ชมรมร่วมสำนึกรักษ์บ้านเกิด
คนต่างจังหวัดที่มาลงหลักปักฐานทำงานในเมืองกรุงย่อมต้องมีอารมณ์คิดถึงบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องธรรมดา
โดย...ภาดนุ
คนต่างจังหวัดที่มาลงหลักปักฐานทำงานในเมืองกรุงย่อมต้องมีอารมณ์คิดถึงบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องธรรมดานี่จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขารวมตัวกันตั้งชมรมขึ้นมาเพื่อทำเรื่องดีๆ คืนกลับสู่สังคมบ้านเกิดของตัวเอง ดังเช่น “ชมรมร่วมสำนึกรักษ์บ้านเกิด”
อรรถวัฒน์ วรรณพรม ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งและประธานชมรม เล่าว่า ชมรมร่วมสำนึกรักษ์บ้านเกิดก่อตั้งขึ้นที่วัดบ้านยาย(วัดที่มีพระเจ้าตองติ๊บ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนใน ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย) เมื่อเดือนเม.ย. 2555
“จุดเริ่มต้นคือผมได้ชักชวนพี่สาวและญาติๆ รวมถึงคนในอ.เวียงแก่น ที่ออกไปทำงานต่างถิ่นหรือต่างประเทศซึ่งมีอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิด วัด โรงเรียน และช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้คงอยู่ พร้อมทั้งอยากปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รู้จักบุญคุณถิ่นฐานบ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
ต่อมากิจกรรมของชมรมได้มีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง โดยช่วยโปรโมทให้ อ.เวียงแก่น เป็นที่รู้จักของคนภายนอก ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘เวียงแก่นนิวซีแลนด์เมืองไทย’ ของนายอำเภอนักพัฒนา ทัศนัย สุธาพจน์ อย่างเช่น การจัดงานมหาสงกรานต์ล้านนาสมาชิกชมรมก็จะไปเชิญชวนเจ้านาย หัวหน้างาน และผู้หลักผู้ใหญ่ที่รู้จักมาเที่ยวเวียงแก่นตามสถานที่ท่องเที่ยวก่อนถึงวันงานจริง โดยจัดหาเสื้อผ้าพื้นเมืองให้คนเหล่านี้ใส่
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานขันโตกให้พวกเขาได้ลิ้มลองรสชาติอาหารท้องถิ่น มีการนำศิลปวัฒนธรรมล้านนาออกมาแสดงให้ชม เช่น วงสะล้อซอซึง การตีกลองสะบัดชัย การฟ้อนและจัดขบวนแห่ที่อลังการเพื่อต้อนรับ ซึ่งสมาชิกชมรมได้แบ่งงานกันทำตามที่แต่ละคนถนัด”
อรรถวัฒน์บอกว่า ปัจจุบันนี้สมาชิกชมรมมี 150 คน โดยมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการครู พนักงานบริษัท และเจ้าของกิจการ ซึ่งส่วนหนึ่งทำงานอยู่ในเวียงแก่น อีกส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพอยู่ต่างถิ่นหรือต่างประเทศ และจะกลับมาร่วมงานกันตามเทศกาล พร้อมทั้งร่วมบริจาคเงินด้วยใจที่สำนึกรักษ์ในบ้านเกิดของตัวเองด้วยจิตอาสาและไม่แสวงหาผลกำไรหรือสิ่งตอบแทนใดๆ
“การทำงานของทีมงานในชมรมก็คือ ทำงานร่วมกับชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ เป็นที่ปรึกษา และเป็นสื่อกลางในการจัดงานแบบบูรณาการตามหลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ผมได้นำประสบการณ์จริงในชีวิตการทำงานมาปรับใช้ โดยศึกษาศิลปวัฒนธรรมที่ทางชุมชนมีอยู่แล้ว นำมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก อินเทอร์เน็ต และอินสตาแกรม เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ
อย่างการจัดงานกฐินสามัคคี เราก็จะต่อด้วยวลีที่ว่าร่วมสำนึกรักษ์บ้านเกิด พร้อมทั้งจัดทำเสื้อโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกสีและแบบเพื่อปักโลโก้ แล้วจำหน่ายให้กับคนในชุมชนเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนใส่มาร่วมงานเพื่อแสดงออกถึงความรักความสามัคคีเป็นหมู่คณะ โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากคนในชุมชนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการทำธุรกิจ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะถวายวัดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆแล้วยังมีการมอบเสื้อสีส้มซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนที่เสียสละช่วยเหลือบ้านเกิดให้กับสมาชิกชมรมด้วย”
อรรถวัฒน์เสริมว่า ชมรมยังทำสปอตโฆษณาออกสื่อในชุมชนเพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วน พร้อมทั้งดึงเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งมาจากที่ต่างๆ โดยสอดแทรกวิธีการที่จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สำนึกรักษ์บ้านเกิดเมืองนอนและรำลึกถึงบรรพบุรุษที่เคยสร้างบ้านแปลงเมือง นั่นคือ เจ้าหลวงเวียงแก่นผู้ครองนครเวียงแก่นองค์สุดท้าย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ อ.เวียงแก่นในปัจจุบัน
“นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการทำผ้าทอในชุมชนเพื่อเป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้ที่ให้การสนับสนุน นับเป็นการส่งเสริมให้มีการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง เพราะสมาชิกในชมรมมีความเชื่อว่า ความศรัทธาก่อให้เกิดพลัง พลังก่อให้เกิดความสามัคคี และความสามัคคีก่อให้เกิดความสำเร็จนั่นเอง”
ผู้ที่สนใจโทรสอบถามได้ที่ 08-1634-5592 หรือดูข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก : ทีมงานชมรมร่วมสำนึกรักษ์บ้านเกิด