เทคโนเวิลด์
นิตยสารข่าววิทยาศาสตร์ของบีบีซี เปิดเผยว่า ในบรรดายุงราว 3,500 สายพันธ์ุ ยุงเพศเมียเพียง 6% เท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์แต่งพันธุกรรมทำลายยุง
นิตยสารข่าววิทยาศาสตร์ของบีบีซี เปิดเผยว่า ในบรรดายุงราว 3,500 สายพันธ์ุ ยุงเพศเมียเพียง 6% เท่านั้น ที่ดูดเลือดจากมนุษย์เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงไข่อ่อน ซึ่งยุงจำนวนร้อยกว่าสายพันธุ์นี้เป็นพาหนะแพร่เชื้อของโรคต่างๆ รวมทั้งไวรัสซิกาที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ โดยการฆ่าล้างสายพันธุ์ยุงกว่า 30 ชนิด ซึ่งจะสามารถลดความแพร่หลายทางพันธุกรรมในสายพันธุ์ยุงลงไปได้ 1% แต่สามารถรักษาชีวิตได้อีกหลายล้านคน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในอังกฤษได้ตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็ม) ของยุงลายเพศผู้สายพันธุ์เอเดส แอจิปที ซึ่งเป็นยุงสายพันธุ์ที่เป็นพาหนะนำเชื้อไวรัสซิกาและไข้เลือดออก โดยภายหลังการตัดแต่งพันธุกรรมยุงชนิดนี้จะถ่ายทอดยีนที่ยับยั้งพัฒนาการในทายาทออกไป
สัตวแพทย์สุดเจ๋งประดิษฐ์ขาเทียมสุนัข
ซานติเอโก การ์เซีย ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลสัตว์ของมหาวิทยาลัย เดล วาเล เดอ เม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก ประสบความสำเร็จในการสร้างขาเทียมที่เชื่อมข้อต่อขาสำหรับสุนัขได้เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้สุนัขตัวเล็กสามารถขยับขาเทียมได้เหมือนขาจริง โดยสร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยีการออกแบบและพิมพ์รูป 3 มิติ ในคอมพิวเตอร์แล้วนำมาปรับเข้ากับขนาดจริง และได้ปรับใช้กับสุนัขอายุ 6 ปี ที่เสียขาไปในอุบัติเหตุจากเครื่องตัดหญ้า นอกจากนี้ ทางทีมงานยังคาดว่าจะพัฒนาแขนขาเทียมสำหรับสัตว์ประเภทอื่นๆ อีกต่อไปในอนาคต
แอปเปิ้ลจ่อออกที่ชาร์จไอโฟนไร้สายปี 2017
แหล่งข่าวใกล้ชิด ระบุว่า แอปเปิ้ล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือให้พลังงานไร้สาย หรือชาร์จเจอร์สำหรับโทรศัพท์มือถือ โดยจะเร่งพัฒนาเร็วที่สุดในปี 2017 ซึ่งจะทำให้สามารถชาร์จทั้งไอโฟนและไอแพดได้ในระยะไกล ทั้งนี้ ผู้ผลิตไอโฟนพยายามหาทางแก้ปัญหาทางเทคนิคต่างๆ เช่น การสูญเสียแบตเตอรี่จากการชาร์จระยะไกลระหว่างตัวรับพลังงานและตัวแปรพลังงาน นอกจากนี้ยังคาดว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้า ท่ามกลางภาวะสินค้าเทคโนโลยีราคาแพงที่อยู่ในช่วงซบเซา ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญอย่างซัมซุงและกูเกิล ได้ออกผลิตภัณท์ที่ชาร์จโทรศัพท์แบบไม่มีสาย แต่ยังมีฐานรองเป็นตัวชาร์จอยู่มาแล้ว
ยุโรปเผชิญ 30 ปี แห่งความร้อนรอบ
ผลการวิจัยพบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคยุโรปเผชิญกับภาวะอากาศร้อนที่สุดในรอบกว่า 2,000 ปี โดยศึกษาจากการบันทึกวงปีในต้นไม้และข้อมูลบันทึกทางประวัติศาสตร์และประกอบเป็นอุณหภูมิแต่ละปีในช่วง 2,100 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปรูปแบบการศึกษาสภาวะอากาศมักจะถูกประเมินความถี่และความรุนแรงของผลกระทบจากอุณหภูมิจะส่งผลกระทบในอนาคต แต่ในรายงานนี้พบว่า ในช่วงปี 1986-2015 อุณหภูมิในช่วงหน้าร้อนในยุโรปเพิ่มขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังพบว่าคลื่นความร้อนรุนแรงเพิ่มขึ้นมากในช่วงปี 2003, 2010 และปี 2015 ซึ่งในปี 2003 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตหลายพันรายจากภาวะช็อกจากความร้อน (ฮีตสโตรก) ภาวะขาดน้ำ และมลภาวะทางอากาศ