posttoday

คชสีห์กับราชสีห์

31 มกราคม 2559

เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ คชสีห์กับราชสีห์เป็นดั่งนั้นหรือไม่

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้

คชสีห์กับราชสีห์เป็นดั่งนั้นหรือไม่

ทั้งคชสีห์และราชสีห์นี้เป็นสัตว์ในตำนานอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาไกรลาส โดยคชสีห์เป็นลูกผสมระหว่าง “คช” คือ ช้าง กับ “ราชสีห์” คือ สิงโต โดยนัยนี้อาจจะมองไปได้ว่าคชสีห์นี้ใหญ่โตและมีอำนาจมากกว่าราชสีห์ ดั่งที่เอามาเป็นสัญลักษณ์ของทหาร ส่วนราชสีห์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายพลเรือนหรือมหาดไทย

ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการจัดแบ่งการปกครองราชอาณาจักรออกเป็น 2 ภูมิภาค ฝ่ายกลาโหมให้ดูแลหัวเมืองทางใต้ มีสมุหกลาโหมเป็นประธาน ฝ่ายมหาดไทยให้ดูแลหัวเมืองทางเหนือ ผู้เป็นประธานเรียกว่าสมุหนายก ทั้งสองท่านนี้มีอำนาจมาก โดยดูแลทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จึงเรียกตำแหน่งของทั้งสองท่านนี้ว่า “อัครมหาเสนาบดี” (ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปรียบว่าสมัยอยุธยานั้นประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 2 คน) จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้แยกให้กลาโหมดูแลเฉพาะทหาร และมหาดไทยก็ดูแลเฉพาะพลเรือน

ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นเองได้มีการชำระกฎหมายครั้งอยุธยาแล้วเอามาจัดเรียบเรียงใหม่ เสร็จแล้วได้มอบหมายให้ 3 กระทรวงหลัก คือ กลาโหม มหาดไทย และคลัง นำเอาไปใช้บังคับควบคุมแก่ราษฎรและการงานที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า “กฎหมายตราสามดวง” เพราะแต่ละเล่มประทับด้วยตราแผ่นดินสัญลักษณ์ของ 3 กระทรวงนั้น คือ คชสีห์ (กลาโหม) ราชสีห์ (มหาดไทย) และบัวแก้ว (คลัง) อนึ่งฝ่ายคลังนี้ก็มีอำนาจมากมาตั้งแต่ครั้งอยุธยานั่นแล้วเช่นกัน เพราะดูแลเงินทองทรัพย์สมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน ที่รวมถึงการจัดเก็บภาษีอากร การค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการคบค้าสมาคมและดำเนินการทางการทูตกับต่างชาติทั้งหลาย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจัดการการปกครองประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นทั้งในการดูแลราษฎรทั่วทุกภูมิภาค ให้เกิดความมั่นคงในพระราชอาณาจักรโดยรวมในรูปแบบ “เทศาภิบาล” ที่ทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและมีความสามารถออกไปเป็นผู้ปกครองต่างพระเนตรพระกรรฐ์ เหมือนกับว่าทรงแบ่งพระองค์ออกไปดูแลราษฎรจนถึงทุกในพื้นที่ และความเป็น “ทีมเวิร์ก” ในส่วนของข้าราชการทุกฝ่าย ด้วยการจัดกลุ่มเป็นกระทรวงทบวงกรมแบบฝรั่ง แล้วให้มีเสนาบดีผู้เป็นตัวแทนขององค์พระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าควบคุม ในครั้งแรกมี 6 กระทรวง 2 กระทรวงสำคัญในครั้งนั้นก็คือกลาโหมและมหาดไทย โดยแยกกันดูแลเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน ที่ดูเหมือนว่าโดยพระราโชบายทั้งสองส่วนนี้จะทำให้พลเรือนหรือมหาดไทยเป็นใหญ่ แต่ด้วยการที่ทหารเป็นผู้ถืออาวุธและมีกำลังที่ฝึกฝนเป็นอย่างดี ในสายตาคนทั่วไปกลาโหมจึงดู “ใหญ่กว่า” เพราะน่ากลัวกว่า

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีเรื่องว่าพระองค์มีความขัดแย้งกับทหารบางกลุ่ม รวมถึงการเกิดกบฏใน ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2455) ตั้งแต่ต้นรัชกาล ทำให้กลาโหมถูกลดบทบาทไปมาก แต่ในอีกส่วนหนึ่งทหารก็มีการรวมกลุ่มอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น ถึงขั้นที่คิดต่อต้านพระราชอำนาจอยู่เงียบๆ

แล้วรอคอยโอกาสมาจนถึงรัชกาลที่ 7 ที่ทหารได้สมคบกับพลเรือนกลุ่มหนึ่ง นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (อาจารย์ปรีดี พนมยงค์) ที่อยู่ในกระทรวงยุติธรรม มีการประชุมหารือกันในประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2469 แล้วทหารกลุ่มนั้นที่นำโดยหลวงพิบูลสงคราม (ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ต่อมา คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ก็มาเผยแพร่อุดมการณ์เข้าไปในหมู่นายทหารผู้ใหญ่ กระทั่งได้พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ยินยอมมาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร แล้วร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475

สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความนี้ก็คือ ทหารไม่มีวันที่จะลดบทบาทในการปกครองดูแลประเทศ สิ่งหนึ่งที่ทหารพยายามเรื่อยมาก็คือ การมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือน

ข้อสันนิษฐานข้างต้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังการทำรัฐประหารใน ปี 2490 ทหารก็เข้าคุมกระทรวงมหาดไทย โชคดีที่ในยุคนั้นธนาคารโลกได้มีนโยบายให้ประเทศที่ใช้เงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกต้องทำการปฏิรูปการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตั้งหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้นมาบริหารภารกิจในการพัฒนาประเทศที่มีเพิ่มขึ้น รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

รัฐบาลจอมพล ป. ก็ทำตามแบบขอไปที เช่น การตั้งกระทรวงพัฒนาการก็มีอายุที่สั้นมาก (บ้างว่าเป็นเพราะซ้ำซ้อนกับงานของกระทรวงมหาดไทย แต่บ้างก็ว่าทหารคุมกระทรวงนี้ไม่ได้จึงต้องยุบ) หรือการให้มีกฎหมายจัดตั้งสภาตำบลใน ปี 2499 แต่ก็ไม่มีอะไรให้ทำ จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์และสมัยจอมพลถนอมงานกระจายอำนาจก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ยิ่งไปกว่านั้นในรัฐธรรมนูญ 2511 ที่ทหารกำกับการเขียนมาแต่ต้น ก็รวบอำนาจในการดูแลท้องถิ่นให้อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทหาร

ครั้งที่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะทำนโยบายเงินผัน ก็มีการค้นพบว่าสภาตำบลที่ตั้งมาตั้งแต่ยุคจอมพล ป.นั้นยังไม่ถูกยกเลิก จึงมอบให้สภาตำบลนั้นบริหารดูแลเงินผัน ซึ่งก็ทำงานได้ดีพอควร แม้จะมีการทำทุจริตก็เพียงส่วนเล็กน้อย ที่นายกฯคึกฤทธิ์บอกว่านั่นคือประวัติศาสตร์ “ครั้งแรกที่ราษฎรไทยได้คอร์รัปชั่นเงินของตัวเอง” แต่ด้วยนโยบายเงินผันในครั้งนั้นก็ได้ส่งอานิสงส์แก่สังคมไทยมากมาย ทั้งการลดผู้คนจากชนบทไม่ให้เข้ามาทำงานในเมือง (ซึ่งในยุคก่อนหน้านั้นเป็นปัญหาใหญ่โตมาก) การสร้างงานในชนบท การเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน การสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีในชุมชน การลดปัญหาคอมมิวนิสต์ ฯลฯ แต่ที่น่าจะเป็นทางด้านจิตวิทยามวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า “รัฐบาลเห็นหัวประชาชน”

เหตุที่คำว่า “รัฐบาลเห็นหัวประชาชน” นี้มีความสำคัญยิ่งนัก ก็เพราะว่าด้วยนโยบายเงินผันนี้ ประชาชนได้เพิ่มความสำคัญขึ้นมาอย่างสังเกตได้ เพราะพวกเขาที่เคยถูกข้าราชการกดขี่เอาเปรียบนั้นเป็นฝ่ายที่ข้าราชการต้องมาเอาอกเอาใจและยกย่องเชิดชู เพื่อให้ประชาชนเป็นแกนนำในการพัฒนา และต่อมาได้กลายเป็นฐานเสียงที่สำคัญทางการเมือง ดังที่เกิดขึ้นในยุค “ทักษิณครองเมือง” แล้วนักการเมืองในยุคนี้ก็ใช้นโยบาย “ประชานิยม” ขับเคลื่อนมวลชน

ตั้งใจว่าจะเขียนให้ถึงยุค คสช. แต่พื้นที่หมดเสียก่อน โปรดติดตามในสัปดาห์หน้า

ดูว่า “คชสีห์ คสช.” กำลังทำอะไรกับประเทศไทย