posttoday

โครงการอวกาศในปี 2559

03 มกราคม 2559

พ.ศ. 2558 ที่ผ่านพ้นไป มีความก้าวหน้าด้านอวกาศที่น่าสนใจ เหตุการณ์โดดเด่นเป็นที่พูดถึงกันมากที่สุด

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

พ.ศ. 2558 ที่ผ่านพ้นไป มีความก้าวหน้าด้านอวกาศที่น่าสนใจ เหตุการณ์โดดเด่นเป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นภารกิจของยานนิวเฮอไรซอนส์ (New Horizons) ขององค์การนาซ่า ที่เฉียดใกล้ดาวเคราะห์แคระพลูโตเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 กลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่เข้าไปถ่ายภาพระยะใกล้ของวัตถุที่อดีตเคยเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 หลังผ่านระบบดาวพลูโตไปแล้ว ยานนิวเฮอไรซอนส์ยังคงทยอยส่งข้อมูลที่เก็บไว้มาเป็นระยะไปจนถึงราวเดือน ก.ย. 2560 และมีแผนจะผ่านใกล้วัตถุแถบไคเปอร์ที่มีชื่อว่า 2014 MU69 ในวันที่ 1 ม.ค. 2562

วันที่ 6 มี.ค. 2558 ยานดอว์น (Dawn) ของนาซ่าเข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์แคระซีรี่ส์ วัตถุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ดอว์นกลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่ผ่านใกล้ดาวเคราะห์แคระ (ก่อนหน้านิวเฮอไรซอนส์ที่ไปถึงพลูโตในอีก 4 เดือนถัดมา) เผยให้เห็นภาพถ่ายระยะใกล้ของพื้นผิว ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดคือจุดสว่างที่ปรากฏภายในหลุมอุกกาบาตหลายหลุม ซึ่งคาดว่าเป็นน้ำแข็งที่พ่นออกมาจากใต้พื้นผิว

วันที่ 21 ธ.ค. 2558 สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) บริษัทเอกชนด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการนำจรวดที่ใช้ส่งดาวเทียมกลับมาลงจอดบนฐาน นับเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเราสามารถนำจรวดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในภารกิจอวกาศ

วันที่ 6 ธ.ค. 2558 องค์การอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา ได้นำยาน อะกะสึกิ (Akatsuki) เข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากต้องรอมานานถึง 5 ปี ยานลำนี้ออกจากโลกและมีแผนเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์ในปี 2553 แต่ประสบปัญหาเครื่องยนต์หลักหยุดทำงานขณะกำลังอยู่ในกระบวนการเข้าสู่วงโคจร

พ.ศ. 2559 มีเหตุการณ์ด้านอวกาศที่น่าติดตามอยู่หลายเหตุการณ์ เริ่มจากโครงการสำรวจดาวอังคารขององค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา ซึ่งร่วมมือกับองค์การอวกาศรัสเซีย หรือรอสคอสมอส โครงการนี้มีชื่อว่าเอ็กโซมาร์ส (ExoMars ย่อมาจาก Exobiology on Mars) เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายในการศึกษาดาวอังคารเพื่อค้นหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวแดง ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน ตามแผนในขณะนี้มีกำหนดจะปล่อยยานอวกาศทั้งในปี 2559 และปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ตำแหน่งโลกและดาวอังคารในอวกาศเหมาะสมที่สุดที่จะส่งยานออกไปโดยใช้เวลาเดินทางสั้นที่สุด

วันที่ 14 มี.ค. 2559 อีซาและรอสคอสมอสจะปล่อยจรวดเพื่อส่งยานสองลำเดินทางไปด้วยกัน ลำหนึ่งเป็นยานโคจร มีชื่อว่าทีจีโอ (TGO ย่อมาจาก Trace Gas Orbiter) อีกลำหนึ่งเป็นยานลงจอด มีชื่อว่า สกาปาเรลลี (Schiaparelli) ตามชื่อสกุลของนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี ยานทั้งสองมีกำหนดถึงดาวอังคารในเดือน ต.ค. 2559 ยานทีจีโอจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคาร มีเป้าหมายในการสำรวจแก๊สในบรรยากาศ และช่วยหาจุดลงจอดที่เหมาะสมสำหรับรถสำรวจที่จะส่งไปในปี 2561 ส่วนยานสกาปาเรลลีจะไปลงจอดบนพื้นผิวเพื่อทดสอบเทคโนโลยีการนำยานลงจอดบนดาวอังคาร

วันที่ 4 ก.ค. 2559 ยานจูโน (Juno) ของนาซ่าจะเดินทางถึงดาวพฤหัสบดี จูโนถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 เป้าหมายหลักคือการศึกษาโครงสร้างภายในของดาวพฤหัสบดี อันจะนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของดาวพฤหัสบดีและระบบสุริยะ ยานจูโนจะอยู่ในวงโคจรรอบดาวพฤหัสบดีไปจนถึงเดือน ก.พ. 2561 ก่อนสิ้นสุดภารกิจด้วยการพุ่งชนดาวพฤหัสบดี

ก.ย. 2559 ยานโรเซตตา (Rosetta) ของอีซาจะสิ้นสุดภารกิจ โรเซตตาอยู่ในวงโคจรรอบดาวหางชูรูย์มอฟ-เกราซีเมนโค (นิยมเรียกชื่ออย่างสั้นว่า 67 พี ตามลำดับในบัญชีดาวหาง หรือซี-จี ตามอักษรตัวแรก) มาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557 คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วอีซาจะบังคับให้ยานพุ่งชนดาวหางด้วยความเร็วต่ำ

ก.ย. 2559 นาซ่ามีแผนปล่อยยานโอซิริส-เรกซ์ (OSIRIS-Rex ย่อมาจาก Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification, Security, Regolith Explorer) เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย
เบนนู (Bennu) โดยมีแผนศึกษาและเก็บตัวอย่างดินบนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกใน พ.ศ. 2566

เดิมองค์การนาซ่ามีแผนจะส่งยานอินไซต์ (InSight ย่อมาจาก Interior Exploration using Seismic Investigations, Geodesy and Heat Transpor) ขึ้นสู่อวกาศในเดือน มี.ค. 2559 เพื่อไปลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารในเดือน ต.ค. โดยติดตั้งมาตรวัดแผ่นดินไหว มีเป้าหมายศึกษาด้านธรณีฟิสิกส์ของดาวอังคาร เพื่อเข้าใจถึงสภาพภายในดาว แต่เกิดปัญหากับมาตรวัดแผ่นดินไหว อันเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดที่ต้องนำขึ้นไปด้วย ทำให้ไม่สามารถส่งยานได้ทันตามกำหนด โอกาสครั้งต่อไปคือเดือน พ.ค. 2561