ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้บ้างในระดับหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้ว “ไม่แนะนำ” และขอให้ทุกคนรับรู้ข้อเท็จจริงในโลกสมัยใหม่เสียที
ด้าน ศ.ดร.บรรจบ ศรีภา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า พฤติกรรมการกินดิบของคนท้องถิ่น เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ และความชอบส่วนบุคคล ยากลำบากที่จะปรับเปลี่ยนความคิดของคนในพื้นที่ได้ทั้งหมด
"ตัวอย่างความเข้าใจผิดของประชาชน คือ ความเชื่อที่ว่าดื่มเหล้าขาวแกล้มปลาดิบสามารถฆ่าพยาธิได้ แต่ผลการวิจัยกลับพบว่าผู้ที่กินก้อยปลาแกล้มเหล้าขาวติดพยาธิมากกว่าผู้ที่กินก้อยปลาอย่างเดียว เนื่องจากเหล้าขาวจะทำให้พยาธิแตกตัวและเดินทางเข้าไปในท่อน้ำดีเร็วขึ้น"ศ.ดร.บรรจบกล่าว
ขณะเดียวกันค่านิยมในเชิงสังคมวัฒนธรรมยังทำให้การกินดิบอยู่คู่กับท้องถิ่นได้อย่างหนาเเน่น ตัวอย่างเช่น ผู้นำชุมชน ที่มีลักษณะแข็งแรง ตัวใหญ่ เเละบริโภคอาหารดิบเป็นนิสัย ภาพเหล่านี้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองว่า “กินดิบก็เเข็งเเรงได้"
เมนูดิบเสี่ยงอันตรายถึงตาย
"ก้อยดิบ ลาบหมู หลู้หมู" อาหารพวกนี้เสี่ยงต่อ อาการ "หูดับ" ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ที่อยู่ในเนื้อหมูดิบ เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว เป็นเชื้อที่อยู่ในโพรงจมูกและต่อมน้ำลายของหมู
หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายคน อาจจะทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หากร้ายแรง อาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง เเละหากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว
ในขั้นรุนเเรง หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตา จะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอด และหากติดเชื้อในกระแสเลือด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากนั้น ลาบและก้อยดิบ ยังเสี่ยงที่จะได้รับ พยาธิตัวตืดและพยาธิทริคิโนซีส ที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อสัตว์ด้วย หากพยาธิไชขึ้นสมอง จะทำให้สมองอักเสบ หากไชเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบมีอาการรุนแรงถึงตาย
"ก้อยปลา ปลาส้ม ปลาดิบ ปลาร้า" การรับประทาน ก้อยปลา ปลาส้ม ปลาดิบ รวมไปถึงปลาร้า เสี่ยงต่อการเกิด "โรคพยาธิใบไม้ตับ" เริ่มจากมีอาการ ท้องอืด แน่น จุกเสียด รู้สึกอึดอัด ร้อนบริเวณลำตัว เบื่ออาหาร ท้องอืด หรืออุจจาระร่วง ตับโต และกดเจ็บบริเวณตับ ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง มักมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงจนมีอาการสั่นร่วมด้วย ทั้งนี้พยาธิใบไม้ตับยังเป็นต้นเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีด้วย
"ยำกุ้งเต้น" กุ้งน้ำจืดอาจเป็นพาหะนำพยาธิตัวกลมและพยาธิตัวจี๊ดมาสู่คนได้ ซึ่งจะไปอาศัยอยู่ตามกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดผื่นแดงและมีอาการคัน อักเสบ บวมและปวด หรือมีเลือดออกของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่พยาธิเคลื่อนที่ไป พยาธิอาจไชเข้าตา ทำให้ตาบอด หรือไชเข้าสมองทำให้สมองอักเสบและเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต และเสียชีวิตลงได้
ถึงบรรทัดนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การบริโภคในครั้งต่อไปของทุกคนจะระวังและไตร่ตรองถึงผลกระทบมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.doctor.or.th/ , สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข