posttoday

เล่นของสูง

01 พฤศจิกายน 2558

หลายเรื่องในสังคมไทย “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” “เล่นของสูง” ในบทความวันนี้ก็หมายถึง “การกระทำต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

หลายเรื่องในสังคมไทย “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

“เล่นของสูง” ในบทความวันนี้ก็หมายถึง “การกระทำต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เสมือนว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของเล่น หรือเอามาแสวงหาประโยชน์อย่างมักง่ายและไม่ให้ความเคารพ” ซึ่งมักใช้ในกรณีที่มีคน “ทะลึ่ง” หรือ “ระยำ” กระทำต่อสิ่งที่คนทั้งหลายหวงแหน เคารพบูชา และเทิดทูน

“ของสูง” ที่คนไทยหวงแหนน่าจะเริ่มจากอวัยวะที่อยู่สูงสุดคือ “หัว” หรือ “ศีรษะ” และน่าจะหวงแหนกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ รวมทั้งน่าจะเป็นวัฒนธรรมตะวันออกโดยเฉพาะ คือที่อินเดียหรือจีนก็หวงแหนศีรษะพอๆ กับคนไทย (ท่านทั้งหลายคงจำตำนานสงกรานต์ได้ ซึ่งมาจากจากศาสนาฮินดูพราหมณ์ เกี่ยวกับศีรษะของท้าวมหาพรหมที่ถูกตัดออกจากคอก็มิอาจจะตกสู่พื้นได้ หรือการปลงผมก่อนบวชในศาสนาพุทธก็ถือเป็นการเสียสละอย่างยิ่ง หรือหางเปียของพวกแมนจูที่ปกครองจีนเป็นราชวงศ์สุดท้ายก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ เมื่อฝรั่งมารุกรานและบังคับให้ตัดหางเปียนี้ทิ้งจึงเป็นความคับแค้นใจของคนทั้งชาติ ถึงขั้นลุกฮือก่อกบฏต่อสู้กับฝรั่ง) ต่างจากฝรั่งที่เห็นว่าการเล่นหัวเป็นการแสดงความสนิทสนมคุ้นเคยหรือเอ็นดูกันและกัน อย่างที่เราเห็นนักกีฬาฝรั่งตบหัวกันเวลาดีใจหรือชื่นชมกันและกัน แต่ถ้าคนไทยถ้ามีใครมาตบหัวเล่นแบบนี้ก็ต้องมีเคืองหรือทะเลาะกัน ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เคยมีชนชั้นปกครองที่โกรธกันจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน

ของสูงที่คนไทย “ถือ” หรือแตะต้องไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ พ่อแม่ หรือคนที่เราเคารพบูชา อย่างพ่อแม่นี้แค่เอามาล้อเล่นหรือเรียกเป็นชื่อเล่นของเพื่อนๆ กันก็ยังถือเป็นความบาดหมาง (แต่ก็มีเหมือนกันที่เป็นเพื่อนสนิทกันมากๆ แล้วเรียกชื่อพ่อชื่อแม่กันเป็นประจำ จนถือเป็นเรื่องปกติ จนบางทีต่อหน้าพ่อแม่ก็เผลอเรียกชื่อของพ่อแม่นั้นออกมา กลายเป็นเรื่องตลกอยู่บ่อยๆ) การให้ความเคารพพ่อแม่หรือผู้หลักผู้ใหญ่แบบนี้ในที่สุดก็กลายเป็นขนบหรือประเพณีปฏิบัติที่สำคัญของความเป็นไทย รวมถึงที่ใช้แสดงต่อผู้ปกครอง อย่างที่ในสมัยสุโขทัยก็เรียกว่า “พ่อขุน” ยิ่งในสมัยอยุธยาที่ผู้ปกครองของไทยไปรับเอาขนบของขอมที่รับมาจากฮินดูอีกทีในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครอง ก็ยิ่งทำให้ผู้ปกครองมีความสูงส่งยิ่งขึ้นไปอีก ในลักษณะที่เป็นเทพหรือองค์อวตาร ซึ่งมีหลายชื่อเรียก เช่น พระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดิน และพระมหาชีวิต เป็นต้น

จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 3-4 ที่ฝรั่งมาล่าเมืองขึ้นในยุคนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ต้องปรับตัวเข้าหาประชาชน มีการปรับเปลี่ยนพระราชประเพณีและธรรมเนียมต่างๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างมากมาย สืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการปรับปรุงการบริหารราชการและการเสด็จออกเยี่ยมเยียนประชาชน ก็ได้ทำให้สถาบันอันสูงสุดนี้มีความสนิทสนมแนบแน่นกับราษฎรขึ้นโดยลำดับ อันเป็นสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันก็ทรงปฏิบัติเป็นพระราชจริยวัตร ดังที่คนไทยต่างก็ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณนั้นเป็นที่ยิ่ง

คนไทยมีสุภาษิตอยู่อย่างหนึ่งว่า “ต้องรู้จักที่ต่ำที่สูง” หมายความว่า ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่แสดงถึงความเคารพกันและกันอยู่เสมอ เช่น เด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ ลูกศิษย์ต้องเคารพครูอาจารย์ ลูกน้องต้องเคารพเจ้านาย จนถึงราษฎรก็ต้องเคารพเทิดทูนพระมหากษัตริย์

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งในโลกสมัยใหม่นี้ก็คือ มีคนไทยจำนวนมากเห็นว่าการแสดงความเคารพนอบน้อมในลักษณะดังกล่าวมาเป็นเรื่องที่ล้าหลัง คลั่งศักดินา หรือบ้าเป็นอำนาจนิยม รวมทั้งไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม จนถึงไม่มีสิทธิมนุษยชน เพราะไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ว่าเข้าไปโน่น) แล้วพานจะให้มาเลิกธรรมเนียม “รู้จักที่ต่ำที่สูง” นี้ด้วย

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนบทความในช่วงที่เลิกอุ้มรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ราวปี 2530 (ตอนตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2523 นั้นรักกันมาก จนสื่อมวลชนเปรียบว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นี้เป็น “คุณยายโอชิน” ละครญี่ปุ่นที่คุณยายแกอุ้มชูเลี้ยงดูลูกทุกคนด้วยความอดทนอย่างยิ่ง) ว่าคนไทยกำลังแสดงความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พากันเรียกพระบรมราชชนนีว่า “สมเด็จย่า” หรือเรียกบรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลายว่า “ทูลกระหม่อม” ซึ่งเป็นสรรพนามที่แปลว่า “ลูก” แล้วก็ลามรวมมาถึงพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชินีที่ถูกเรียกด้วยคำว่า “พ่อ” และ “แม่” หรือ “พ่อหลวง” และ “แม่หลวง” ตามไปด้วย (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนบทความซอยสวนพลูกล่าวไว้อย่างติดตลกว่า พ่อหลวงนี้ใครพูดเป็นคนแรกเกี่ยวกับในหลวงก็ไม่ทราบ แต่คำว่าพ่อหลวงนี้ทางภาคเหนือมีตำแหน่งแค่ “ผู้ใหญ่บ้าน” เท่านั้นเอง)

ในระหว่างนี้มีคดีความเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากมาย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความรู้สึก “ใกล้ชิด” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องดังกล่าว และอีกส่วนหนึ่งก็คือ “นิสัยเสีย” ของคนบางจำพวก ที่ชอบนินทาว่าร้ายหรืออิจฉาจนกระทั่งความริษยากันและกัน (บ้างก็ว่านี่แหละคือนิสัยสันดานของคนไทย อย่างกลอนสุนทรภู่ที่ว่า “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดไปกรีดหิน แม้องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา”) รวมถึงนิสัยชอบอวดรู้ “รู้ดี” ของคนสมัยใหม่ ซึ่งบางทีก็แข่งขันกัน “รู้ก่อน รู้เร็ว” โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โซเชียลมีเดียเป็นที่นิยม ก็ยิ่งมีการสื่อสารอย่างไม่ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเป็นพยานในขั้นสอบสวนเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ม.112” นี้อยู่ 2 คดี คดีหนึ่งเป็นนักวิชาการสีแดงปากกล้าแต่ใจเท่าขี้เล็บเท้า ขี้ขลาดหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ อีกคดีหนึ่งเป็นคดีที่น่าสงสาร เพียงแค่เล่นไลน์ในกลุ่มเพื่อนแล้วไปอวดว่ารู้ดีเรื่องในรั้วในวัง ไม่นึกว่าจะมีเพื่อนในกลุ่มไลน์บางคนที่ไม่ชอบตน แอบเอาข้อความไปให้คนอื่นดูแล้วนำไปสู่การแจ้งความเอาผิด ซึ่ง
ผู้เขียนก็ให้ความเห็นไปอย่างเป็นกลางว่า การกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ก็เป็นกันอยู่ทั่วไปในทุกวงสังคม เพียงแต่คนในยุคนี้ไม่ค่อยระมัดระวังในการกล่าวถึงพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าว ด้วยเห็นเป็นเรื่องสนุก แสดงความรู้ดีหรือรู้เร็วรู้ก่อน

ตอนที่มีการทำกฎหมายเกี่ยวกับความผิดทางคอมพิวเตอร์ในปี 2550 ผู้เขียนซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับทราบความเห็นเป็นความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงนี้หลายท่านที่มาให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการ ก็พอจะมองเห็นเลาๆ แล้วว่า “นิวมีเดีย” หรือสื่อคอมพิวเตอร์ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อการใส่ความกล่าวหาว่าร้ายกันอย่างหลีกเลี่ยงใม่ได้ ทั้งนี้มีทางหนึ่งที่จะป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ นั่นก็คือ “การสร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรม” ซึ่งก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก ขอเพียงแค่คนไทยตระหนักรับรู้ถึงที่สิ่งที่ควรหรือไม่ควร

ไม่จำเป็นต้องรู้กฎหมายมากมาย ขอให้รู้ “ที่ต่ำที่สูง” ก็พอ