พองแด-ยุบแด
แนวทางการสอนวิปัสสนากรรมฐานของมหาสีสยาดอนั้น คือ แนวธาตุมนสิการปัพพะ หรือพองหนอ-ยุบหนอ
โดย...จากหนังสือ 90 ปี พระธรรมมังคลาจารย์
แนวทางการสอนวิปัสสนากรรมฐานของมหาสีสยาดอนั้น คือ แนวธาตุมนสิการปัพพะ หรือพองหนอ-ยุบหนอ (ภาษาเมียนมาเป็น พองแด-ยุบแด)
จำลอง ดิษยวณิช (2549:40-41) เล่าแนวทางการสอนของมหาสีสยาดอไว้ในวิปัสสนากรรมฐานและเชาวน์อารมณ์ ว่า “...เมื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจนช่ำชองแล้ว ได้นำกระบวนการฝึกวิปัสสนากรรมฐานมาพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว มีความเห็นว่า โดยปกติลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นรูปที่ละเอียดอ่อน เป็นอารมณ์ของกรรมฐานที่กำหนดได้ยาก เมื่อวิริยะ สติ สมาธิ และสัมปชัญญะ มีพลังมากขึ้นแล้ว ลมหายใจจะค่อยๆ ละเอียดและเบาลง จนดูเหมือนว่าจะหยุดหายใจไปในที่สุด ในสถานการณ์เช่นนี้ โยคีบางคนที่กำหนดหาลมหายใจของตนเองไม่พบ ก็จะเกิดภาวะจิตฟุ้งซ่านและซัดส่ายทำให้เกิดผลเสียในการปฏิบัติได้
ดังนั้น แม้ว่าอานาปานสติจะเป็นสุดยอดของกรรมฐานทั้งหมด ทว่าในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็ได้กล่าวไว้ว่า ‘ก็อานาปานสติกรรมฐานเป็นของยาก อบรมได้ยาก เป็นภูมิแห่งมนสิการของผู้ที่เป็นมหาบุรุษเท่านั้น กล่าวคือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรทั้งหลาย’
มหาสีสยาดอเองก็มีความเห็นว่า การกำหนดสติที่บริเวณท้อง แม้ว่าจะกระทำได้ยากในตอนแรก แต่เมื่อกำหนดได้ถูกต้องแล้ว ก็จะกระทำได้ง่ายกว่าและได้ผลดีกว่าด้วย เพราะการกำหนดสติที่บริเวณท้องโดยสังเกตการเคลื่อนไหวของท้องซึ่งเกิดจากอำนาจของธาตุลม จะมีความสะดวกกว่า เนื่องจากรูปที่ลมถูกท้องนั้นเป็นรูปที่หยาบกว่า
คนสมัยปัจจุบันมีความรู้สึกที่ไม่ละเอียดอ่อนเหมือนกับคนในสมัยก่อน จึงทำให้การกำหนดสติที่บริเวณท้องมีความเหมาะสมกว่า ท่านจึงได้แนะนำให้โยคีทุกคนกำหนดสติไว้ที่หน้าท้องบริเวณสะดือ พยายามสังเกตอาการพองยุบ พร้อมกับการกำหนดไว้ในใจว่า พองหนอ ยุบหนอ...”
หลวงพ่ออาจพบสำนักวิปัสสนาที่พม่า
ยามที่วิปัสสนากรรมฐานในเมียนมารุ่งเรืองนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) มหาเถระชาวไทยที่เอาใจใส่เรื่องวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง เดินทางไปประเทศเมียนมาใน พ.ศ. 2495 พยายามเสาะหาสำนักปฏิบัติธรม กระทั่งได้พบสำนักวิปัสสนาของมหาสีสยาดอ
ท่านได้ศึกษาวิธีสอนและวิธีปฏิบัติกรรมฐานของสำนักมหาสีสยาดอแล้ว วินิจฉัยว่าเป็นวิธีสอนกรรมฐานที่ถูกต้องตรงกับในพระไตรปิฎกและวิสุทธิมรรค จึงได้แสดงความจำนงต่อมหาสีสยาดอ ขอส่งพระภิกษุศิษย์วัดมหาธาตุฯ มาปฏิบัติธรรม ณ สำนักนี้ พร้อมกับได้แสดงความปรารถนาว่า ตอนกลับนั้น ขออาราธนาพระอาจารย์ไปสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และพระอภิธรรมในประเทศไทยด้วย ซึ่งมหาสีสยาดอก็ตกลงยินดี
หลวงพ่อโชดก ศิษย์สำนักมหาสี
ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ส่งพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.9 (พระธรรมธีรราชมหามุนี) ไปเรียนวิปัสสนาธุระ ณ สำนักวิปัสสนาสาสนยิสสา (สาสนเยกถะ) ภายใต้คำแนะนำของพระมหาสีสยาดอ และส่งพระมหาบำเพ็ญ ป.ธ.5 กับสามเณรไสว ป.ธ.5 ไปเรียนฝ่ายคันถธุระ ณ วัดอัมพวนาราม ภายใต้คำแนะนำของพระยานิกเถร เจ้าอาวาส
พระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลา 1 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2496 ครั้งนั้นสภาการพุทธศาสนาแห่งประเทศเมียนมาได้ส่งพระอาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานจริยะ กับพระอินทวังสะ ธัมมาจริยะ กัมมัฏฐานาจริยะ ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อครั้งไปเยือนเมียนมา (มาเมืองไทย)
พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ
พระอาสภมหาเถระ ปธาน กัมมัฏฐานจริยะ (พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ) ศิษย์มหาสีสยาดอผู้นี้ มีบทบาทในการเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐานแบบพองหนอ ยุบหนอ ในประเทศไทยมาก โดยเมื่อท่านเดินทางมาสู่ประเทศไทย ท่านก็รับหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ บอกกรรมฐานอยู่คณะ 5 วัดมหาธาตุ ภายหลังเกิดเหตุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ถูกทางการจับตัว ห้องวิปัสสนากรรมฐานบริเวณวิหารคต ถูกทำลายลง ท่านจึงย้ายไปสอนวิปัสสนา ที่ จ.ชลบุรี โดยอุปถัมภ์ของ ธรรมนูญ สิงคาลวานิช ท่านสอนกรรมฐานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2505 นอกจากนั้นยังแต่งตำรากรรมฐานเป็นภาษาไทยไว้หลายเล่ม เช่น แว่นธรรมปฏิบัติ แนวปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หลักการเจริญวิปัสสนาปฏิจจสมุปบาท และวิปัสสนา
ด้วยผลงานด้านวิปัสสนากรรมฐานที่โดดเด่น วันที่ 9 ม.ค. 2530 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ต่อมาวันที่ 7 มี.ค. 2536 รัฐบาลเมียนมาถวายสมณศักดิ์ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ เทียบเท่ารองสมเด็จพระราชาคณะของไทย ให้แก่ท่านสมณศักดิ์นี้เป็นสมณศักดิ์ชั้นเดียวกันกับที่รัฐบาลเมียนมาถวายพระธรรมมังคลาจารย์ วิ. (หลวงพ่อทอง) เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2554
ภายหลังท่านภัททันตะได้ย้ายสำนักวิปัสสนาไปที่สำนักวิปัสสนาสมมิตรปราณี ต.หนองปรือ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ต่อมาสร้างวัดภัททันตะอาสภาราม จ.ชลบุรี เปิดสอนวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจังถึงทุกวันนี้